วานนี้ (1 กันยายน) ที่ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยานในการจัดทำบันทึกความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น กองทุนสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เพื่อร่วมมือกันลดมลพิษในชุมชน พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกล่าวถึงการใช้จักรยานในกรุงเทพมหานครว่า แม้ว่าการใช้จักรยานอาจไม่ใช่ทางเลือกของการเดินทางหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่เป็นทางเลือกสำคัญที่ทำให้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้
ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า หรือรถเมล์ที่กำลังจะปรับเปลี่ยน ซึ่งสิ่งที่ กทม. ทำ คือการทำทางจักรยานที่เป็นแกน Corridor เหนือ-ใต้ และมีจุดพักเชื่อมต่อ โดยเชื่อว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่จักรยานสามารถเชื่อมต่อถึงทุกการเดินทางได้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ การใช้จักรยานไปได้ไม่ไกล คนส่วนใหญ่เดินทางเข้ากลางเมืองในช่วงเช้าและเดินทางออกจากเมืองในช่วงเย็น โจทย์คือทำอย่างไรให้กระจายเมืองเป็นเมืองกระชับ เป็น Compact City ที่แต่ละคนเดินทางอยู่ในพื้นที่ตัวเองแล้วใช้จักรยานได้ ซึ่ง กทม. มีนโยบายที่จะสร้าง Satellite City
ศานนท์กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันในการส่งเสริมการใช้จักรยาน คือภาครัฐต้องทำโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งสาธารณะที่ดี เช่น รถไฟ รถเมล์ ที่รองรับให้จักรยานเข้าไปได้ด้วย รวมถึงมีจุดจอดจักรยาน หรือว่าเส้นทางจักรยานจากบ้านมาสู่การเดินทางหลักที่ดี มีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนรักจักรยาน เพราะคนรักจักรยานจะช่วยกระตุ้นและหล่อหลอมให้คนใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้น
“จักรยานเป็นพาหนะที่เร็วกว่าเดิน ซึ่งเร็วพอที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายได้ แต่มันก็ช้าพอที่ทำให้เข้าใจธรรมชาติ และเป็นเครื่องมือที่เอาไว้เข้าใจปัญหา เข้าใจคนได้ดี เห็นชุมชนแออัด เห็นคนที่เราไม่เคยเจอ อีกทั้งบ่งบอกถึงเรื่องความเท่าเทียม ทำให้คนอยู่ในระนาบเดียวกันไม่ว่ารวยหรือจน ถึงแม้ราคาจักรยานอาจแตกต่างกันแต่ทุกคนต้องออกแรงปั่นเหมือนกัน” ศานนท์กล่าว