วันนี้ (10 สิงหาคม) สุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เผยแพร่ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30
กรณีมีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ระบุความเห็นของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานฯ และ สุพจน์ รองประธานฯ ให้ความเห็นต่อการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งหลังรัฐประหาร 2557 ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะส่งผลให้ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี วันที่ 23 สิงหาคม 2565
โดยสุพจน์กล่าวว่า เอกสารนี้เป็นบันทึกการประชุมซึ่งเปิดเผย แจกจ่ายในห้องสมุดต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมทั้งห้องสมุดรัฐสภาด้วย ใครๆ ก็อ่านดูได้ ไม่ใช่บันทึกลับ แต่เป็นบันทึกการประชุม ไม่ใช่มติ ส่วนมติเป็นอีกอย่างหนึ่ง
สำหรับการเจาะจงเผยแพร่ความเห็นของประธาน และความเห็นของตนเองในฐานะรองประธาน เป็นความเห็นของสองคนแรก
“ผมคิดว่าเขาต้องการเอาตำแหน่งมาเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจมากกว่า เพราะเป็นตำแหน่งไล่เลี่ยกัน คือประธานกับรองประธาน”
สุพจน์กล่าวว่า การประชุมสนทนาคุยกันร่วมสามสิบคน ไม่ใช่คุยกันสองคน คุยกันทั้งคณะ การเผยแพร่เฉพาะสองคนไม่ถูกต้อง เป็นการทำให้มีประเด็น
ผู้ดำเนินรายการถามว่า ความเห็นที่เผยแพร่วิธีนับ 8 ปี เป็นไปตามเอกสารหรือไม่
สุพจน์กล่าวว่า เอกสารนี้เป็นบันทึกการประชุม ไม่ใช่มติ ส่วนมติเป็นอีกอย่างหนึ่ง ขณะที่บันทึกการประชุมมีความหลากหลาย การจะนับ 8 ปีต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งมีขั้นตอนที่รัฐสภาเลือกขึ้นมา
“ความเห็นของผมไม่เกี่ยวกับพรรคหนึ่งพรรคใด ฉะนั้นที่พูดคุยกันยังไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกลายเป็นบุคคลท่านนี้ขึ้นมา ก็อาจจะคิดว่าผมไปนิยมชมชื่นกับนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน แต่ถ้าดูตามกฎหมายแล้ว เป็นไปตามขั้นตอนของมัน ถ้าตีความตามหลักนิติรัฐก็ชัดเจนเลย เราต้องเอาหลักนิติศาสตร์เป็นหลัก แม้ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ก็ตาม”
ผู้ดำเนินรายการถามว่า นับตั้งแต่ 6 เมษายน 2562 ใช่หรือไม่
สุพจน์กล่าวว่า นับแต่วันที่โปรดเกล้าฯ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
ผู้ดำเนินรายการถามว่า หากนับตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 จะย้อนแย้งกับบันทึกการประชุมปี 2561 หรือไม่
สุพจน์กล่าวว่า บันทึกการประชุมเป็นความเห็นเริ่มแรก เป็นความเห็นไม่กี่คนซึ่งไม่ใช่มติ ส่วนมติเป็นอีกอย่างหนึ่ง คนที่เผยแพร่เอกสารต้องการผลลัพธ์ประการใดก็นำความเห็นของคนนั้นออกมา
อยากทำความเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ใช่ของผู้ร่าง เพราะผู้ร่างอาจจะตายไปไม่รู้กี่คนแล้ว แต่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย ของรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างไม่ได้มีคนเดียว
ผู้ดำเนินรายการถามว่า หากดูเจตนารมณ์ ต้องย้อนดูมติ กรธ. ใช่หรือไม่
สุพจน์กล่าวว่า ใช่ ซึ่งมีหนังสือจุดมุ่งหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้คำว่า เจตนารมณ์ แต่ใช้คำว่า จุดมุ่งหมาย
ผู้ดำเนินรายการถามว่า จุดมุ่งหมายมติฉบับของ กรธ. ชัดเจนใช่หรือไม่ว่าไม่นับย้อนสมัย คสช.
สุพจน์กล่าวว่า ก็ไม่ได้ชัดเจน แต่ตีความโดยอนุโลม ซึ่งถ้าดูมาตรา 158 และ 159 จะชัดเจนว่ามีขั้นตอนของมัน แล้วรัฐสภาก็โหวตให้ แล้วมีการโปรดเกล้าฯ ลงมา เป็นขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ 2560
ผู้ดำเนินรายการถามถึงความเห็นส่วนตัวในบันทึกการประชุม
สุพจน์กล่าวว่า ในบันทึกเป็นความเห็นแรกเริ่ม ยังไม่ได้ฟังความเห็นคนอื่น เพิ่งเริ่มคุย แล้วเรายังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ซึ่งมีความคิดเห็นหลากหลายในบันทึกการประชุม ให้ยึดมติเป็นหลัก ส่วนความเห็นสองคนที่ถูกนำมาเผยแพร่เป็นการฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด จึงกลายเป็นประเด็น ตนขอแก้ประเด็นนี้ด้วย ให้ดูจุดมุ่งหมาย และให้รอฟังศาลรัฐธรรมนูญ ตนไม่มีอิทธิพลอะไรทั้งสิ้น