×

จากฮอลลีวูดถึงคนหน้าหมี สู่ความเข้าใจการคุกคามทางเพศ

29.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ความเสมอภาคทางเพศเป็นมิติหนึ่งของสิทธิมนุษยชนว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางสิทธิและโอกาสของเพศต่างๆ ทั้งการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการตัดสินใจ
  • มิติหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีเชื้อชาติใด เตี้ย สูง ดำ ขาวอย่างไร ควรได้รับการเคารพเฉกเช่นเดียวกัน
  • รายการ คนหน้าหมี เป็นตัวอย่างที่ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ซึ่งในแง่นี้คือศักดิ์ศรีทางเพศถูกมองข้าม ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว

โลกสังคมออนไลน์ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อรายการ ‘คนหน้าหมี’​ ซึ่งดำเนินรายการโดย โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน และ ดีเจอาร์ต-มารุต ชื่นชมบูรณ์ ตอนแรกถูกอัพโหลดขึ้นบนเว็บไซต์ยูทูบเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าคอมเมนต์ที่มีต่อรายการจะมาจากทั้งฝั่งผู้ชมที่ชอบและไม่ชอบรายการ แต่ดูเหมือนว่ากระแสวิจารณ์ที่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงเนื้อหาหรือยกเลิกรายการจะมากกว่าอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด


อันที่จริงถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ชมจำนวนมากออกมาวิจารณ์รายการที่มีเนื้อหาล่อแหลมและคุกคามทางเพศนี้ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความตระหนักรู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศและศักดิ์ศรีของมนุษย์มากขึ้น


ความเสมอภาคทางเพศเป็นมิติหนึ่งของสิทธิมนุษยชนว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางสิทธิและโอกาสของเพศต่างๆ ทั้งการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการตัดสินใจ


เมื่อการสร้างความเสมอภาคทางเพศกลายเป็นวาระสำคัญของการพัฒนา องค์กรด้านการพัฒนาหลายองค์กรจึงคิดค้นมาตรวัดสำหรับการวัดระดับความเสมอภาคทางเพศขึ้น ซึ่งมาตรวัดที่แต่ละองค์กรใช้นั้นก็แตกต่างกันออกไป เช่น ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเพศ (Gender Inequality Index – GII) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP, คำนวณความเหลื่อมล้ำทางเพศจากสัดส่วนการตายของมารดา, อัตราการคลอดในวัยรุ่น, สัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภา, จำนวนผู้หญิงที่จบการศึกษาอย่างน้อยในชั้นมัธยมศึกษา และการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง


เมื่อเลือกมาเฉพาะปัจจัยที่จับต้องได้เช่นนี้แล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีความเท่าเทียมกันที่สุด แต่ก็อยู่ในช่วงชั้นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้การที่ผู้หญิงได้รับโอกาสให้มีการศึกษาในระดับสูงและเข้าทำงานในอาชีพที่ทัดเทียมกับผู้ชาย จึงทำให้หลายคนไม่เอะใจคิดสงสัยถึงความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนรูปอยู่ในชีวิตประจำวัน


มิติหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีเชื้อชาติใด เตี้ย สูง ดำ ขาวอย่างไร ควรได้รับการเคารพเฉกเช่นเดียวกัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่ควรมีใครถูกทำให้อับอาย ถูกทำให้เป็นวัตถุ (รวมถึงการทำให้เป็นวัตถุทางเพศ) ลดทอนคุณค่า หรือลดทอนความเป็นมนุษย์


แม้ว่าแนวคิดเหล่านี้จะดูคอมมอนเซนส์จนหลายคนอาจคิดว่า แหม เรื่องพวกนี้ใครๆ ก็รู้ แต่ในความเป็นจริง การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อาจสอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมและในชีวิตประจำวันจนยากที่จะหยั่งรู้ได้


รายการ คนหน้าหมี เป็นตัวอย่างที่ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ซึ่งในแง่นี้คือศักดิ์ศรีทางเพศถูกมองข้าม ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมที่มองว่าแซวกันเองขำๆ ไม่ได้คิดจริง ไม่มีการล่วงเกินทางกายภาพ ตามสโลแกนของรายการที่บอกว่า ‘สัญญาจะไม่โดนตัวน้องเค้าเลย’ ไม่ใช่การล่วงละเมิดทางเพศ


แต่ในความเป็นจริง เพียงคำพูดเช่น “ทำไมช่วงนี้ดูปอดบวมๆ ครับ” หรือแม้แต่การเอาโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแอบถ่ายหน้าอกของผู้ร่วมรายการก็เข้าข่ายคุกคามทางเพศเช่นเดียวกัน ถึงตรงนี้คงมีหลายคนตั้งคำถามว่า เจ้าตัวที่ถูกแซวยังไม่รู้สึกอะไรเลย จะไปรู้สึกแทนเขาทำไม


ก็คงต้องตอบว่า แน่นอนว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะเลือกใส่อะไรก็ได้ตามแนวคิดสิทธิเหนือเรือนร่างของตัวเอง แต่คำถามที่ตามมาคือการแต่งตัวเช่นนี้คือการยินยอมให้ถูกพูดจาลามกอนาจารใส่อย่างไรก็ได้จริงหรือ เพราะตรรกะเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับที่บอกว่า หากผู้หญิงแต่งตัวไม่เรียบร้อยก็เท่ากับเป็นการยินยอมให้ถูกข่มขืน


อันที่จริงคำถามที่น่าจะสำคัญที่สุดก็คือ รายการ คนหน้าหมี ต้องการสื่อสารอะไรกับสังคม และมองบทบาทความรับผิดชอบของตัวเองต่อผู้บริโภคอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่สังคมนานาชาติ รวมถึงภาคธุรกิจบันเทิงอย่างฮอลลีวูดกำลังรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการคุกคามทางเพศและความเสมอภาคทางเพศอย่างกว้างขวาง


มองอีกแง่หนึ่ง อันที่จริงรายการนี้ก็มีคุณูปการ (ที่อาจไม่จำเป็น) อยู่บ้าง นั่นคือเป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงเรื่องความเสมอภาคทางเพศ การทำให้กลายเป็นวัตถุทางเพศ และการคุกคามทางเพศอย่างกว้างขวาง โดยการถกเถียงเช่นนี้ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำความเข้าใจกับแนวคิดเช่นนี้เพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ขอเพียงอย่างเดียวคืออย่าจบการถกเถียงในประเด็นนี้ด้วยวลีคุ้นหูที่ว่า ‘ไม่ชอบก็ไม่ต้องดู’ เพราะแน่นอนว่าวัฒนธรรมการทำให้เพศหญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศ (ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์ของสังคมเท่าใดนัก

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X