วานนี้ (22 สิงหาคม) THE STANDARD ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมขัง 3 อำเภอ คือ อำเภอบางบาล อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ พบว่า มีน้ำท่วมขังในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับหัวเข่า ระดับอก และสูงที่สุดในระดับ 3 เมตร
สำหรับพื้นที่แรก คือการลงพื้นที่ไปยังตำบลบางหลวงโดด อำเภอบางบาล ซึ่งอยู่ใกล้กับคลองบางหลวง พบว่าในพื้นที่นี้มีน้ำท่วมเป็นประจำในทุกปี น้ำได้เข้าท่วมขังในพื้นที่ระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ รวมถึงประมาณน้ำได้สูงเรื่อยๆ และเป็นสถานการณ์น้ำที่เกิดเร็วกว่าทุกปี
จากนั้นทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังตำบลบ้านใหญ่ อำเภอผักไห่ พบว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน เนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้บริเวณคลองชลประทาน ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวกับทีมข่าวว่า ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังครั้งนี้อย่างมาก ทั้งความเสียหายพืชผลทางเกษตรและพืชไร่ โดยไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากภาครัฐ ขณะที่ปริมาณของน้ำนั้นสูงอยู่ในระดับอก หรือ 1 เมตรโดยประมาณ น้ำได้เข้าท่วมขังในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา และประมาณน้ำได้สูงเรื่อยๆ
ขณะที่ชาวบ้านรายที่ 2 ในตำบลบ้านใหญ่ ซึ่งมีอาชีพขายพวงมาลัย และปลูกดอกดาวเรืองกล่าวว่า สวนดอกดาวเรืองของเขาได้รับความเสียหายอย่างหนัก ความเสียหายครั้งนี้ทำให้เขาขาดรายได้ต่อวันสูงสุดถึงวันละ 2,000-3,000 บาท
เขากล่าวอีกว่า แม้จะทราบข่าวล่วงหน้า และมีการป้องกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์และปริมาณน้ำที่มาเร็ว จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการสิ่งใดได้ ปัจจุบันนำ้ท่วมขังอยู่นานกว่า 10 วันแล้ว ส่วนการเยียวยาที่ต้องการคือการเร่งระบายน้ำ อยากให้การสัญจรเป็นไปอย่างสะดวกเรียบร้อยดี เนื่องจากปริมาณน้ำขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป
จากนั้นทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังบริเวณอำเภอเสนา ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า เขาได้รับผลกระทบจากการน้ำท่วมขังครั้งนี้ พืชผลทางการเกษตรที่มีการปลูกได้รับความเสียหายทั้งหมด ปริมาณขณะนี้สูงถึง 3 เมตร
พร้อมมองว่าสถานการณ์น้ำมาเร็วกว่าปกติ เนื่องจากปีก่อนหน้านี้น้ำจะมาในช่วงเดือนกันยายน มีการรับมือน้ำท่วมครั้งนี้เป็นอย่างดี เพราะอาศัยอยู่ในจุดที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ ส่วนการเยียวยาที่ต้องการคือให้แบ่งปริมาณน้ำไปยังพื้นที่อื่นๆ
ขณะที่ชาวบ้านอีกรายกล่าวว่า ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้เป็นประจำทุกปี มีการปรับบ้านให้สูงขึ้นในหลายครั้ง โดยมีการคาดการณ์ต้องอยู่กับน้ำท่วมขัง หากไม่มีการระบายน้ำไปในพื้นที่อื่น คาดว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติยาวไปถึงเดือนธันวาคม พร้อมเล่าชีวิตที่มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตกับน้ำท่วมขังเช่นนี้ว่า ไม่สามารถบรรยายได้ มีความลำบากในหลายด้าน ทั้งการกิน การนอน การขับถ่าย
จากนั้นเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานได้ลงพื้นที่ครั้งนี้ด้วย เพื่อแจ้งข่าวขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากจากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ใน 1-2 วันนี้จะมีปริมาณฝนตกลงมาอีก ทำให้ในช่วงระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2565 จะมีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนเข้าพระยา ในอัตรา 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.40-0.80 เมตรด้วย