กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF ) ได้ออกมาระบุว่า การแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์กำลังสร้างความยากลำบากในการชำระหนี้ให้กับกลุ่มประเทศยากจนหลายประเทศ พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มประเทศร่ำรวยเร่งออกมาตรการช่วยเหลือที่กว้างขว้างและเร็วขึ้น
กีตา โกปินาท รองผู้จัดการ IMF เปิดเผยกับ Bloomberg ว่า 60% ของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาหรือมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาหนี้สินในระดับสูง ขณะเดียวกันยังมีประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อีกราว 20 ประเทศที่เผชิญกับปัญหาเดียวกัน
“มีแนวโน้มที่จำนวนประเทศที่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากปัญหาหนี้สินจะเพิ่มสูงขึ้น” โกปินาทระบุ
ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรง จนส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
การแข็งค่าของดอลลาร์ หรือในอีกนัยคือการอ่อนค่าของเงินสกุลอื่นๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ส่งผลให้หลายประเทศต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นในการชำระหนี้ที่กู้ยืมมาเป็นสกุลดอลลาร์ ทำให้มีความเสี่ยงที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องผิดนัดชำระสูงขึ้น โดย IMF ระบุว่า ปัจจุบันหนี้ที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นมีสูงถึง 2.5 แสนล้านดอลลาร์
การอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่นในหลายประเทศยังก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นอีกด้วย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความท้าทายให้กับธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ ประเทศที่มีการกู้ยืมเป็นเงินสกุลดอลลาร์จะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระสูงขึ้น” โกปินาทกล่าว
ปัญหาหนี้สินในหลายประเทศทวีความรุนแรงขึ้น มาตรการให้ความช่วยเหลือที่เรียกว่า Common Framework ของกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งถูกนำมาใช้ปรับปรุงการชำระหนี้ให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิดหมดอายุลงในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“เราจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่รวดเร็วกว่านี้ และขอบเขตของการให้ความช่วยเหลือจะต้องขยายไปสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางด้วย” โกปินาทกล่าว
อ้างอิง: