ช่วงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจละมุน (Soft Power) กำลังเป็นกระแสอย่างมากในประเทศไทย โดยรัฐบาลมีการประกาศนโยบายอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ด้วยการแนะนำหน่วยงานรัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชน ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต ศิลปิน บุคลากรเบื้องหลัง เพื่อผลักดันให้ Soft Power เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
พร้อมมีการผลักดันวัฒนธรรมไทยให้เป็น Soft Power นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกกระทรวงสำรวจและขับเคลื่อน Soft Power เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงวัฒนธรรมไทยสู่สากล โดยมีการประกาศส่งเสริมวัฒนธรรม 5 F ที่เป็น Soft Power ของไทยให้กลายเป็นสินค้าทางส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย รัฐบาลเล็งเห็นว่าด้วยเอกลักษณ์-วัฒนธรรมไทย เป็นรากฐานที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถสะท้อนผ่านอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม บันเทิง เพลง ภาพยนตร์ และสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะความพยายามที่จะยกระดับความเป็นท้องถิ่นให้กลายเป็น Soft Power ที่จะทำให้ไทยเป็นที่รู้จัก และได้รับแต่คำถามคือ 5 F คือ Soft Power จริงๆ หรือไม่ ก่อนที่เราจะผลักดันแนวคิดเหล่านี้เราต้องกลับไปทำความเข้าใจความหมายของ Soft Power ที่แท้จริงเสียก่อน
ภาพที่ 1 รัฐบาลผลักดัน 5 F
ภาพ: Thaigov.go.th
ความหมายของอำนาจละมุน (Soft Power)
ก่อนที่จะเข้าใจคำว่า Soft Power ต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ‘อำนาจ’ ก่อน อำนาจคือสิ่งที่มองไม่เห็นความหมายตรงตัวคือการสั่งการหรือการบังคับ อำนาจคือความสามารถที่ทำให้ผู้อื่นยอมประพฤติหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างตามที่ตนต้องการ แต่อำนาจก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการบงการเสมอไปหากปราศจากความร่วมมือจากเป้าหมายที่ตนต้องการ จึงทำให้การใช้อำนาจแบบการบังคับ (Coercion) ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น บางประเทศเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เพียบพร้อมทั้งอำนาจทางการทหาร เศรษฐกิจ ประชากร และความมั่นคงทางสังคมที่มีมากกว่าเวียดนามในช่วงสมัยสงครามเย็น (1945-1991) แต่ก็ยังแพ้สงครามเวียดนาม ต่อเนื่องหลังจากสงครามเย็นอเมริกากลายเป็นอภิมหาอำนาจ (Superpower) ในปี 2001 ก็ยังประสบความล้มเหลวในการป้องกันเหตุการณ์การก่อร้าย 9/11 ปัจจุบันสหพันธรัฐรัสเซียที่พยายามที่จะใช้อำนาจทางการทหารที่มีมากกว่ายูเครนมากหลายเท่ามาตั้งแต่ต้นปี 2022 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การใช้กองกำลังทหารหรือกำลังทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าเพื่อได้ในสิ่งที่ต้องการลักษณะนี้ คืออำนาจกระด้าง (Hard Power) ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกันดีในการเมืองโลก
อย่างไรก็ตามอำนาจอีกหนึ่งชนิดที่เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงคือพฤติกรรมในเวทีการเมืองโลกโดยไม่ต้องใช้การบังคับ เช่น วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ ที่เราเรียกว่า Soft Power ซึ่งอำนาจดึงดูดที่ทำให้ความต้องการของเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยไม่ใช้การบังคับแบบ Hard Power ที่จะนำเป้าหมายไปสู่การกลืนกลายชนะใจ (Co-optive) ให้ทำตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ลักษณะที่เหมือนกันของอำนาจทั้ง 2 รูปแบบ คือการที่ทำให้เป้าหมายมีพฤติกรรมตามที่ตนต้องการ แต่จะแตกต่างกันที่ลักษณะการใช้แหล่งทรัพยากรทางอำนาจ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ
สำหรับแหล่งทรัพยากรการสร้างอำนาจแบบ Soft Power จะมาจาก 3 แหล่งหลักๆด้วยกัน คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ เราจะมาเริ่มในเรื่องมุมมองของวัฒนธรรม
วัฒนธรรม (Culture) คือชุดความคิดและการปฏิบัติตามที่สร้างความหมายในสังคมใดสังคมหนึ่ง เช่น วรรณกรรม ศิลปะ การศึกษา ที่เป็นกระแสนิยมทั่วโลก ที่จะมีการนำเสนอผ่านทางสื่อบันเทิงต่างๆ เช่นภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีการนำเสนอค่านิยมแบบอเมริกัน ในการสร้างภาพให้ตนเป็นผู้พิทักษ์โลก และการสร้างตัวร้ายที่เป็นประเทศคู่แข่งที่ขัดต่อค่านิยมเสรีภาพแบบอเมริกัน เช่น ภาพยนตร์หลายเรื่องที่มักจะถ่ายทอดภาพลักษณ์ว่ารัสเซีย เกาหลีเหนือ จีน เป็นผู้ร้าย วัฒนธรรมการแต่งตัวแบบในภาพยนตร์อเมริกันย้อนยุคหลายเรื่องที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมจนต้องเริ่มใส่กางเกงยีนส์ยี่ห้อ Levi Strauss กันไปทั่วโลก
ค่านิยมทางการเมือง (Political Value) ซึ่งหมายถึงค่านิยมทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งต้องสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ที่จะสามารถทำให้ Soft Power ของประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้น เช่น ค่านิยมสิทธิเสรีภาพของการเลือกการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งกระแสทั่วโลกยอมรับ เช่นกฎหมายสมรสเท่าเทียม (Same-Sex Marriage) ความเท่าเทียมทางด้านสังคม (Social Equality) หรือเสรีภาพในการแสดงทางความคิดเห็น (Freedom Speech) ที่สังคมในหลายประเทศเรียกร้องอยู่เสมอ และสุดท้ายคือ
นโยบายการต่างประเทศ (foreign policy) ในการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้มีจุดยืนการขยายอำนาจที่ไม่ได้แข็งกร้าว และเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความคงที่ให้กับ Soft Power เช่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เกาหลีใต้ได้เน้น Soft Power ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อยกระดับสถานะของประเทศ และได้มีการดำเนินงานภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการของประธานาธิบดีว่าด้วยภาพลักษณ์ของชาติขึ้น เพื่อรับผิดชอบบูรณาการนโยบาย Soft Power ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งรัฐบาลได้มีการผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจังโดยผลักดันแผนนโยบายฟื้นฟูวัฒนธรรม (Hallyu Industry Support Development Plan) ซึ่งใช้วัฒนธรรมเกาหลีและความเป็นเกาหลีควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ โดยการใช้สินค้าและการบริการของเกาหลีเป็นตัวส่งออก ซึ่งได้ผลดีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยอุตสาหกรรมหลักที่เกาหลีใต้ใช้เป็นเครื่องมือ เช่น สื่อบันเทิงประเภทละครและเพลง K-Pop ที่มีศิลปินซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย จนทำให้เป็นที่ยอมรับและกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทในระดับการเมืองโลก อย่างเช่น วง BTS ได้รับความนิยมจนได้ขึ้นเวทีสหประชาชาติในฐานะตัวแทนปราศรัยบนเวที UN ที่นิวยอร์ก ประเด็นอนาคตคนหนุ่มสาวยุคโควิด และองค์การสหประชาชาติได้ประกาศชื่อวงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ ‘BLACKPINK’ เป็นผู้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Advocate)
ภาพที่ 2 BTS ไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 76 ที่มหานครนิวยอร์ก
ภาพ: คริสตอฟเฟอร์ สเวนซัน
