วานนี้ (2 สิงหาคม) ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการ THE STANDARD NOW ถึงสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เผยแพร่ข้อมูลจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่าง กทม. และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จำนวน 2 ฉบับ
ธงทองกล่าวถึงสัญญาดังกล่าวว่า เป็นเรื่องของความผูกพันใน 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 เป็นเรื่องของ กทม. และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าไปมีส่วนต่อที่ 2 ร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในความสัมพันธ์นี้ กทม. ไม่ได้มีมีความสัมพันธ์ใดๆ ต่อบีทีเอสโดยตรง
ธงทองยังอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า 1. ความสัมพันธ์ของ กทม. และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นสัญญาที่มีการเขียนไว้ มีการตกลงค่าใช้จ่าย และมีภารกิจอย่างชัดเจน ว่า กทม. จะชำระเงินให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เมื่อใด โดยที่ให้อิสระในการว่าจ้างการเดินรถอย่างเต็มที่
- สภากรุงเทพมหานคร รับรู้ เห็นชอบในเรื่องนี้ ส่วนต่อขยายเส้นที่ 1 สัญญามีความสมบูรณ์แบบ กทม. ได้ทำสัญญากับบีทีเอส และหนี้ก้อนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงมีความผูกพันถึง กทม.
ธงทองกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องมีการเจรจาและพูดคุยกันต่อจากนี้คือ จำนวนหนี้ที่มีอยู่ มีปริมาณแค่ไหน หากมีการตกลงและทราบว่ามีหนี้เท่าไรนั้น จะมีวิธีการจ่ายอย่างไร เมื่อดูถึงรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 นั้นมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ธงทองยังเปรียบสัญญารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 ว่าเป็น ‘หนังสือมอบหมายงาน’ ที่มีการเขียนข้อความว่า การมอบหมายงานครั้งนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าไปดำเนินงาน แต่ไม่ได้เป็นตัวแทน กทม. แต่อย่างใด กทม. ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.)
“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการอภิปราย หากผ่านส่วนนี้ไปได้ มีทางเลือก 2 ทางคือ หนี้ก้อนนี้ไม่ได้มีความผูกพันกับ กทม. โดยที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้ามีการแปลความหมายของหนังสือดังกล่าวแล้วพบว่ามีความผูกพันไปถึง กทม. ก็จะกลับไปเหมือนสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 โดยหนี้จะเป็นของ กทม. ไปด้วย” ธงทองกล่าว
ธงทองกล่าวอีกว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจของ กทม. โดยมีสถานะที่มีความคลุมเครือ และไม่เหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ เพราะบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีปัญหามาโดยตลอด พร้อมระบุอีกว่าความสงสัยนี้ กทม. ได้ส่งหนังสือไปถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจสอบว่าเรื่องนี้ต้องดำเนินต่อไปอย่างไร โดยมีความเป็นไปได้ว่า หากมีการพูดคุยกันแล้วไม่ได้ข้อสรุป อาจต้องส่งต่อเรื่องนี้ต่อสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา
ธงทองยังมองว่า การทำงานของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น มีความต้องการทำงานโดยความรวบรัด และเร็ว ดังนั้นหากต้องการทำแบบเดิม คือต้องมีการผ่าน สภา กทม. แต่หนังสือมอบหมายงานครั้งนี้ทำด้วยกระดาษ 1 ใบ แต่เพราะเหตุใดจึงต้องการความรวดเร็วนั้น เรื่องนี้ตนเองก็ไม่ทราบ
ส่วนเหตุที่การจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 1 มีสัญญาถึงปี 2572 และส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ที่มีสัญญาถึงปี 2585 นั้น ในเรื่องนี้เกิดการตั้งคำถามต่อประชาชนทุกคน รวมถึงตนเองด้วย ซึ่งมีคำอธิบายที่ยังรอการพิสูจน์ หากมีการต่อสัญญาในส่วนต่อขยายที่ 1 ในระยะสั้น อาจทำให้ค่าจ้างแพง หากระยะยาวอาจทำให้ค่าจ้างเดินรถถูกลง แต่เรื่องนี้ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเลข ผ่านความเห็นจากที่ปรึกษา หากข้อมูลเรื่องนี้เป็นความจริง และปรากฏเรื่องนี้ในการเจรจาด้วย
“เมื่อดูเส้นทางการเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 นั้นไม่ได้ยาวนัก จึงมีการเชื่อมต่อกับส่วนขยายที่เป็นการเดินรถเส้นทางเดิม หรือส่วนไข่แดงที่มีอยู่แล้ว หากไม่จ้างบีทีเอสเพราะคิดว่ามีรางในการเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 นั้น จะทำให้การเดินรถวิ่งได้ในช่วงสั้นๆ หาขบวนและเดินรถเองเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มทุน โดยมองว่าเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผลและสามารถอธิบายได้ แต่ผมยังมีคำถามสงสัยว่า เพราะเหตุใดสัญญาจึงไม่จบที่ปี 2572 แต่ไปจบที่ปี 2585 หากสัญญาจบที่ปี 2572 เหมือนกัน ตกเป็นทรัพย์สินของ กทม. อาจเพิ่มทางเลือกในการหาผู้ประกอบการได้” ธงทองกล่าว
สำหรับแนวทางการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ธงทองระบุว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ โดยแบ่งโจทย์ออกเป็น 3 ระยะ คือ เป็นหนี้ของใคร มีความผูกพันต่อใครบ้าง และเป็นลูกหนี้ร่วมหรือไม่ หรือบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นลูกหนี้เพียงผู้เดียว เมื่อทราบว่าใครเป็นลูกหนี้แล้ว จำนวนเงินเท่าไร และจ่ายอย่างไร และหาเงินจากไหน อยู่ในระหว่างทำการบ้าน
ส่วนกรณีการไม่ได้บรรจุค่าจ้างการเดินรถของส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม. นั้น ธงทองระบุว่า เรื่องนี้ กทม. เงียบๆ เพราะหนี้ส่วนนี้ กทม. ไม่ได้มีความผูกผันโดยตรง ที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้มีชื่อเสียงเรื่องการเบี้ยวหนี้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ขอให้หนี้ก้อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของ กทม. ด้วย
ธงทองยังกล่าวถึงสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถเปิดสัญญาระหว่าง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ว่า เรื่องนี้ไม่น่ามีอะไร ตนเองไม่ใช่นักเทคนิคใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องนี้ส่วนตัวคิดว่าไม่มีอะไรนอกเหนือจากตัวเลขที่ต้องนำไปสู่คำอธิบาย ที่มีการสร้างความเข้าใจได้ว่า ตัวเลขเหล่านั้นมีวิธีคิดอย่างไร และอยู่บนสมมติฐานใดบ้าง
“บางครั้งการเปิดเผยสัญญาอาจทำให้เกิดความสงสัยหากเปิดสัญญามา พร้อมคำอธิบายที่เขียนแบบนี้ แปลว่าอย่างไร การเปิดสัญญาใช่ว่าทุกคนจะสนุก คิดได้หลายแง่ ตรงกันข้ามหากเปิดสัญญามาตรงจุด พร้อมคำอธิบายเข้าใจง่าย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่า” ธงทองกล่าว
ธงทองยอมรับว่าได้เห็นสัญญาระหว่าง กทม. และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด แล้ว รายละเอียดค่อยข้างเยอะ หนี้ทั้งหมดจะกระทบต่อชีวิตคน กทม. แค่ไหนนั้น ได้มีการจัดจ้างทีมที่ปรึกษาเพื่อรวบรวมตัวเลข และมีการเปรียบเทียบชุดข้อมูลเมื่อ 10 ที่แล้ว กับข้อมูลชุดปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการเจรจา ได้ตั้งเป้าในการเจรจาเพื่อลดราคาโดยสารต่อไป ซึ่งส่งผลดีต่อประชาชนด้วย
ธงทองได้กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางการแก้ไขต่อจากนี้ คือต้องสร้างความชัดเจนในความผูกพันระหว่าง กทม,. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ บีทีเอส อีกประเด็นคือ หนี้ที่เกิดขึ้นมีจำนวนเท่าใด และต้องชำระอย่างไร รวมถึงพูดคุยถึงอนาคตต่อจากนี้ว่า มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นอย่างใด และต้องคำนวณอย่างไร ซึ่งรวมไปถึงการคิดค่าแรกเข้าต่างๆ ด้วย