สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ เขียนบทความวิเคราะห์และวิพากษ์กรณีรัฐบาลประธานาธิบดียุนซอกยอลแห่งเกาหลีใต้มีคำสั่งอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษให้กับ อีแจยง หรือ เจ วาย อี ทายาทซัมซุง ‘แชโบล’ บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ เพื่อให้อีแจยงกลับไปคุมบังเหียนในการบริหารจัดการบริษัทได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเกาหลีใต้หลังยุคโควิด
รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ให้เหตุผลการตัดสินใจอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษในครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องของความชอบธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม เนื่องจากในทางพฤตินัย อีแจยงคือผู้นำบริษัทซัมซุง การตัดสินใจของบริษัทหลายเรื่องต้องผ่านความเห็นชอบจากอีแจยง ดังนั้นซัมซุง หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจเกาหลีใต้ จึงต้องกลับมาขยับอีกครั้ง
ทันทีที่ได้รับการปล่อยตัว หลังจากรับโทษจำคุกมาร่วม 18 เดือน อีแจยงได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะอุทิศตัวทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ได้รับความบอบช้ำอย่างหนักจากวิกฤตโควิดระบาด พ่วงด้วยวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม BBC รายงานว่า กระแสของสังคมส่วนใหญ่กลับไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งหรือชื่นชมกับการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้แม้แต่น้อย ตรงกันข้าม การตัดสินใจดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจ และเป็นเสมือนการตอกย้ำบาดแผลของชาวเกาหลีใต้ที่ต้องกลับมาตระหนักอีกครั้งหนึ่งว่า การต่อสู้เพื่อเรียกร้องหาความชอบธรรมและความโปร่งใสเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจคือผู้อยู่เหนือกฎหมาย ที่ไม่อาจแตะต้องได้
ซังจิน พัค ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับการก้าวถอยหลังที่ทำให้เกาหลีใต้กลับไปมีสภาพเหมือนช่วงก่อนการปฏิวัติแสงเทียนอีกครั้ง คือช่วงที่มีการประท้วงเรียกร้องกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันทั่วประเทศ ซึ่งนำไปสู่การโค่นล้มประธานาธิบดีพัคกึนฮเย และการตัดสินโทษของทายาทซัมซุงอย่างอีแจยง
แต่ผ่านไปเพียงแค่ไม่กี่ปีอดีตประธาธิบดีพัคกึนฮเยก็ได้รับการอภัยโทษในปี 2019 และตามด้วยการอภัยโทษอีแจยงในปีนี้
นักวิเคราะห์ระบุว่า ท้ายที่สุดแล้วเกาหลีใต้ก็ไม่อาจสลัดหลุดจากอิทธิพลของ ‘แชโบล’ ไปได้ โดยแชโบลคือคำเรียกกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งของเกาหลีใต้ที่ควบคุมบริษัทด้วยสมาชิกในครอบครัว ลักษณะคล้ายกงสี และดำเนินธุรกิจหลากหลาย
ตัวอย่างของแชโบลก็เช่น ซัมซุง, LG, Hyundai, Lotte และ SK โดยมีการประเมินว่าบริษัทขนาดใหญ่ 10 แห่งในเกาหลีใต้มีมูลค่ารวมกันเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
ในจำนวนนี้ซัมซุงถือว่ามีขนาดใหญ่สุดและทรงอิทธิพลมากที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลก พ่วงด้วยตำแหน่งแบรนด์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก ขณะที่ในเกาหลีใต้ ซัมซุงยังเป็นเจ้าของโรงพยาบาล โรงแรม บริษัทประกันชีวิต ป้ายโฆษณา อู่ต่อเรือ รวมถึงสวนสนุกอีกด้วย มีอิทธิพลถึงขนาดที่มีการเรียกกันว่าเล่นๆ ว่า ตำแหน่งทายาทซัมซุงก็คือตำแหน่ง ‘มกุฎราชกุมาร’ ของเกาหลีใต้
ยุนคยองอี ศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโต กล่าวว่า อำนาจของซัมซุงและบริษัทแชโบลอื่นๆ ทรงพลังมากเสียจนถูกเรียกว่าบริษัท ‘ปลาหมึก’ และหนวดปลาหมึกของบริษัทเหล่านี้แทรกซึมเข้าไปถึงชนชั้นปกครองในทางการเมืองของเกาหลีใต้ ทำให้ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังให้การสนับสนุนแชโบลอย่างเต็มที่
เห็นได้จากการออกสารพัดนโยบายที่ลด แลก แจก แถม เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจแชโบล เช่น การลดหย่อน หรืออุดหนุนด้านภาษี ทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ และกลายเป็นช่องทางหลังบ้านที่เอื้อให้เกิดการติดสินบนและคอร์รัปชันมานานหลายสิบปี
ก่อนหน้านี้ในรุ่นพ่อของอีแจยงอย่าง อีกอนฮี ที่เผชิญข้อหาติดสินบนและฉ้อโกงในช่วงทศวรรษที่ 1990 แต่เจ้าตัวกลับไม่ต้องรับโทษจำคุกเลยแม้แต่วันเดียว ดังนั้นในปี 2017 การได้เห็นบุตรชายของประธานซัมซุงรับโทษจำคุกนาน 5 ปี จึงเป็นภาพแห่งความหวังของนักเคลื่อนไหวที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงปัญหานี้ของเกาหลีใต้ได้เกิดขึ้นแล้ว
แต่ในท้ายที่สุดความหวังก็ยังคงเป็นแค่ความหวัง ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เพราะอำนาจเงินและผลประโยชน์ย่อมมาก่อนความชอบธรรมใดๆ
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP