×

ครม. อนุมัติพิจารณาบำเหน็จความชอบพิเศษให้ จนท.ด้านยาเสพติด ไม่เกิน 12,309 อัตรา คาดมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 80 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
06.09.2022
  • LOADING...
ไตรศุลี ไตรสรณกุล

วันนี้ (6 กันยายน) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ 2565 ในอัตราไม่เกิน 12,309 อัตรา ซึ่งจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนเงินเดือนปกติในแต่ละครึ่งปี อัตราร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณ แต่เมื่อรวมกับการเลื่อนเงินเดือนปกติจะต้องเกินร้อยละ 6 ของฐานการคำนวณ โดยแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด 

 

โดยให้พิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ 2565 ระดับดีเด่น แบ่งเป็น ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง 343,968 อัตรา ปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 2.5 หรือจะมีจำนวนผู้ที่ได้รับบำเหน็จความชอบไม่เกิน 8,599 อัตรา และผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีจำนวน 247,327 อัตรา ปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1.5 หรือไม่เกิน 3,710 อัตรา   

 

สำหรับงบประมาณที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายครั้งนี้ ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต้นสังกัดเป็นลำดับแรกก่อน หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการเป็นลำดับต่อไป โดยได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดสรรบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษดังกล่าว ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 80.87 ล้านบาท หรือประมาณรายละ 6,570 บาทต่อปี

 

ไตรศุลีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหายาเสพติดในสังคม เช่น มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับประเทศสมาชิกภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ โดยสามารถจับกุมคดียาเสพติดได้ทั้งสิ้น 957 คดี จำนวนผู้ต้องหา 1,617 คน, มาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย โดยปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติด เพื่อไม่ให้ลักลอบนำเข้าสู่ตอนในของไทย หรือใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม ซึ่งสามารถสกัดกั้นยาบ้าได้ทั้งสิ้น 43.85 ล้านเม็ด และไอซ์ 2,013.69 กิโลกรัม รวมทั้งดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินคดียาเสพติดได้ทั้งสิ้น 9,215 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X