นักลงทุนทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจกับแนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืน ( กองทุน ESG ) อย่างต่อเนื่องจนเริ่มเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพว่ามันสำคัญแค่ไหน แล้วจะมีส่วนผลักดันอุตสาหกรรมการลงทุนได้อย่างไร จะช่วยสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาวได้จริงหรือไม่ และที่สำคัญจะเหมาะกับแผนกองทุนเพื่อการเกษียณของเราอย่างไร
ปัจจุบันหลายธุรกิจได้ให้บทบาทความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนภายในองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน โดยได้นำประเด็นผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนมาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุน ส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกทยอยออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน แต่ด้วยการเติบโตของการลงทุนแบบยั่งยืนที่เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าเงินลงทุนเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ถูกนำไปช่วยสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งก่อให้เกิด ‘การฟอกเขียว’ ได้
การฟอกเขียว หรือ Greenwashing คือการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป็นเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขายโดยไม่ได้มีการทำจริง เราในฐานะนักลงทุนจึงควรตรวจสอบและศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจตามเกณฑ์ ESG โดยการพิจารณาที่ Megatrends หรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้นกับสังคมและระบบเศรษฐกิจ ก็จะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนอย่างยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้น เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (Climate Change) การให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะ (Waste Management) หรือการให้ความสำคัญกับการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Employment) เป็นต้น และเมื่อนักลงทุนเห็นภาพที่ชัดเจนว่าบริษัทใดหรืออุตสาหกรรมใดจะได้ประโยชน์หรือได้รับผลกระทบต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้นักลงทุนสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับประมาณการตัวเลขทางการเงินของบริษัทให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังคงมีนักลงทุนหลายคนที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับลงทุนแบบยั่งยืน จึงทำให้พลาดโอกาสการลงทุนที่ดีอีกทางหนึ่งไป ซึ่งจริงๆ แล้วการลงทุนประเภทนี้
- ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสการลงทุนระยะสั้นแต่จะคงมีบทบาทมากขึ้นด้วยความสนใจของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนอย่างยั่งยืนเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
- ไม่ใช่เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำ แต่อาจช่วยเพิ่มโอกาสด้านผลตอบแทนในระยะยาว และลดความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนได้ โดยจากรูปด้านล่าง จะเห็นว่าการเปรียบเทียบผลตอบแทนของดัชนี MSCI All Country Word Index (ACWI) และ MSCI Emerging Markets (EM) แบบที่ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน กับแบบที่คำนึงถึงความยั่งยืนคือ MSCI ACWI ESG Leaders และ MSCI EM ESG Leaders พบว่า ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวผลตอบแทนของดัชนีที่ดูเรื่องความยั่งยืนดูจะได้ผลตอบแทนมากกว่า
- ไม่ใช่การลงทุนที่มีทางเลือกจำกัด เนื่องจากจริงๆ แล้วมีผลิตภัณฑ์หลากหลายพร้อมให้นักลงทุนเลือกลงทุนอย่างยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ESG เช่น รายชื่อหุ้นยั่งยืนใน Thailand Sustainability Investment (THSI), ดัชนี ESG, กองทุนรวมหุ้น ESG, กองทุนรวมหุ้น CG และตราสารหนี้ ESG เป็นต้น
- ไม่มีความซับซ้อนและลงทุนได้ไม่ยาก เนื่องจากมีข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจลงทุนได้
- ไม่ใช่การลงทุนที่เหมาะกับเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่นักลงทุนกลุ่มอื่นๆ ก็ให้ความสนใจมากเช่นกัน
จากการที่การลงทุนประเภทนี้จะสร้างบทบาทสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจไปอีกในระยะยาวหรืออาจจะตลอดไป ดังนั้นการลงทุนประเภทนี้จึงเหมาะกับพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณและยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในการลงทุนแบบยั่งยืนแต่ไม่มีเวลาศึกษาด้วยตนเอง ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมผ่านบริษัทจัดการได้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีให้เลือกลงทุนในกองทุนที่เป็น Megatrend หลากหลายธีมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ธีมกลุ่มเทคโนโลยี ธีมสุขภาพ ธีมพลังงานทดแทน และธีมพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Electric Vehicles and Future Mobility (ชนิดเพื่อการออม) SCBEV(SSF) คลิก ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Clean Energy เพื่อการเลี้ยงชีพ (ชนิดสะสมมูลค่า) SCBRMCLEAN(A) คลิก ที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) หรือกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Healthcare Innovation (ชนิดเพื่อการออม) SCBIHEALTH(SSF) คลิก ที่เน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพเป็นหลัก กองทุนดังกล่าวก็เป็นตัวอย่างของการลงทุนแบบยั่งยืนที่ควรค่าแก่การเลือกสะสมระยะยาวเพื่อสร้างโอกาสให้กับพอร์ตเกษียณในอนาคต
การลงทุนแบบยั่งยืนจึงไม่ใช่เพียงกระแส แต่เป็นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และที่สำคัญ เป็นการลงทุนที่จะช่วยสร้างโลก สร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นต่อไป
อ้างอิง: ภาพจาก SETinvestnow
คำเตือน:
- ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุน RMF/SSF ก่อนตัดสินใจลงทุน กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน
- ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม www.scbam.com
- กองทุนบางกองทุนมิได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันทั้งด้านสินทรัพย์ / ภูมิภาค / ประเทศ / กลุ่มธุรกิจ ราคาของหลักทรัพย์จึงมีความผันผวนตามปัจจัยที่กระทบ กองทุนที่ลงทุนในภูมิภาค / ประเทศ / กลุ่มธุรกิจเดียว จะมีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนที่มีการกระจายการลงทุนมากกว่า
- ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP