วันนี้ (2 กันยายน) กลุ่มคอมโควิด Com-Covid ออกแถลงกรณีการร้องเรียนกล่าวหา นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ของ ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย
โดยระบุว่า กรณีที่ ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรค ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ดำเนินการร้องเรียนต่อประธานกรรมาธิการสาธารณสุข โดยกล่าวหาว่า นพ.สุภัทร ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท และดูแลเพจแพทย์ชนบท ได้เผยแพร่เนื้อหากรณีมีการแทรกแซงการโยกย้ายตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุข และมีการกักตัวผู้ป่วย (Home Isolation) ในช่วงที่มีการตรวจเชิงรุกใน กทม.
ช่วงวิกฤตโควิดระบาดทั่วกรุงเทพฯ ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไปรับบริการจนเกิดปัญหาคนล้นโรงพยาบาล และไม่มีช่องทางการตรวจคัดกรอง วิกฤตเตียงเต็ม และมีผู้เสียชีวิตในบ้านพัก มีคนถูกไล่ออกจากบ้าน จากชุมชน เพียงเพราะติดเชื้อโควิด เกิดความรังเกียจไปทั่ว กทม. สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกและสับสน จนนำมาสู่ความพยายามรวมตัวกันเองของภาคประชาสังคม ที่ต้องการเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาวะวิกฤต
จนนำมาสู่การร่วมมือระหว่างกลุ่มคอมโควิดและชมรมแพทย์ชนบทที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ เพื่อมาตรวจคัดกรองและจ่ายยารักษาโควิด (ฟาวิพิราเวียร์) ให้แก่ประชาชน โดยมีการหารือร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาโดยตลอด เพื่อหาทางลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้วยการออกแบบระบบ Home Isolation ที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพ ให้เป็นบริการที่บ้านโดยหน่วยบริการสามารถเบิกจ่ายได้
การกล่าวหาว่ามีการกักตัวผู้ป่วยในช่วงดำเนินการตรวจเชิงรุก และกล่าวหาว่าการจัดบริการ Home Isolation เป็นการกักตัวผู้ป่วยตามที่ ศุภชัย ใจสมุทร กล่าวหานั้น เป็นการบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดต่อระบบ Home Isolation และเป็นการกล่าวเกินจริง เพราะในช่วงการตรวจเชิงรุกนั้น ทั้งกลุ่มคอมโควิดและกลุ่มแพทย์ชนบทที่มาให้บริการประชาชน ไม่ได้มีการกักตัวผู้ป่วย ระบบการตรวจเชิงรุกทำเพียงการเปิดบริการตรวจ ATK และตรวจยืนยันผล RT-PCR ตามเวลาที่กำหนด และเมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด ได้ให้บริการปรึกษาด้านการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับอาการของโรค และมีการจ่ายยารักษาตามเกณฑ์ทางการแพทย์อย่างมืออาชีพ และได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนที่มาขอรับบริการจำนวนมาก
กลุ่มคอมโควิดขอเรียกร้องให้รองนายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการ สปสช. ผู้ซึ่งรับรู้กระบวนการในช่วงตรวจเชิงรุกมาตลอด รวมทั้งเรียกร้องให้ ศุภชัย ใจสมุทร ได้ออกมาชี้แจง และขอโทษต่อการกล่าวหา บิดเบือน และสร้างความเข้าใจผิด ทำให้สังคมสับสน และทำให้การดำเนินงานตรวจเชิงรุกถูกทำให้เสียหาย ผิดจากเจตนาในการระดมกำลังเพื่อช่วยลดปัญหาวิกฤตโควิดในช่วงนั้น และขอเรียกร้องให้ประชาชนใน กทม. ที่ผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ออกมาร่วมกันส่งเสียงต่อพรรคภูมิใจไทยให้มีการชี้แจงและแก้ไขข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วย