หากไม่นับแถบขั้วโลกแล้ว ปากีสถานถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีธารน้ำแข็งมากที่สุดในโลก แต่ขณะนี้วิกฤตโลกรวนซึ่งทำอุณหภูมิโลกสูงขึ้นส่งผลให้ธารน้ำแข็งเหล่านั้นละลายตัวรวดเร็วมาก เป็นเหตุให้ปากีสถานเผชิญกับกระแสน้ำท่วมฉับพลันที่ไหลทะลักมาจากทะเลสาบธารน้ำแข็งถี่ขึ้นอย่างมากในปีนี้
นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า เฉพาะในปี 2022 เพียงปีเดียว ปากีสถานก็เจอกับเหตุน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็งมากกว่าปกติถึง 3 เท่า ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศเลวร้ายลงไปอีก ยกตัวอย่างเช่นในภูมิภาคกิลกิต บัลติสถาน (Gilgit-Baltistan) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ที่เจอกับเหตุน้ำท่วมจากทะเลสาบธารน้ำแข็งไปถึง 16 ครั้งแล้วในช่วง 9 เดือนของปีนี้ เทียบกับทั้งปี 2021 ที่เกิดขึ้นเพียง 5-6 ครั้ง
แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่ส่งผลให้พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของปากีสถานจมบาดาลอยู่ขณะนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากธารน้ำแข็งที่ละลายหรือไม่ แต่หากทุกประเทศไม่ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัญหาธารน้ำแข็งละลายตัวอย่างรวดเร็วก็จะสร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนชาวปากีสถานต่อไป และอาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
หากมาดูตัวเลขกันจริงๆ แล้ว ปากีสถานเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดการปล่อยก๊าซดังกล่าวทั้งหมดทั่วโลก แต่กลับรั้งอันดับ 8 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความเสี่ยงด้านภาวะโลกรวน โดยภูมิภาคเอเชียใต้ถือเป็นจุดเสี่ยงสูงสุด ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีสิทธิ์ตายเพราะผลกระทบจากโลกรวนสูงกว่าคนในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกถึง 15 เท่า
เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากปัญหาภาวะโลกรวน ทั้งคลื่นความร้อน เหตุน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง และล่าสุดคือมรสุมที่รุนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษ จนหลายพื้นที่ของปากีสถานในตอนนี้มีสภาพเหมือนกับเป็นทะเล ซึ่งคาดว่าต้องใช้เม็ดเงินอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น
แฟ้มภาพ: AFP
อ้างอิง: