วานนี้ (9 สิงหาคม) การประชุมวุฒิสภา มีการพิจารณาการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รายมาตราในวาระที่ 2 ของวุฒิสภา หลังจากที่กรรมาธิการ (กมธ.) ไปพิจารณาแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว ซึ่งมีการถกเถียงอย่างมากในมาตรา 3 ที่แก้ไข 2 ประเด็นคือ จากคำว่า ‘ผู้เสียหาย’ เป็น ‘ผู้ได้รับความเสียหาย’
รวมถึงมีการแก้ไขนิยามความหมายของ ‘ผู้ที่ได้รับความเสียหาย’ ที่ระบุว่า “เป็นบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และจิตใจจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และให้หมายความรวมถึง สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย”
โดย กมธ.วุฒิสภาได้เสนอตัดถ้อยความที่ระบุว่า “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ออก และให้เหตุผลว่าไม่มีความชัดเจน และจะกระทบถึงมาตราอื่นที่กำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดและบทกำหนดโทษด้วย
ซึ่ง พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. ได้ชี้แจงว่า ทั้ง 3 คำที่ตัดออกจากคำนิยามในมาตรา 3 เป็นผลมาจากการตัดมาตรา 6 ทั้งมาตรา ซึ่งมาตรา 6 เป็นการกำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ทั้ง 3 คำเป็นคำที่อธิบายยาก จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ ว่าจะมีขอบเขตการตีความอย่างไร ถึงจะเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อีกทั้งคำนิยามคำว่าผู้เสียหายดังกล่าวยังแตกต่างไปจากคำว่าผู้เสียหายตาม กฎหมายอาญา ซึ่งระบุไว้ครอบคลุมอยู่แล้วว่าผู้เสียหาย หมายถึงผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามกฎหมาย
และการร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามสัตยาบันไว้ แต่ในอนุสัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่าการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องออกเป็นกฎหมาย เพียงแต่กำหนดให้มีมาตรการป้องกันเท่านั้น เพราะมีกฎหมายอื่น รองรับการกระทำความผิดอยู่แล้ว
นอกจากนี้ถ้าไปดูโทษความผิด ตามมาตรา 6 ที่ตัดไป กำหนดโทษไว้เบามาก จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท และเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจเพียงศาลแขวง ทั้งที่ความผิดการกระทำที่โหดร้ายตามกฎหมายอาญามีโทษหนัก และรุนแรงกว่าปกติอยู่แล้ว
ด้าน พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายคัดค้าน ว่าการที่ กมธ. ตัดคำว่าผู้ได้รับความเสียหาย “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” ออก จะทำให้มาตราอื่นกว่า 10 มาตราที่มีคำเหล่านี้ถูกตัดออกไปด้วย โดยเฉพาะมาตรา 5 ที่เป็นเรื่องของลักษณะการกระทำที่เป็นการทรมาน และมาตรา 6 ที่อธิบายลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม และมาตราอื่นๆ หลังจากนี้ไป และยืนยันว่าทั้ง 3 คำอยู่ในอนุสัญญาที่ไทยไปลงนามไว้ การตัดตามที่ กมธ. เสนอนั้นจะทำให้หลักการของกฎหมายบิดเบี้ยวไป
เช่นเดียวกับ คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ชี้ว่า การแก้มาตรา 3 จะทำให้มาตรา 6 ที่กำหนดลักษณะการกระทำความผิดถูกแก้และกระทบต่อมาตรา 39 ที่เป็นส่วนของบทกำหนดโทษไปด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด อีกทั้งร่างหลักที่ที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีมติรับหลักการมาถึง 4 ฉบับ รวมถึงมีร่างหลักของคณะรัฐมนตรีก็มีคำว่าย่ำยีศักดิ์ศรีมาตั้งแต่ต้น และคำว่า “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยธรรม” ก็ถูกเพิ่มมาจากการเสนอของสภาผู้แทนราษฎร หากมีการตัดคำเหล่านี้ออกก็ต้องมีเหตุผลอธิบาย ต้องชี้แจงให้ชัดเจน
เช่นเดียวกับ มณเฑียร บุญตัน ส.ว. คัดค้านการแก้ไขของ กมธ. โดยกล่าวว่า หากมีการแก้ไขจะเป็นการขัดต่ออนุสัญญาและสนธิสัญญาที่อยู่ภายใต้ปฏิญญาสากลที่คำที่ถูกตัดออกไปมีการระบุเอาไว้ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอื่นๆ อีก เพราะคำว่าทรมานถูกกำหนดไว้ในชั้นที่สูง แต่ยังมีกระทำที่หนักเบาอื่นๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้นำไปสู่ความเดือดร้อนเสียหาย เมื่อไทยได้รับเข้าเป็นพันธกรณีที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีถึง 7 ฉบับ ซึ่งมีเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น การตัดออกก็เท่ากับไทยไม่ให้ความสำคัญกับพันธกรณีเหล่านี้ไปด้วย
มณเฑียรกล่าวอีกว่า การแก้ไขครั้งนี้จะทำให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและตอนที่ประชุม ส.ส. มีมติรับหลักการของร่างกฎหมายนี้ ไทยก็ได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ เพราะที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของไทยก็มีข้อครหาว่ามีการกระทำที่โหดร้ายทารุณเกิดขึ้นอยู่เสมอ และถ้าหากเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกใส่ไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติแล้วลดทอนเหลือแค่เป็นประกาศหรือแค่นโยบาย ความเข้มข้นในมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าวก็จะลดลงไปมาก ความเชื่อมั่นจากนานาชาติและประชาชนก็จะหายไปด้วย
มณเฑียรจึงสรุปว่าร่าง ส.ส. มีมติให้ผ่านมานั้นจะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
สำหรับมาตรานี้มี ส.ว. อภิปรายคัดค้านจำนวนมาก โดยใช้เวลาพิจารณาเกือบ 3 ชั่วโมง ก่อนจะมีการลงมติ ซึ่งที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าวของ กมธ. ด้วยมติ ไม่เห็นด้วย 109 เสียง เห็นด้วย 46 งดออกเสียง 13 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
อย่างไรก็ตาม หลังลงมติมาตรา 3 กลับไปเป็นเนื้อหาเดิมแล้ว ยังมีปัญหาการถกเถียง เพราะทำให้มาตรา 3 ขัดแย้งกับมาตราอื่นๆ ที่ กมธ. แก้ไข ประธานจึงเสนอให้พักการประชุม เพื่อให้ กมธ. ไปแก้ไขมาตราอื่นๆ ให้สอดคล้องกับมาตรา 3 แต่ทาง กมธ. ยืนยันไม่ต้องการพักการประชุมไปแก้ไข แต่จะใช้วิธีการแก้ไขมติ กมธ. ในที่ประชุมใหญ่แทน เพื่อคืนมาตราต่างๆ ที่มีการแก้ไข กลับมาเป็นเนื้อหาเดิม