วันนี้ (1 กันยายน) มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการเข้าชี้แจงของ 2 ฝ่าย คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ประเด็นที่ ส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เข้ารับราชการปี 2560
มงคลกิตติ์กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ส.ต.ท. หญิงมีชื่อได้ไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ แต่ปัจจุบันออกจากราชการเป็นการชั่วคราว ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เรียกคืนเงินพร้อมสิทธิประโยชน์ในส่วนของเบี้ยเสี่ยงภัยและเงินที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 110,000 บาท ในส่วนที่สงสัยว่า ส.ต.ท.หญิง เข้าทำงานจริงหรือไม่นั้น ทาง กอ.รมน. ระบุว่าสมัครไปตามเงื่อนไข แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขจึงต้องเรียกคืน
ส่วนกรณีของ ส.ท. ปัทมา ศิริรัตน์ ทหารหญิงรับใช้ รับราชการครั้งแรกที่โรงเรียนช่างฝีมือ เป็นพนักงานธุรการ จากนั้นกรรมาธิการวุฒิสภาทำหนังสือเรียกตัวช่วยราชการในปี 2562 และ 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ซึ่งทาง กมธ.ทหารฯ ได้ขอดูหนังสือเรียกตัวช่วยราชการว่าลักษณะเป็นแบบใด
พร้อมขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกองบัญชาการกองทัพไทยในการสอบสัมภาษณ์ว่ามีผู้สมัครกี่คน สอบกี่คน และด้วยเงื่อนไขใด มีข้อมูลว่า ส.ท.หญิง ยื่นหนังสือลาออกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่มีการอนุมัติในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่ง กมธ.ทหารฯ ได้ขอหลักฐานเพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีการทำเอกสารย้อนหลัง
ทั้งนี้ กมธ.ทหารฯ ได้เสนอแนะไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย ในการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการที่จบปริญญาตรี หากเป็นไปได้ขอให้ยกเลิกการสอบสัมภาษณ์และขอให้เป็นการสอบข้อเขียน คล้ายการสอบเข้าโรงเรียน เพื่อปิดช่องโหว่การฝากคนเข้าทำงาน
มงคลกิตติ์กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบวันนี้เป็นเชิงเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ส่วนมีการทุจริตหรือไม่ต้องสอบเพิ่มเติม คือการสอบบรรจุแต่งตั้งในส่วน ส.ต.ท.หญิง กับ ส.ท.หญิง ต้องไปตรวจสอบในคณะกรรมการ ว่ามีการฝากกันหรือไม่ หรือเข้าโดยระเบียบปกติ ส่วนการเชิญสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ถูกพาดพิงเข้าชี้แจงกับ กมธ. ประเด็นนี้ทาง กมธ. ยังไม่ได้พูดถึง
มงคลกิตติ์กล่าวต่อด้วยว่า กรณีนี้บางส่วนอยู่ในอำนาจ กมธ.ทหารฯ บางส่วนอยู่ในอำนาจคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ทั้งนี้จะมีการประสานงานเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกัน และพิจารณาเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น