ผู้เชี่ยวชาญเชื่อ เงินเฟ้อไทย เข้าใกล้จุดสูงสุด หลังตัวเลขเดือนกรกฎาคมออกมาต่ำกว่าคาด และเริ่มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เงินบาทมีโอกาสกลับสู่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี
สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดของไทยที่ออกมาที่ 7.61% นับเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ 8% โดยจุดที่น่าสนใจคือการปรับลดลงของเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ซึ่งสะท้อนว่าเทรนด์ของเงินเฟ้อเริ่มลดความร้อนแรงลงและน่าจะเข้าใกล้จุดพีคแล้ว ทำให้ความเชื่อมั่นตลาดปรับดีขึ้น
สงวนระบุว่า แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนถัดไปยังมีโอกาสจะพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เชื่อว่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ความร้อนแรงจะลดลง โดยเงินเฟ้ออาจจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2-0.3% จากเดือนก่อนหน้า ไม่ได้ร้อนแรงเหมือนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
“เงินเฟ้อน่าจะแตะจุดสูงสุดภายใน Q3 ตามที่แบงก์ชาติคาดการณ์ไว้ เมื่อแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ประกอบกับการที่เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าตามราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ตลาดในตอนนี้มองว่าโอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมที่จะกำลังจะมาถึงนี้แทบจะหมดไป” สงวนกล่าว
สงวนกล่าวอีกว่า ในรอบ 5 วันที่ผ่านมา เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นราว 3% หรือกว่า 1 บาท ซึ่งช่วยชดเชยการอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมาได้พอสมควร ทำให้ กนง. คงเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยช้าและน้อยไม่ได้มีผลอะไร และน่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปตามที่เคยพูดไว้
“เดิมเราเคยคาดว่าจุดวกกลับของเงินบาทจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน แต่ตอนนี้ตีกลับมาหมดแล้ว ความไม่แน่นอนต่างๆ คลี่คลายลง ดอกเบี้ยพันธบัตรปรับลงมา ทาง Fed ก็น่าจะลดจังหวะการขึ้นดอกเบี้ย ดอลลาร์เริ่มอ่อนค่า การประกาศตัวเลข GDP ของไทยในช่วงกลางเดือนนี้ก็มีแนวโน้มจะออกมาดีตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ยิ่งทำให้โมเมนตัมเงินบาทดูดี ทำให้ปลายปีเงินบาทน่าจะกลับมาอยู่ในกรอบที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ได้” สงวนกล่าว
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาต่ำกว่าคาด สะท้อนว่าเงินเฟ้อไทยใกล้ถึงจุดพีคแล้ว แม้ว่าในระยะข้างหน้าจะยังมีปัจจัยเรื่องค่าไฟเป็นแรงกดดัน แต่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ลดลงมาอยู่ที่ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลถือเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากกว่า ทำให้โอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หรือจัดประชุมนัดพิเศษที่เคยมีการพูดถึงกันน่าจะหมดไป
นริศกล่าวว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้น จากที่เคยอ่อนค่าเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค ก็ขยับลงอยู่ที่อันดับ 5-6 อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมองว่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามีโอกาสผันผวนสูง แต่จะไม่เคลื่อนไหวในทางเดียวเหมือนก่อนหน้านี้ โดยโอกาสที่จะกลับไปอ่อนค่าที่ 37-38 บาทต่อดอลลาร์ยังมีอยู่ จากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งจะทำให้เงินไหลกลับไปหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรสหรัฐฯ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกได้