×

กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารฯ ยื่นหนังสือถึงสถานทูตนอร์เวย์ ส่งสารไปบริษัทแม่ดีแทค ต้านควบรวม ‘TRUE-DTAC’

โดย THE STANDARD TEAM
10.08.2022
  • LOADING...
TRUE-DTAC

วันนี้ (10 สิงหาคม) เมื่อเวลา 10.30 น. กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย ปาณิสรา ตุงคะสามน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมด้วย ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย, ฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และตัวแทนภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือ 3 ข้อเรียกร้องการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ต่อสถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย โดยมีรายละเอียดข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ดังนี้ 

 

1. ข้อเสนอในการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทฯ ขัดต่อ พ.ร.บ.โทรคมนาคม มาตรา 21 การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องบังคับข้อกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้รับใบอนุญาตกระทำอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้ 

 

  • การอุดหนุนการบริการ
  • การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน
  • การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม
  • พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน
  • การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย

 

2. การควบรวมกิจการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จะทำให้ผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมน้อยลง เหลือผู้ให้บริการฯ หลักเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งในแง่การพัฒนาคุณภาพบริการ การกำหนดราคา และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและแข่งขันในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยและนานาประเทศให้ความสำคัญในโลกยุคใหม่

 

ปัจจุบัน DTAC มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับสัญญาณมือถืออยู่ที่ 19.6 ล้านเลขหมาย (20%) TRUE อยู่ที่ 32.2 ล้านเลขหมาย (34%) และ AIS อยู่ที่ 44.1 ล้านเลขหมาย (46%) จะเห็นได้ว่าหากการควบรวมเกิดขึ้น จะทำให้มีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียง 2 ราย ทำให้บริษัทที่ควบรวมแล้วมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้สามารถชี้นำตลาดได้ทั้งในเรื่องราคาและการให้บริการ

 

3. ทางกลุ่มฯ มีความกังวลเพิ่มเติมในเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ที่ต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยบริษัทเอกชนหรือรัฐ หากผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมมีจำนวนน้อยลง ก็จะทำให้การแทรกแซง คุกคาม จำกัด และปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ในการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของนักกิจกรรมและผู้ที่เห็นต่างจากรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

บริษัทเอกชนเองก็มีความรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งในเสาหลักที่สองได้เน้นย้ำว่า บุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect)

 

ทางกลุ่มฯ ทราบดีว่า บริษัทเทเลนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชน โดยบริษัทเทเลนอร์ให้ความเห็นไว้ว่า การสื่อสารโทรคมนาคมนั้น มีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนสื่อสารความคิด เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว การรักษาจุดนี้อาจเป็นไปได้ยากขึ้นหากเกิดการควบรวมกับบริษัทภายในประเทศ ที่มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและการรักษาความเป็นส่วนตัวไม่เท่ากับมาตรฐานของบริษัทเทเลนอร์

 

ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้เทเลนอร์ยุติข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในครั้งนี้ และขอเรียกร้องรัฐบาลนอร์เวย์พิจารณาว่า ข้อเสนอควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในครั้งนี้เป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่

 

ก่อนหน้านี้มีผู้เปิดแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการผูกขาดทางการค้า กรณีการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC บนแพลตฟอร์ม Change.org/TrueDtac มีผู้เข้าร่วมลงชื่อมากกว่า 13,000 รายชื่อ และยังคงเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงชื่อได้เพิ่มเติม เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านดังกล่าว

 

ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากจะมีการลงมติชี้ขาดในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565

 

ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส. จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการยื่นข้อเรียกร้องว่า สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทยยืนยัน ทั้งประเทศนอร์เวย์ รัฐบาลนอร์เวย์ และบริษัทเทเลนอร์ (บริษัทแม่) สนับสนุนการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ และพยายามที่จะให้ทุกอย่างมีความชัดเจน และไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีในการควบรวมกิจการ 

 

ศรัณย์กล่าวต่อไปว่า สถานทูตนอร์เวย์จะส่งเอกสารที่ทางกลุ่มฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีต่อประชาชน ให้กับผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง โดยจะแจ้งว่าการควบรวมที่ประเทศไทย มีประชาชนแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ หากบริษัทเทเลนอร์สามารถประกาศต่อสาธารณะได้ว่าความกังวลทั้งหมดของประชาชนจะไม่เกิดขึ้น 

 

ส่วนความคาดหวังหลังจากนี้ ศรัณย์กล่าวว่า คาดหวังว่าการยื่นหนังสือที่กล่าวถึงการแสดงความกังวลในเรื่องนี้ จะได้รับการตอบรับจากบริษัทเทเลนอร์ (บริษัทแม่) หากเกิดการควบรวมแล้วจะได้รับคำสัญญาว่าสิ่งต่างๆ ที่เราเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นค่าบริการ หรือค่าการควบคุมตลาด จะไม่เกิดขึ้น หรือมีมาตรการใดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ 

 

ขณะที่ปาณิสรา ในฐานะตัวแทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอ้างอิงงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่พบว่า เปอร์เซ็นต์การควบรวมกิจการจาก 3 ราย เหลือ 2 รายนั้น จะทำให้เกิดการเพิ่มอัตราค่าบริการมากขึ้นสูงสุด 200% หากเกิดการควบรวมขึ้นจริง ผู้บริโภคจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีอัตราค่าบริการที่แพงขึ้น คลื่นสัญญาณความถี่จะมีคุณภาพเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ดีกว่าเดิม ในนามของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องนี้หลายครั้ง ทั้งเรื่องของการจัดเสวนา หรือการส่งหนังสือเชิญ กสทช. ให้ชะลอการพิจารณาการควบรวม แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก 

 

พร้อมทั้งมองผู้ประกอบการทั้งทรูและดีแทค ควรออกมาแสดงจุดยืนให้คำสัญญากับผู้บริโภคว่า หากเกิดการควบรวมจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการอย่างไร และคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ที่ผ่านมาการควบรวมกิจการครั้งนี้มีข่าวในทิศทางลบมาโดยตลอด แต่ยังไม่เห็นฝ่ายทรูและดีแทคออกมาแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ 

 

“คิดง่ายๆ เรามองปัจจุบันมีผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่จำนวน 3 ราย คือ TRUE, DTAC และ AIS หากมีการควบรวมขึ้นจะทำให้เหลือรายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้น เกิดการเปรียบเทียบระหว่าง 2 บริษัทนี้ จะมีการแข่งขันทางการค้าอย่างไร แต่ละบริษัทสามารถขึ้นค่าบริการได้อิสระ ผู้บริโภคเลือกใช้บริการได้น้อยลง เพราะไม่มีการแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคเลือกได้น้อยลง ทำให้อัตราค่าบริการต่างๆ สูงขึ้นหรือลดลงได้ง่าย” ปาณิสรากล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X