หลังจากที่มีการฟ้องร้องข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ BTSC ฟ้องกรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม (KT) ที่ศาลปกครอง ในกรณีที่ BTSC เรียกร้องให้ กทม. จ่ายเงินที่ค้างชำระค่าเดินรถและค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เป็นเงิน 11,755 ล้านบาท ซึ่งค้างมาตั้งแต่ผู้บริหาร กทม. ชุดที่แล้ว
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ตนและทีมงานพรรคก้าวไกลได้เข้าไปสังเกตการณ์ในกรณีนี้ด้วย ซึ่งวิโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ 8 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
- ผู้บริหาร กทม.ชุดก่อน ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. เคยร้องขอต่อสภา กทม. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คสช. ให้มีการอนุมัติเงินสะสมของ กทม. มาจ่ายหนี้ค่ารถไฟฟ้า แต่สภา กทม. ในขณะนั้นกลับไม่อนุมัติให้นำเอาเงินสะสมมาจ่ายหนี้ให้แก่ BTSC ทำให้หนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงสะสมทบต้นทบดอกจนเป็นภาระหนี้สินที่หนักมากขึ้น ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสัยมาก เพราะ กทม. มีเงินสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการใช้หนี้ ไม่จำเป็นต้องเบี้ยวหนี้จนดอกเบี้ยทบต้นทบดอก
- มีสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคมกับ BTSC อยู่ 2 ฉบับ ที่เป็นสาระสำคัญที่ กทม. ควรพิจารณาเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้แก่ สัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ที่ กทส.006/55 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 และสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ กทส.024/59 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ซึ่งตัวเลขหนี้สินต่างๆ ที่ กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างจ่ายให้กับ BTSC ล้วนคำนวณมาจากสัญญา 2 ฉบับนี้
- สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นหลักที่มีอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดลง ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2572 แต่สัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงทั้งสองฉบับข้างต้นยังคงผูกพัน กทม. และกรุงเทพธนาคม ไปจนถึงปี 2585 นั่นหมายความว่าสัญญาทั้งสองฉบับนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อการเปิดประมูลสัมปทานใหม่ ดังนั้นการอ่านสัญญาทั้งสองฉบับนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
- หนี้ที่ กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างจ่าย BTSC มีอยู่ทั้งสิ้น 11,755.08 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348.66 ล้านบาท (เงินต้น 2,199.1 ล้านบาท และดอกเบี้ย 149.56 ล้านบาท), ค่าเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406.42 ล้านบาท (เงินต้น 8,786.77 ล้านบาท และดอกเบี้ย 619.65 ล้านบาท)
- หลังจากที่ทราบว่าหนี้ที่ทาง กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างจ่ายให้กับ BTSC นั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 11,755.08 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นหนี้ระดับหมื่นล้าน แต่ก็ไม่ได้เป็นภาระที่น่าหนักใจอะไร เพราะ กทม. มีเงินสะสมอยู่มากถึง 69,757 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. สามารถขออนุมัติจากสภา กทม. ให้นำมาจ่ายหนี้ให้แก่ BTSC ได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้หนี้ทบต้นทบดอกจนกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว
- ผู้บริหารชุดใหม่ของกรุงเทพธนาคมมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า หากมีการคำนวณใหม่ ให้ตัวเลขต่างๆ มีความถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและหลักการทางการเงิน มูลหนี้ทั้งหมดน่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม. และกรุงเทพธนาคม สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้หากพบว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น
- มูลหนี้เพียงแค่ 11,755.08 ล้านบาท ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ กทม. จำเป็นต้องต่ออายุสัมปทาน เมื่อทราบว่ามูลหนี้ที่ถูกฟ้องอยู่ในระดับที่ กทม. จ่ายไหว ยิ่งทำให้มั่นใจว่าทางออกของรถไฟฟ้าสายสีเขียวคือ การเปิดประมูลใหม่เมื่ออายุสัมปทานหมดลงในปี 2572 โดยในมาตราที่ 49 ของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในปีนี้ หรืออย่างช้าในปี 2567 กทม. สามารถจัดทำแผนในการเปิดประมูลใหม่ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลได้แล้ว
- ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาในวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ซึ่งในวันดังกล่าวประชาชนจะได้รับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ถึงกรณีพิพาทนี้อย่างชัดเจนขึ้น