ภาพที่ 3 สาว BLACK PINK
ภาพ: www.kpoppost.com
การผลักดัน Soft Power ในระดับท้องถิ่น
จากการผลักดันนโยบายล่าสุดดังกล่าวในระดับท้องถิ่น เช่นระดับวัฒนธรรมจังหวัด ในการตามหา Soft Power ที่มีการผลักดันวัฒนธรรมท้องถิ่นตามนโยบาย 5 F (Films, Food, Fashion, Fighting, Festival) ได้แก่ ภาพยนตร์ อาหาร การแต่งกาย การต่อสู้ และเทศกาล เช่น ผ้าพื้นเมือง หมอลำ ประเพณีสำคัญต่างๆ ในท้องถิ่น ที่แสดงถึงตัวตนและอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่งดงาม ในการดำเนินนโยบายนี้ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นตื่นตัวที่จะนำเสนอวัฒนธรรมชุมชนขึ้นอีกมากมาย
ซึ่งจากทฤษฎีและกรณีศึกษาที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ ‘ทรัพยากร’ ที่ยังไม่ถือว่าเป็น Soft Power อย่างเต็มตัว เพราะมันยังเป็นทรัพยากรท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับการ ‘แปรรูป’ ให้เข้ากับกระแสที่โลกต้องการ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับวัตถุดิบที่ยังไม่ได้รับการแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก และอีกประการก็ยังไม่มีนโยบายที่จะนำเสนอวัฒนธรรมเหล่านี้ให้เป็นทิศทางเดียวกัน ซึ่งการดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับกระแสโลก การที่จะทำให้ Soft Power ระดับท้องถิ่นประสบความสำเร็จ มิใช่เพียงรัฐบาลแค่ต้องการตามหาว่าพื้นที่นั้นมีทรัพยากรอะไรแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านี้เองก็เป็นที่ยอมรับในท้องถิ่นและบางส่วนของประเทศไทยอยู่แล้ว
ดังนั้นรัฐบาลต้องมีหน้าที่ในกำหนดเป้าหมายในการยกระดับ Soft Power ให้เป็นระดับสากลที่ชัดเจน ซึ่งการที่รัฐเกาหลีใต้จะพาอุตสาหกรรมมาถึงจุดที่เห็นในปัจจุบันได้ใช้เวลานับทศวรรษ ในการสำรวจตลาดจนทำให้ทั่วโลกสามารถยอมรับ Soft Power ของเกาหลีใต้ การได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ มิใช่การเกาะกระแสแล้วปล่อยให้เงียบหายไปเพราะ Soft Power ไม่ใช่อะไรที่ถาวร
รัฐบาลต้องมีความเข้าใจกระบวนการในการสร้าง Soft Power ที่ต้องสอดคล้องกับค่านิยมทางสังคมและนโยบายต่างประเทศ และสนับสนุนเปิดเสรีภาพทางการแสดงให้ภาคเอกชนระดับท้องถิ่นสร้าง Soft Power ผ่านในรูปแบบต่างๆ หากเรามาลองพิจารณากระแสการแต่งชุดไทยโบราณละคร บุพเพสันนิวาส ที่ทำให้นักท่องเที่ยวแห่กันแต่งชุดไทยมาท่องเที่ยวอยุธยามากขึ้น หรือการกินข้าวเหนียวมะม่วงที่เวที Coachella ของนักร้องสาว MILLI ที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักข้าวเหนียวมะม่วง หมอลำ Fusion ที่จัดที่ร้าน Impression Sunrise ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่น หรือภาพยนตร์ Memoria ของ ‘เจ้ย อภิชาติพงศ์’ เข้าชิงเทศกาลหนังเมืองคานส์ 2021 ที่ได้รับคำวิจารณ์แรกที่ยอดเยี่ยมจากสื่อโลก
คำถามต่อการตื่นตัวของวัฒนธรรมไทยเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลพยายามที่จะสร้างมาตลอดขึ้นหรือไม่ อาจจะเป็นเพียงแค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว
อยากให้ผู้อ่านชวนคิดกันต่อไป เพราะ Soft Power เกิดจากการ ‘ถูกสร้าง’ อย่างเป็นระบบ ไม่ได้มาเพราะ ‘โชคช่วย’
ภาพที่ 4 การแสดงฟ้อนรำตังหวาย และผ้าพื้นเมือง
ภาพ: กองกลางสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ภาพที่ 5 การแสดงหมอลำผสมผสานกับดนตรีสากล
ภาพ: Impression Sunrise
อ้างอิง:
- Nye, Jr., Joseph S. (2004). Soft Power: The Means to Success in World Politics. New York: PublicAffairs.
- https://www.sdgmove.com/2021/09/20/blackpink-new-sdg-advocates/
- https://tdri.or.th/2022/04/soft-power-thai/