แม้โควิดจะระบาดมากว่า 2 ปีแล้ว แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเดินหน้าศึกษาหาต้นกำเนิดของไวรัสตัวร้ายต่อไป ล่าสุดวารสารวิชาการได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยใหม่ 2 ฉบับ ที่ใช้แนวทางการวิจัยที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ได้ข้อสรุปตรงกันว่า ตลาดอาหารทะเลหัวหนานในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน น่าจะเป็นศูนย์กลางการเกิดไวรัสชนิดนี้มากที่สุด ไม่ใช่การรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการ
ต้นฉบับงานวิจัย (Preprint) 2 ชิ้นดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องแล้ว (Peer Review) และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (26 กรกฎาคม)
ในงานวิจัยชิ้นแรก นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกใช้เครื่องมือทำแผนที่และอาศัยรายงานข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย เพื่อวิเคราะห์เชิงพื้นที่และสภาพแวดล้อม จนได้ข้อสรุปว่า ถึงแม้ ‘พฤติการณ์ที่แน่นอนยังคงไม่ชัดเจน’ แต่ไวรัสน่าจะอยู่ในสัตว์มีชีวิตที่ถูกขายในตลาดช่วงปลายปี 2019 โดยสัตว์เหล่านี้อยู่ใกล้กันและสามารถแพร่เชื้อโรคได้ง่าย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยไม่ได้ระบุว่าเป็นสัตว์ชนิดใด
นักวิจัยระบุว่า ผู้ป่วยโควิดรายแรกๆ อยู่ในกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า หรือผู้ที่มาซื้อสัตว์ที่ตลาด และเชื่อว่ามีไวรัส 2 ตัวแยกจากกัน โดยไวรัส 2 ตัวนี้แพร่เชื้ออยู่ในกลุ่มสัตว์ก่อนแพร่กระจายสู่คน
“ผู้ป่วยโควิดทั้ง 8 รายที่ตรวจพบก่อนวันที่ 20 ธันวาคม มาจากฝั่งตะวันตกของตลาด ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วย” ผลการศึกษาระบุ พร้อมทั้งคาดว่า แผงขายสัตว์ 5 แผงที่ตั้งอยู่ติดๆ กัน อาจเป็นแหล่งที่มาของการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน
“คลัสเตอร์นี้มีความเฉพาะเจาะจงมาก” ศ.คริสเตียน แอนเดอร์เซน จากภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาและจุลชีววิทยา สถาบันวิจัย Scripps Research ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ไมเคิล โวโรบีย์ หัวหน้าภาควิชานิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยแอริโซนา ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า จากการทำแผนที่กลุ่มผู้ติดเชื้อรายแรกๆ พบรูปแบบการติดเชื้อที่ไม่ธรรมดา โดยนักวิจัยทำแผนที่กลุ่มผู้ติดเชื้อรายแรกๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตลาด กับกลุ่มที่อาศัยหรือทำงานใกล้กับตลาด
“นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ไวรัสเริ่มแพร่กระจายในกลุ่มคนที่ทำงานที่ตลาด จากนั้นจึงเริ่มแพร่กระจายไปยังชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ เมื่อพ่อค้า-แม่ค้าเข้าไปในร้านค้าในท้องถิ่น และนำเชื้อไปติดคนที่ทำงานในร้านค้าเหล่านั้น” โวโรบีย์กล่าว
ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งใช้วิธีการศึกษาระดับโมเลกุล และดูเหมือนจะชี้ชัดได้ว่า ไวรัสข้ามจากสัตว์สู่คนครั้งแรกเมื่อใด
งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าโควิดเวอร์ชันแรกสุดอาจมาจากสายพันธุ์ที่ต่างกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่าสายพันธุ์ A และ B โดยการที่มีไวรัสต่างกัน 2 สายนั้นเป็นผลมาจากการการติดเชื้อข้ามสปีชีส์สู่มนุษย์อย่างน้อย 2 กรณี
นักวิจัยเชื่อว่า การแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนครั้งแรกอาจเกิดขึ้นประมาณวันที่ 18 พฤศจิกายน 2019 และมาจากสาย B ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบในกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับตลาดหัวหนาน ส่วนสายพันธุ์ A ถูกแพร่จากสัตว์สู่คนภายในไม่กี่สัปดาห์หรืออาจไม่กี่วันหลังเกิดการติดเชื้อจากสายพันธุ์ B ทั้งนี้ สายพันธุ์ A พบเฉพาะในตัวอย่างจากคนที่อาศัยหรืออยู่ใกล้ตลาดเท่านั้น
“ผลการวิจัยเหล่านี้บ่งชี้ว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ SARS-CoV-2 จะแพร่กระจายวงกว้างในมนุษย์ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2019 และกำหนดกรอบเวลาแคบๆ ระหว่างเวลาที่ SARS-CoV-2 แพร่สู่มนุษย์ครั้งแรกกับเวลาที่มีการรายงานพบผู้ป่วยโควิดรายแรก” งานวิจัยระบุ “เช่นเดียวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นๆ การอุบัติขึ้นของ SARS-CoV-2 น่าจะเป็นผลมาจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนหลายกรณี”
โจเอล เวิร์ตไฮม์ รองศาสตราจารย์สมทบด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ ยอมรับว่า โอกาสที่ไวรัสหนึ่งๆ จะอุบัติขึ้นจาก 2 เหตุการณ์ที่แตกต่างกันนั้นมีความเป็นไปได้น้อย
แอนเดอร์เซนกล่าวว่า การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้หักล้างทฤษฎีที่ว่าไวรัสรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการ แต่ข้อมูลที่ค้นพบนั้นโน้มน้าวใจอย่างยิ่ง จนทำให้เขาเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโควิด
“ก่อนหน้านี้ตัวผมเองค่อนข้างมั่นใจว่าไวรัสรั่วไหลจากห้องแล็บ จนกระทั่งเราเจาะลึกเรื่องนี้อย่างระมัดระวังและพิจารณาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น จากข้อมูลและการวิเคราะห์เกี่ยวกับไวรัสอื่นๆ อีกมากมายที่ผมได้ศึกษามาตลอดช่วง 10 ปี ผมเชื่อว่าข้อมูลชี้ไปที่ตลาดแห่งนี้จริงๆ” แอนเดอร์เซนกล่าว
ด้านโวโรบีย์กล่าวว่า เขาเองก็เคยคิดว่าไวรัสอาจรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการ แต่หลักฐานการเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับตลาดแห่งนี้ “ไม่ใช่ภาพลวงตา”
“มันเป็นเรื่องจริง” เขากล่าว “มันไม่น่าเป็นไปได้ที่ไวรัสนี้ถูกนำเข้ามาด้วยวิธีอื่นนอกจากการค้าสัตว์ป่า”
เพื่อลดโอกาสของการแพร่ระบาดในอนาคต นักวิจัยหวังว่าพวกเขาจะสามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าสัตว์ชนิดใดที่ติดเชื้อเป็นตัวแรกและติดมาได้อย่างไร
เวิร์ตไฮม์กล่าวว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องปรับปรุงการเฝ้าระวังสัตว์และภัยคุกคามอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์
ขณะที่แอนเดอร์เซนกล่าวว่า ถึงแม้เราไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ แต่ความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอาจเป็นกุญแจให้เราค้นพบความแตกต่างระหว่างโรคที่ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยกับโรคที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้าน
“คำถามใหญ่ที่เราต้องถามตัวเองคือ ครั้งต่อไปที่สิ่งนี้เกิดขึ้น เราจะทำอย่างไรจึงจะตรวจพบการระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ และป้องกันเพื่อไม่ให้กลายเป็นโรคระบาดใหญ่”
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: