×

ประชุมนิวเคลียร์ที่ UN ล่ม หลังรัสเซียขวางข้อตกลง ปมโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียของยูเครน

โดย THE STANDARD TEAM
27.08.2022
  • LOADING...
UN

การประชุมทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty) ครั้งล่าสุด ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ สิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 สิงหาคม) หลังจากที่รัสเซียคัดค้านข้อตกลงร่างสุดท้าย ระบุมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียของยูเครน ซึ่งขณะนี้ถูกกองทัพรัสเซียยึดครอง

 

หลังจากเกือบหนึ่งเดือนของการถกเถียงและเจรจาระหว่าง 151 ประเทศ ที่องค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก การประชุมกลับต้องปิดฉากลงโดยไม่มีการลงมติรับข้อตกลงร่างสุดท้าย ซึ่งถือเป็นการดับความหวังของนานาชาติในการควบคุมอาวุธและการแข่งขันด้านอาวุธที่ปะทุขึ้นมาใหม่

 

อิกอร์ วิชเนเวตสกี รองผู้อำนวยการกรมควบคุมและไม่แพร่ขยายอาวุธของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ยืนยันว่าหลายประเทศไม่ใช่แค่รัสเซีย ไม่เห็นด้วยกับข้อความทั้งหมดในเอกสารข้อตกลง ทั้งนี้ ร่างข้อตกลงดังกล่าวมีข้อความที่กล่าวถึงปัญหาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย แม้ข้อความไม่ได้ระบุชื่อรัสเซียก็ตาม

 

การประชุมแบบปิดถูกเลื่อนออกไปนานกว่าสี่ชั่วโมง เนื่องจากรัสเซียปฏิเสธไม่ยอมรับแถลงการณ์สนับสนุนข้อตกลง NPT ซึ่งมีข้อความที่อ้างอิงถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และขณะนี้ถูกกองกำลังรัสเซียยึดครองใกล้กับแนวหน้าในภาคใต้-ตะวันออกของยูเครน

 

รายงานข่าวระบุว่า ผู้แทนเจรจาของรัสเซียเป็นคนเดียวที่คัดค้านร่างข้อตกลง แต่โทษว่าการประชุมล้มเหลวเพราะยูเครนและ ‘เหล่าผู้พิทักษ์ยูเครน’ พร้อมกับเรียกการประชุมนี้ว่าเป็น ‘การเล่นเกมฝ่ายเดียว’ ซึ่งหลังจากกล่าวถ้อยแถลงของตนเองแล้ว ผู้แทนรัสเซียก็เดินออกจากห้องประชุมสหประชาชาติ

 

NPT เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นในปี 1968 โดยชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ให้คำมั่นที่จะปลดอาวุธ ในขณะที่ชาติที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์สัญญาว่าจะไม่รับอาวุธมาไว้ในครอบครอง ในเวลานั้นมีมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่เป็นที่รับรู้กันอยู่ 5 ราย และมี 9 ชาติ ที่มีหัวรบนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ก่อนที่ NPT จะมีผลบังคับใช้ มีการคาดการณ์ว่าอาจมีหลายสิบประเทศที่มีคลังอาวุธเป็นของตัวเอง สนธิสัญญา NPT ได้รับการต่ออายุแบบถาวร โดยจะมีการประชุมทบทวนสนธิสัญญาทุก 5 ปี ซึ่งการประชุมทบทวนสนธิสัญญาครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X