องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสของ UN กำลังเดินทางเยือนเมียนมาในสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็นการเยือนที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก และเกิดขึ้นท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางการเมืองภายในประเทศ และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างเมียนมาและเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ เกิดความโกลาหลในเมียนมาตั้งแต่ทหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนำโดย ออง ซาน ซูจี เมื่อต้นปีที่แล้ว และเริ่มการปราบปรามอันนองเลือดต่อการประท้วงที่ตามมา
โดย UN ออกแถลงการณ์วานนี้ (15 สิงหาคม) ว่า โนลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษของเลขาธิการ UN เรื่อง กำลังจะเยือนเมียนมา หลังการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางกับผู้มีบทบาทจากหลากหลายกลุ่มการเมือง ภาคประชาสังคม ตลอดจนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่
UN ยังระบุว่า เฮย์เซอร์จะมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงและความกังวลที่กำลังเกิดขึ้น โดยอ้างถึงข้อเรียกร้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบโดยทันที และเรียกร้องการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมโดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้จากฝั่งของ UN เกี่ยวกับการเดินทางเยือนดังกล่าว
ส่วน จ่อ มิน ทุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา บอกกับสื่อที่สนับสนุนกองทัพว่า เฮย์เซอร์จะมาถึงในวันพุธนี้ “เธอจะได้พบกับผู้นำของประเทศและรัฐมนตรีอาวุโสคนอื่นๆ” เขากล่าว และเสริมว่า ไม่มีการร้องขอใดๆ เพื่อพบกับซูจี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลทหารเมียนมาไม่อนุญาตให้ทูตจากภูมิภาคอาเซียนเข้าพบซูจีด้วย และเมื่อวานนี้ศาลเมียนมาพิพากษาจำคุกซูจีเพิ่มอีก 6 ปี ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน เธอถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างน้อย 18 กระทง ตั้งแต่เรื่องการรับสินบนไปจนถึงการละเมิดการเลือกตั้ง ซึ่งซูจีเรียกข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่ไร้สาระ และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เธอถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 11 ปีในข้อหาอื่นๆ มาแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ชาติตะวันตกและนักวิจารณ์รัฐบาลทหารคนอื่นๆ กล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่มีต่อซูจีนั้นมีฐานบนข้อมูลเท็จอย่างจงใจ และมุ่งเป้าที่จะขัดขวางไม่ให้เธอกลับไปเล่นการเมืองอย่างถาวร
และเมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลทหารถูกประณามจากทั่วโลก เมื่อมีการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือแก่ ‘การก่อการร้าย’ ขณะที่มาเลเซียออกมาประณามเมียนมาถึงการประหารชีวิตดังกล่าวด้วยเช่นกันว่าถือเป็น ‘การเยาะเย้ย’ ต่อความพยายามของอาเซียนที่จะบรรลุสันติภาพในเมียนมา
ภาพ: Manuel Augusto Moreno / GettyImages
อ้างอิง: