เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนกำลังเผชิญหน้าและหาทางฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นไตรมาสที่เติบโตได้ย่ำแย่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในขณะนี้ กำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด หรือ Zero-COVID ของรัฐบาลประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี บริษัทอีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba ประกาศการเติบโตของรายรับรายไตรมาสที่ทรงตัวครั้งแรกเมื่อเทียบเป็นรายปี และบริษัทโซเชียลมีเดียและเกม Tencent รายงานว่ายอดขายลดลงครั้งแรกเป็นประวัติการณ์
ส่วน JD.com ซึ่งเป็นผู้เล่นอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อันดับสองของจีน ประกาศการเติบโตของรายได้ที่ช้าที่สุดในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า XPeng ขาดทุนเกินคาด พร้อมแนวโน้มคาดการณ์การเติบโตที่ค่อนข้างอ่อนแอ
สาเหตุหลักเป็นเพราะนโยบาย Zero-COVID ของรัฐบาล ทำให้หลายโรงงานในจีนต้องล็อกดาวน์เป็นการชั่วคราว กระทบต่อกำลังการผลิตและกระเทือนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาด
ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปีนี้คงไม่ใช่ปีที่ดีของบริษัทเทคโนโลยีของจีน หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้ง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องแบกรับผลกระทบจากการล็อกดาวน์อีกระลอก
วันเดียวกัน มีรายงานว่าการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินหยวนของจีนปรับตัวอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 2 ปี
เมื่อวานนี้ (29 สิงหาคม) ค่าเงินหยวนปรับตัวลดลง 0.5% ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนนอกประเทศจีนกับดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดอยู่ที่ 6.9277 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020
ความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนักวิเคราะห์ของ Citi มองว่า ตราบใดที่ Fed ยังคงมุ่งมั่นต่อการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อฉุดเงินเฟ้อ บรรดาสกุลเงินต่างๆ ทั่วเอเชียย่อมไม่อาจเลี่ยงแรงกดดันที่นักลงทุนแห่ไปถือครองดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินหลายประเทศในเอเชียอ่อนค่าลงด้วย
กระนั้นในกรณีของจีน ค่าเงินหยวนยังมีปัจจัยลบอย่างข้อมูลเศรษฐกิจที่แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ และการดำเนินนโยบายตัดลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนหันไปถือครองดอลลาร์ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
อ้างอิง: