รู้สึกกันไหมครับ ว่าเดี๋ยวนี้หาหุ้นลงทุนให้ชนะตลาด นับวันทำได้ยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะพยายามไป ‘ขุดหาหุ้น’ ชนิดที่วิเคราะห์เจาะลึกมากแค่ไหน ก็ยังมีนักลงทุนอื่นๆ ที่รู้ข้อมูลเท่าคุณหรือลึกกว่าคุณอยู่ดี ยิ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ การหาข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้คุณได้เปรียบนักลงทุนคนอื่นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
เรื่องแบบนี้ก็ไม่ได้เว้นแม้แต่มืออาชีพระดับผู้จัดการกองทุนที่มีข้อมูลครบครัน มีนักวิเคราะห์คอยเฝ้าหน้าจอ อัปเดตข่าวสารรอบโลกให้ตลอด แต่เชื่อไหมครับ พวกเขาก็ยังทำผลตอบแทนแพ้ตลาด!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- อัปเดต 7 หุ้น พอร์ต เซียนฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ มูลค่า 6.14 พันล้านบาท
- 10 หุ้น ขึ้น XD จ่ายเงินปันผลสูงสุดในรอบเดือน ก.ย. 65
“แล้วเราจะลงทุนอย่างไรให้มีโอกาสชนะตลาดได้สักที” เป็นคำถามที่ผมได้ยินมาตลอด
ยิ่งปีนี้ ถือเป็นปีที่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า บรรยากาศการลงทุนมีแต่ขมุกขมัวมาตลอด ท่ามกลางข่าวรอบโลกที่มีแต่สร้างความผันผวนไม่หยุดหย่อน แม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่แต่ละประเทศยังเผชิญปัญหามายาวนานกว่า 3 ปี ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และล่าสุดปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจนถึงขั้นภาวะถดถอย
สัญญาณเศรษฐกิจโลกเปราะบาง กดดันตลาดหุ้นผันผวน
ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเร็วๆ นี้ (26 กรกฎาคม) ระบุว่า เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่รุนแรงกว่าคาด ผลกระทบจากรัสเซียโจมตียูเครน ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.2% ในปี 2022 และชะลอตัว 2.9% ในปี 2023
IMF ยังปรับลดคาดการณ์มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) สหรัฐฯ ลงเหลือ 2.3% ในปี 2022 จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.9% และในปี 2023 ปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 1% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจจีนขยายตัว 3.3% ในปี 2022 นี้ ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่วน GDP ของญี่ปุ่น คาดการณ์เติบโต 2.4% ในปี 2022 และ 2.3% ในปี 2023 และเศรษฐกิจอินเดียลดเหลือ 7.4% ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซน ปรับลดลงเหลือ 2.6% ขณะที่เศรษฐกิจรัสเซียหดตัวถึง 6% และ 3.5% ในปี 2023 และเศรษฐกิจยูเครนหดตัวถึง 45%ในปีนี้
เมื่อดูข้อมูลล่าสุด การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ของโลก 3 ประเทศ ณ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา รายงาน GDP ติดลบ 0.9% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ติดลบ 1.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)
ช่วงที่ผ่านมา ความร้อนแรงทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนผ่านตัวเลขเงินเฟ้อที่สูง และตัวเลขจ้างงานที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ยิ่งกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างแรงต่อเนื่อง แม้ว่าล่าสุด (27 กรกฏาคม) Fed เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่อง เพื่อหวังผลช่วยชะลอการเร่งตัวของ เงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นมาที่ระดับ 2.25-2.50% แล้วจากต้นปี 2022 ที่อยู่ระดับ 0.00-0.25% หรือมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 4 ครั้งติดต่อกันทีเดียว
ส่วนเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก แม้จะไม่ได้เผชิญปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงเช่นสหรัฐฯ แต่ก็เผชิญกับโจทย์เก่าและใหม่ที่ถาโถมไม่หยุดหย่อน ทั้งจากผลกระทบจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ GDP ออกมาขยายตัวเพียง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และหดตัวจากไตรมาสแรกที่ GDP เติบโต 4.8% เช่นกัน ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจีนเติบโต 2.5% ท่ามกลางผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงันและตัวเลขการบริโภคที่ชะลอตัวลงแรง ในช่วงครึ่งปีหลัง รัฐบาลกลับมาเปิดเมืองตามปกติแล้ว ขณะที่ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังลุกลาม และล่าสุด มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวัน แม้จะมีสารพัดปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ทางการจีนยังคงคาดการณ์ GDP ที่ระดับ 5% ในปี 2022 นี้
ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก หลังจากในปี 2021 เศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง 1.7% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และในปีนี้ การดำเนินนโยบายการคลัง และการเงินของญี่ปุ่นยังอยู่ในโหมดขยายตัวต่อเนื่องตามนโยบาย ‘Abenomics’ หลังญี่ปุ่นติดกับดักภาวะเงินฝืดมายาวนาน ทั้งนี้ ไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นติดลบ 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP หดตัว 0.1% แต่ก็เป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิดไม่แพ้จีน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ประกาศท่าทีชัดเจนว่า มีแนวโน้มจะใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบต่อไป เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเงินฝืดมานานนับทศวรรษ หากเร่งรัดใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด อาจทำให้ญี่ปุ่นกลับไปติดหล่มเงินฝืดอีกครั้ง ดังนั้น ล่าสุดผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ BOJ จึงยังคงอัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.1% ต่อเนื่อง และยังควบคุมอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ให้อยู่ที่ 0.25% ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี
ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ว่า “เราไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย ตอนนี้เรามุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง” และยังแสดงความเห็นว่า “หากธนาคารต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อทำให้ค่าเงินเยนอยู่ในระดับปกติ ก็จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น”
สำหรับผลจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป สวนทางกับ Fed ที่เร่งขึ้นดอกเบี้ย แม้กระทบต่อเงินทุนไหลออกในญี่ปุ่น และทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงมากที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี แต่ก็มองว่าเป็นผลดีกับบริษัทญี่ปุ่นที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก และมีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศจำนวนมาก แต่ก็ทำให้เงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ โดยอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นระยะ 12 เดือนล่าสุด (พฤษภาคม 2021 – เมษายน 2022) อยู่ที่ 2.5% เป็นผลมาจากราคาน้ำมัน อาหารสด และค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงมาก ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น
ขณะที่ธนาคารเพื่อการลงทุนหลายแห่งมองว่า BOJ จะใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบต่อไปแม้จะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ซึ่งทั้งนโยบายดอกเบี้ยติดลบและเงินเยนอ่อนค่าต่างก็ส่งผลดีกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น
มุมมองของ Morgan Stanley เจ้าของดัชนี MSCI ก็แนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานดี สามารถเพิ่มผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้นอื่นๆ ได้ แม้แต่ Credit Suisse จัดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มผลดำเนินงานเติบโตที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ค่าย BlackRock บริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ออกมาปรับน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น ญี่ปุ่นเป็น ‘Overweight’ หรือ ‘เพิ่มน้ำหนักการลงทุน’ โดยให้เหตุผลว่ามาจากทิศทางเชิงบวกของแนวโน้มเศรษฐกิจ กำไรสุทธิ อัตราการจ่ายปันผล การซื้อหุ้นคืนของบริษัทญี่ปุ่น ที่มีโอกาสทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งระบุในบทวิเคราะห์ประจำไตรมาส 2/22 เป็นสัญญาณบวก และถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ชี้ช่องลงทุนหุ้น Defensive ธีมเฮลท์แคร์ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ผมเห็นหลายค่ายเริ่มออกมาส่งสัญญาณการทยอยเข้าลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีและราคาถูก เน้นหาหุ้น Defensive ลงทุน แน่นอนครับ ผมไม่ปฏิเสธว่าเรายังคงต้องอยู่กับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจไปถึงภาวะถดถอยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหาหุ้นดีๆ ลงทุนไม่ได้นะครับ เพราะสำหรับผมแล้ว ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสที่ดีแฝงอยู่เสมอ เพียงแต่เราต้องค้นหาและศึกษากันให้มาก เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ผมเชื่อว่าเราสามารถออกแบบการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนได้เสมอ
แม้แต่ในช่วงเวลาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ผมก็ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นธีมเฮลท์แคร์ (Healthcare) หรือธุรกิจบริการสุขภาพ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี เวลาคนเราเจ็บป่วยก็จำเป็นต้องรักษากัน ทั้งนั้น และที่สำคัญธีมเฮลท์แคร์ครอบคลุมหลายกลุ่มธุรกิจมาก ทั้งโรงพยาบาล ธุรกิจยาและไบโอเทค ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ Health Tech Genomics สาธารณสุข รวมไปถึงประกันชีวิตสุขภาพด้วย ทำให้เฮลท์แคร์เป็นเมกะเทรนด์รับสังคมสูงวัยและการแพทย์ที่ทันสมัยด้วย จึงทำให้ธีมเฮลท์แคร์สามารถเติบโตได้ทุกสภาวะตลาด
สาเหตุที่ผมกล้ายืนยันว่าธีมเฮลท์แคร์เติบโตได้ทุกสภาวะตลาด เนื่องจากพบว่า หลังจากที่เปิดตัว Jitta Ranking US Healthcare ไปเมื่อ 3 เดือนก่อน ปรากฏว่าผลตอบแทนเซอร์ไพรส์ทีมงานและตัวผมเองมาก โดยเป็นบวกถึง 44% (23 เมษายน – 23 กรกฎาคม 2022) ซึ่งผลตอบแทนระดับนี้สู้กับเงินเฟ้อได้สบายๆ และมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่าดัชนี S&P 500 Health Care ชัดเจน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยระยะเวลาเพียง 3 เดือนยังพิสูจน์อะไรได้ไม่มากนัก จึงคงต้องติดตามดูผลตอบแทนระยะยาวกันต่อไป
กลับมาที่ตลาดเฮลท์แคร์ในสหรัฐฯ ที่ถือเป็นเจ้าตลาดหรือติดอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวประชากรสูงกว่าอันดับ 2 อย่างประเทศนอร์เวย์ถึง 2 เท่า และยังพบว่าเกือบ 1 ใน 5 ของ GDP เป็นค่าใช้จ่ายด้านเฮลท์แคร์ที่อัตราการเติบโตแซงหน้า GDP ประเทศด้วย เพราะค่าจ้างแรงงาน ราคาสินค้าและบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเยอะกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ และคาดว่าภาพรวมตลาดเฮลท์แคร์ยังเติบโตต่ออีกเฉลี่ยปีละ 5.4%
ยิ่งช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลักดันให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ยุคใหม่อย่าง Telemedicine ขยายตัว โดยมียักษ์ใหญ่อย่างเช่น Amazon และ Walmart เข้าร่วมลงทุน ทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำเทรนด์ Health Tech ของโลก
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำไบโอเทคอีกด้วย มีการรวมดาวบริษัทยาและแล็บวิจัยชั้นนำที่ทั่วโลกรู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็น Pfizer หรือ Abbott รวมถึงบริษัทใหม่ๆ อย่าง Moderma และ Regeneron ที่สร้างชื่อจากวัคซีนต้านโควิด
อีกตลาดเฮลท์แคร์ใหญ่ของโลกคือ ญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยไม่ค่อยรู้กันมากนักว่าอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นติดโผประเทศที่มีประชากรอายุยืน 3 อันดับแรกของโลกเสมอ ธนาคารโลกระบุว่าคนญี่ปุ่นมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสูงถึง 84.6 ปี ทั้งจากภูมิปัญญาด้านอาหารการกินที่เป็นที่นิยมในหลายประเทศ ระบบรักษาพยาบาลที่ยอดเยี่ยม งานวิจัยได้รับการยอมรับทางแพทย์ทั่วโลก รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคบางชนิดในประเทศที่ให้บริการฟรีอีกด้วย
ข้อมูลจาก EY ระบุว่า ครอบครัวคนญี่ปุ่นถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันสุขภาพสูงถึง 90% ของครัวเรือนทั้งหมด ถือเป็นตัวเลขสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก คนญี่ปุ่นต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในแง่การป้องกันและรักษาโรค ทำให้อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ในญี่ปุ่นไม่เคยหยุดพัฒนาจนถึงปัจจุบันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก
หุ้นเฮลท์แคร์ตัวท็อปๆ ที่ผมอยากแนะนำให้รู้จักและน่าสนใจลงทุนคือ บริษัท BML เป็นผู้ให้บริการด้านการทดสอบและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเเพทย์ ซึ่งเน้นการทดสอบโลหิตเเละชีวเคมีเป็นหลัก รวมถึงให้บริการวิเคราะห์สารเคมีทางการเกษตรที่ตกค้างด้วย เป็นอีกหนึ่งบริษัทเฮลท์แคร์ของญี่ปุ่นที่มีธุรกิจโดดเด่น และมีผลดำเนินงานที่เติบโตทั้งรายได้และกำไรสม่ำเสมอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยหุ้น BML มีมาร์เก็ตแคปราว 148,500 ล้านเยน ค่า PE เพียง 3.7 เท่า เรียกว่าเป็นหุ้น VI ที่พื้นฐานดี ติดอยู่อันดับ 3 ใน Jitta Ranking ญี่ปุ่นด้วย
บริษัท Chugai Pharmaceutical เป็นอีกบริษัทที่มีความแข็งแกร่งหลายด้าน โดยเป็นผู้ผลิตยาต้านเซลล์มะเร็งชั้นนำในญี่ปุ่น ด้วยความร่วมมือกับบริษัทยาจากสวิตเซอร์แลนด์เพื่อพัฒนายาต้านมะเร็งคุณภาพสูง พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์เพื่อวิเคราะห์และรักษาโรคมะเร็งในระดับพันธุกรรมรายบุคคล ผลดำเนินงานเติบโตอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน โดยหุ้นนี้มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ราว 6.0 ล้านล้านเยน ส่วน PE จะค่อนข้างสูง 20 เท่า แต่ก็ยังอยู่อันดับ 4 ใน Jitta Ranking ญี่ปุ่น
ผมขอพูดถึงการออกแบบนโยบาย Jitta Ranking คือ การใช้ AI ในการคัดสรรหุ้นด้วยหลักการ Quantitative Value Investing (QVI) ที่จะคัดสรรหุ้นลงทุนและปรับพอร์ตให้คุณอัตโนมัติแบบไม่มีอารมณ์เข้ามายุ่งเกี่ยว และไม่ได้สนใจว่าหุ้นนั้นจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ แต่สนใจว่าหุ้นนั้นเป็นธุรกิจที่ดี มีแนวโน้มการเติบโตสูง และราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง และจะมีการพิจารณาปรับพอร์ตอัตโนมัติทุก 3 เดือนตามรอบงบการเงินรายไตรมาสด้วย การลงทุนในระยะยาวถ้าเลือกได้ดีก็จะทำผลตอบแทนได้ชนะตลาด นี่เป็นสิ่งที่ Jitta Wealth พยายามพิสูจน์มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนอาจจะมีความเข้าใจว่า หุ้นประเภท Defensive หรือหุ้นในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์จะเติบโตช้า แต่หากคุณได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีย่อมจะส่งผลดีให้กับพอร์ตของคุณชนะตลาดอย่างแน่นอน