เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 2Q65 ของ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ซึ่งคาดว่าจะรายงานผลประกอบการวันที่ 11 สิงหาคม 2565
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น ERW ปรับตัวลดลง 7.65%MoM อยู่ที่ระดับ 3.62 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลดลง 0.83%MoM อยู่ที่ระดับ 1,555.74 จุด
พรีวิวผลประกอบการ 2Q65:
SCBS คาดว่า ERW จะรายงานขาดทุนสุทธิ 131 ล้านบาทใน 2Q65 หากตัดกำไรพิเศษ ซึ่งประเมินได้ที่ 50 ล้านบาท จากการขายโรงแรม 3 แห่ง (ibis Styles Krabi, ibis Kata และ ibis Hua Hin) ออกไป คาดว่าจะมีขาดทุนปกติ 181 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากขาดทุนปกติ 559 ล้านบาทใน 2Q64 และ 315 ล้านบาทใน 1Q65
ทั้งนี้ หลังจากไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยก็เร่งตัวขึ้นจาก 2.93 แสนคนในเดือนเมษายน สู่ 7.10 แสนคนในเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยภาพรวมที่เป็นบวกเช่นนี้ SCBS จึงใช้สมมติฐานว่าอัตราการเข้าพัก (ไม่รวมกลุ่มโรงแรมชั้นประหยัด HOP INN) จะเพิ่มขึ้นสู่ 55% ใน 2Q65 (เทียบกับ 13% ใน 2Q64 และ 31% ใน 1Q65)
ส่วนอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (ARR) จะเพิ่มขึ้น 57%YoY และ 15%QoQ ซึ่งจะส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องที่มีทั้งหมด (RevPAR) ปรับตัวดีขึ้นสู่ 67% ของระดับก่อนเกิดโควิด (เทียบกับ 23% ใน 1Q65)
สำหรับ HOP INN คาดว่า RevPAR สำหรับโรงแรมในประเทศไทยจะปรับตัวดีขึ้นสู่ 106% ของระดับก่อนเกิดโควิด (เทียบกับ 93% ใน 1Q65) และสำหรับฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้นสู่ 73% ของระดับก่อนเกิดโควิด (เทียบกับ 63% ใน 1Q65)
แนวโน้มผลประกอบการปี 2565:
SCBS คาดว่าโมเมนตัมผลประกอบการยังแข็งแกร่งต่อเนื่องใน 2H65 เนื่องจากอัตราการเข้าพัก (ไม่รวม HOP INN) อยู่ที่ราว 62% ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น MoM หลังจากประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ด้วยการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางทั้งหมด ซึ่งรวมถึงระบบ Thailand Pass และการประกันโควิด
ขณะที่ ERW เปิดเผยว่าความต้องการจัดอีเวนต์ เช่น งานสัมมนาและงานเลี้ยง เพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นและข้อจำกัดต่างๆ ลดน้อยลง
อย่างไรก็ดี SCBS มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ ERW และเลือกเป็นหนึ่งในหุ้นเด่นในกลุ่มท่องเที่ยว โดยมีการปรับประมาณการผลประกอบการเพิ่มขึ้นสู่ขาดทุนปกติ 539 ล้านบาทในปี 2565 (จากเดิมที่คาดการณ์ขาดทุนปกติ 1.1 พันล้านบาท) จากนั้นคาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรปกติ 123 ล้านบาท ในปี 2566 (จากเดิมที่คาดการณ์ขาดทุนปกติ 20 ล้านบาท) และ 566 ล้านบาท ในปี 2567 (เพิ่มขึ้น 32%) กลับมาสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดได้
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อผลประกอบการที่ต้องติดตาม คือ 1. ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการเดินทาง, 2. ต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร และ 3. อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
SCBS ใช้สมมติฐานว่าต้นทุนหนี้สินโดยเฉลี่ยของ ERW จะเพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปี 2565 สู่ 3.3% ในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 50bps) หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยราว 80% ของ ERW มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
ซึ่งจากการทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหวซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลประกอบการของ ERW ราว 70 ล้านบาท หรือ 57% ของประมาณการปี 2565 และ 12% ของประมาณการปี 2566
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP