วันนี้ (22 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในกรณีการบิดผันกระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่าง และปิดกั้นการใช้เสรีภาพของประชาชน พร้อมเสนอคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษการเมืองทุกคน รวมทั้งคดีอาญามาตรา 112
เบญจาระบุว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประยุทธ์ได้ทำลายทั้งระบบกฎหมายปกติ ระบบนิติรัฐ แล้วสถาปนาระบบกฎหมายชุดใหม่ขึ้นมาแทน โดยมักอ้างกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับประชาชน กลายเป็นการปกครองแบบ ‘Rule by Law’ ผ่านกฎหมายที่เขียนขึ้นเองในรูปแบบประกาศ-คำสั่งของ คสช. และการใช้กฎหมายความมั่นคงต่างๆ ทั้งมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และมาตรา 112 แบบบิดผัน มาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร ควบคุมตัวในค่ายทหาร และดำเนินคดีในศาลทหาร
จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะพบว่า ภายใต้รัฐบาล คสช. มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 2,408 คน และมีผู้ถูกดำเนินคดีจากประกาศ-คำสั่ง คสช. อย่างน้อย 428 คน 67 คดี, มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 197 คน 115 คดี, มีผู้ถูกดำเนินคดีจากมาตรา 116 อย่างน้อย 124 คน 50 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 169 คน
เบญจาระบุต่อไปว่า จากเอกสารหมาย จ.14 ที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ส่งไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อแกนนำผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ที่แนะนำให้พนักงานสอบสวนตีความว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นความผิดตามมาตรา 116 และยังให้ใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารใส่ร้ายแกนนำการชุมนุม และให้ดำเนินคดีโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความยากลำบาก เป็นหลักฐานที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมดในยุค คสช. เป็นคดีนโยบาย
แม้ว่าหลังจากปี 2561 จะมีการเลือกตั้งที่ทำให้สถานการณ์เบาบางลง แต่จากกระแสการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ได้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกครั้งในปี 2563 จึงเกิดการดำเนินคดีการเมืองและการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างบิดเบือนตามนโยบายสมัย คสช. อย่างรุนแรง กว้างขวาง และสร้างความเสียหายร้ายแรงมากกว่าเดิมอย่างมาก
โดยเฉพาะการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้งในลักษณะของคดีนโยบาย มาดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุมหลายบุคคล มีการฟ้องในต่างจังหวัดให้ผู้ต้องหาต้องสู้คดีด้วยความยากลำบาก มีการรื้อฟื้นคดีย้อนหลังไปหลายปี และยังมีการดำเนินคดีไม่เว้นแม้แต่กับเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี หรือเพียงการแสดงออกอย่างการแต่งชุดครอปท็อป
ขณะเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหาด้วยคดีนโยบายตามมาตรา 112 ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่พฤติการณ์เป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสันติ ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ไม่มีพฤติการณ์ที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จนผู้ต้องหาหลายคนอดอาหารประท้วง มีการให้ประกันด้วยเงื่อนไขที่มุ่งริดรอนเสรีภาพ เรียกได้ว่าเป็นการ ‘บีบให้หมอบกราบ แล้วค่อยคลาย’ ซึ่งในระยะหลังการดำเนินคดีโดยไม่ให้ประกันตัวในลักษณะนี้ ยังได้ลามไปถึงคดีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันอีกด้วย
ทำให้คดีการเมืองที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลมีจำนวนสูงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมืองโดยไม่ได้รับการประกันตัวอย่างน้อย 30 คน จากวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,832 คน โดยเป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 282 ราย มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กว่า 200 คน
เบญจาอภิปรายต่อไปว่า การบิดเบือนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อค้ำจุนและรักษาอำนาจทางการเมืองอย่างมีระบบแบบแผน และกลายเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ไม่เพียงแต่จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ยังนำมาซึ่งวิกฤตของสถาบันตุลาการและสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงต้องมีการคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 คืนความปกติให้สังคมไทย ให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ไม่ว่าจะมีความคิด ความเชื่อ และความฝันที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม
“ประยุทธ์ทำให้ประเทศนี้ไม่มีนิติรัฐ ทำให้สถาบันตุลาการเสื่อมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ได้รับการยอมรับและได้รับการต่อต้านมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเพื่อปลดล็อกชนวนระเบิดที่ประยุทธ์สร้างขึ้นมา เราต้องเริ่มต้นด้วยการเอาประยุทธ์ออกไป เปลี่ยนขั้วเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย รับฟังเสียงของทุกคน และนิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับนักโทษและนักต่อสู้ทางความคิดทุกคน” เบญจากล่าว