Morgan Stanley ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในเอเชียได้แตะระดับสูงสุดแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป แนะธนาคารกลางไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไป พร้อมทั้งเตือนว่าแนวโน้มการส่งออกจ่อชะลอตัว
Chetan Ahya หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียจาก Morgan Stanley เปิดเผยในรายการ Squawk Box Asia ของ CNBC ว่า ตามข้อมูลต่างๆ บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของเอเชียได้แตะระดับสูงสุดแล้ว (Peak) และที่สำคัญกว่านั้น เราคิดว่าเริ่มเห็นความเสี่ยงด้านลบต่อเงินเฟ้อแล้ว
“อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงสุดของเอเชียอยู่ที่ 5.5% และลดลงแล้วประมาณครึ่งเปอร์เซ็นต์จากระดับสูงสุดนั้น นับว่าต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่เงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดที่ 9% และในยุโรปที่ประมาณ 8.5% และ 9%” Ahya กล่าว
Ahya ยังมองว่า เศรษฐกิจส่วนใหญ่ในเอเชียอยู่ในช่วงกลางของวัฏจักรการฟื้นตัวแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่เราคิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในการควบคุมในที่สุด ดังนั้น ธนาคารกลางจึงไม่ควรต้องใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เข้มงวดมากเกินไป
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้อง “ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อย่างกล้าหาญ” เนื่องจากเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดใหญ่ในช่วงปลายปี
นักเศรษฐศาสตร์ของ Morgan Stanley ยังกล่าวอีกว่า อุปสงค์ของสินค้าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย
เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานปรับตัวดีขึ้นและสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น Morgan Stanley จึงคาดว่าความต้องการสินค้าจะลดลงในหลายเดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ตลาดแรงงานเอเชียจะไม่ตึงตัว ซึ่งจะช่วยให้เอเชียสามารถควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้
การเติบโตของการส่งออกที่อ่อนแอ
แม้ภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของเอเชียอาจดูดีขึ้น แต่ Morgan Stanley เตือนว่าแนวโน้มการส่งออกยังคงอ่อนแอ
Ahya ระบุว่า สิ่งที่เราต้องมองจากมุมมองทางเศรษฐกิจในแง่ของการเติบโต ตัวเลขและปริมาณการส่งออกที่แท้จริงได้ลดลงเหลือประมาณ 1-3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่เมื่อประมาณ 12 เดือนก่อน ภาคส่งออกเอเชียเคยเติบโตมากกว่า 10% แต่ปัจจุบันเราได้เห็นการชะลอตัวครั้งใหญ่ และมองว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าของเอเชียดูไม่ค่อยดีนัก
อ้างอิง: