×

สถิติชี้ชัด ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดือน ก.ย. มักทำผลงานแย่สุดในรอบปี จับตาปีนี้ยังมี 2 ปัจจัยฉุดรั้ง

29.08.2022
  • LOADING...
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

สำหรับผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมาอย่างยาวนาน และค่อนข้างเชื่อมั่นในตัวเลขสถิติ จะตระหนักดีว่าเดือนกันยายนของทุกปี โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีให้หลังที่ผ่านมา เป็นช่วงเดือนที่ต้องลุ้นจนตัวโก่งอย่างแท้จริง

 

เหตุผลก็เพราะเป็นเดือนที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดของปี โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones และดัชนี S&P 500 ร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนกันยายนปี 2020 และปี 2021 แม้ว่าภาพรวมของตลาดจะสามารถขยับขึ้นอยู่ในแดนบวกก็ตาม

 

แม้นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งจะออกโรงแย้งว่า ผลงานในอดีตไม่สามารถตัดสินอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเสมอไป และถ้าจะยึดตามหลักสถิติจริงๆ ก็มีอีกบางปีในอดีตที่ตลาดหุ้นขยับขึ้นในเดือนกันยายนเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม เดือนกันยายนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ก็มีปัจจัยฉุดตลาดหุ้นให้ต้องกังวลเช่นกัน

 

ปัจจัยประการแรกก็คือการเลือกตั้ง Pre-Midterm ในช่วงเดือนกันยายน ที่ตามสถิติของ The Stock Trader’s Almanac พบว่า ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วง Pre-Midterm 11 ครั้ง จากทั้งหมด 18 ครั้ง เป็นการขยับลง

 

ปัจจัยที่ต้องจับตาดูต่อมาก็คือ การประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 21 กันยายนนี้ ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน โดยก่อนที่จะถึงวันประชุม Fed ก็มีตัวเลขที่ต้องรอดู ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งของตลาดงาน และสถานการณ์ความร้อนแรงของภาวะเงินเฟ้อ

 

Josh Emanuel หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนแห่ง Wilshire กล่าวเสริมอีกว่า ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์และข้อมูลทางเศรษฐกิจจำนวนหนึ่งอาจนำไปสู่ภาวะผันผวนในตลาดได้ ดังนั้น นักลงทุนควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้นี้ พร้อมแนะให้บรรดานักเทรดทั้งหลายจับตาทิศทางเศรษฐกิจและท่าทีของ Fed อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

กระนั้น Emanuel ก็เห็นว่า ตลาดในเดือนกันยายนน่าจะมีผลลัพธ์ในทางบวก เนื่องจากมีสัญญาณข่าวดีอย่างตลาดงานที่ยังคงมีสุขภาพที่ดีอยู่ และตัวเลขเงินเฟ้อที่เริ่มลดความร้อนแรงลงแล้ว

 

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ของตลาดยังเป็นไปในทิศทางข้างต้น คือตลาดงานโตได้ต่อเนื่อง และตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว เป้าหมาย Soft Landing ของ Fed ก็ย่อมต้องเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งหมายความว่า Fed ประสบความสำเร็จในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเกิดภาวะถดถอย

 

ด้าน Alex Chaloff หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนที่ Bernstein Private Wealth Management แสดงความมั่นใจว่า สถิติเลวร้ายของแต่ละปีในเดือนกันยายนเป็นเรื่องที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอนสำหรับเดือนกันยายนของปีนี้ เพราะมีสัญญาณเร่งหลายอย่างที่ดันให้ตลาดหุ้นขยับปรับตัวขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึง

 

Chaloff กล่าวว่า หากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไป “ตลาดจะมีแรงหนุนอย่างมาก” และ Fed อาจมีแนวโน้มที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าเพียง 0.5% แทนที่จะเป็น 0.75% ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวของ Fed จะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างโมเมนตัมให้ตลาดหุ้นขยับขึ้นในแดนบวก

 

ในความเห็นของ Chaloff ภาวะ Soft Landing เป็นเรื่องที่เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้นสำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดหากจะต้องเกิดภาวะถดถอย สถานการณ์ดังกล่าวก็ย่อมเป็นไปอย่างนุ่มนวลในแบบที่เรียกว่า Mild Recession มากกว่า

 

บรรดานักลงทุนทั้งหลายไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลว่าเศรษฐกิจจะพลิกกลับร่วงหนักแต่อย่างใด เพราะความแข็งแกร่งของการใช้จ่ายของผู้บริโภคและองค์กรมีมากเกินพอ และตราบใดที่เศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่ความกลัวเรื่องเงินเฟ้อจะค่อยๆ บรรเทาลง ตลาดเดือนกันยายนและช่วงที่เหลือของปีก็น่าจะสามารถหลีกเลี่ยงมรสุมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นได้

 

แน่นอนว่าตัวเลขที่ยังคงต้องจับตามองคือรายงานการจ้างงานในเดือนสิงหาคม ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ที่ 2 กันยายนนี้

 

นักเศรษฐศาสตร์จากผลสำรวจของสำนักข่าว Reuters คาดการณ์ว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 285,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม และอัตราการว่างงานจะยังคงทรงตัวที่ 3.5% ซึ่งหากเป็นไปตามประมาณการดังกล่าว Fed และตลาดย่อมจะมีความสุขแน่นอน

 

Jake Remley ผู้จัดการพอร์ตอาวุโสของ Income Research + Management กล่าวว่า “รายงานการจ้างงานในเดือนกรกฎาคมมีความแข็งแกร่งมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่า Fed จะกังวลเกี่ยวกับตัวเลขเดือนสิงหาคม”

 

ขณะเดียวกันบรรดานักลงทุนจะจับตาดูตัวเลขการเติบโตของค่าจ้างอย่างใกล้ชิด ซึ่งในรายงานการจ้างงาน นักลงทุนจะรอลุ้นสัญญาณใดๆ ก็ตามของการชะลอตัวของการปรับขึ้นค่าแรงได้ เนื่องจากเป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อกำลังเย็นลง

 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอัตราค่าจ้างน่าจะขยับขึ้นเล็กน้อยในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม โดยคาดว่าค่าจ้างน่าจะขยับปรับขึ้น 5.3% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากอัตราการเติบโตในเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ที่ 5.2%

 

การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเล็กน้อยอาจไม่ทำให้เกิดสัญญาณเตือนภัย แต่ทั้ง Fed และนักลงทุนต่างก็ไม่ต้องการเห็นค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้น นั่นอาจเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคในระยะสั้น แต่คงไม่เป็นที่ต้อนรับในระยะยาว

 

ตามที่ Jerome Powell ประธาน Fed ได้กล่าวสุนทรพจน์บนเวที Jackson Hole เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า “ความล้มเหลวในการฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคาจะหมายถึงความเจ็บปวดที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก” สำหรับเศรษฐกิจ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising