×

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผย สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 2 โต 6.3% ขณะที่หนี้เสียยังทรงตัวอยู่ที่ 2.88%

16.08.2022
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท. ) เผยระบบธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง มีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สินเชื่อไตรมาส 2 ยังโตต่อเนื่องที่ 6.3% ขณะที่หนี้เสียปรับลงเล็กน้อยเหลือ 2.88% จากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และบริหารจัดการพอร์ตของแบงก์

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/65 ว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป ธนาคารพาณิชย์ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อเพื่อดูแลคุณภาพสินเชื่อโดยรวมอย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักจากการเติบโตของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 19.6% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 9.09 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 166.6% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 185.5%

 

สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/65 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จาก 6.9% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

สินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่ 8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการเงินทุนของภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเพื่อผลิตสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น รองรับต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และเพื่อการส่งออก ด้านสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้ 0.9% จากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ 

 

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวได้ในอัตรา 3.0% ชะลอลงบ้างจากไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ 2.4% ตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวที่ 6% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือนในช่วงที่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น 

 

สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ 8.2% เร่งขึ้นจากความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ปรับดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวได้เพียง 0.1% ทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัว 

 

ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อเพื่อดูแลคุณภาพสินเชื่อโดยรวมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/65 ลดลงมาอยู่ที่ 5.27 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.88% ปรับลดลงจาก 2.93% ในไตรมาสแรก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) ทรงตัวอยู่ที่ 6.09%

 

“NPL โดยรวมปรับลดลงจากการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการหนี้ของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามคุณภาพของกลุ่มลูกหนี้ SMEs และรายย่อย ที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 6.5 หมื่นล้านบาท ด้วยการเพิ่มประเภทสินเชื่อเพื่อการปรับตัว อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความพร้อมต่อการปรับตัว และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน” สุวรรณีกล่าว

 

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/65 จำนวน 6.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 7.2% โดยหลักจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองไว้ในระดับสูงตลอดช่วงโควิด 

 

โดยหากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นโดยหลักจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้เงินปันผล ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.11% จากไตรมาสก่อนที่ 0.87% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.51% จากไตรมาสก่อนที่ 2.45%

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X