วันนี้ (19 สิงหาคม) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกระแสข่าวเกี่ยวกับการรวบรวมรายชื่อผ่านเว็บไซต์ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ เพื่อให้ยกหนี้ กยศ. นั้น
ล่าสุดวานนี้ (18 สิงหาคม) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงว่า การยกหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่รัฐบาลเข้าใจปัญหาของหนี้ กยศ. ตามกฎหมายปัจจุบัน จึงได้เสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ. ยังคงเป็นไปตามหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ผ่อนปรนการชำระหนี้ กยศ. ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยการชี้แจงดังกล่าวของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ.
อนุชากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยต่อประเด็นนี้ และได้สั่งการเร่งให้การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. อย่างเต็มที่ ครอบคลุมการลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยงถูกดำเนินคดี แก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ผ่านกลไกต่างๆ เช่น งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ที่กองทุน กยศ. ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมไปถึงการขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ยืมมาชำระเงินคืน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ และการที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีอำนาจในการปลดภาระผู้ค้ำประกัน เมื่อผู้กู้ยืมได้ผ่อนชำระเงินต้นมาแล้วร้อยละ 25 ของเงินต้นที่ค้างชำระ รวมถึงเสนอการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดให้เหมาะสม โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฯ อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหนี้ กยศ. มาโดยตลอด นอกจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ลดผลกระทบต่อผู้ค้ำประกัน และเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างสินเชื่อ ช่วยเหลือผู้กู้ที่เดือดร้อน สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ช่วยให้การชำระหนี้มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้นแล้ว ประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลคือ โอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของทรัพยากรบุคคล เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันของไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” อนุชากล่าว