จากกรณีที่ธนาคารกลาง เมียนมา ออกมาตรการควบคุมเงินทุนบางส่วนของประเทศ โดยระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ รวมทั้งห้ามนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง
บล.เคจีไอ ประเมินว่า ผลกระทบจากการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนบางส่วนของเมียนมา และข้อจำกัดในการทำธุรกรรมปริวรรตเงินตรา จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมาก ขณะที่ผลกระทบต่อบริษัทไทยก็อยู่ในวงจำกัด และสามารถบริหารจัดการได้ โดยส่วนของบริษัทจดทะเบียนไทยมีเพียง 2-3 บริษัทในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มโรงพยาบาล ที่มีรายได้ที่มีนัยสำคัญในเมียนมา
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมีผลค่อนข้างน้อย เนื่องจากการส่งออกไปเมียนมามีสัดส่วนต่ำอยู่ที่เพียง 1.63% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยการส่งออกของไทยไปเมียนมาอยู่ที่ 1.38 แสนล้านบาท ในปี 2564 ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 2.22 แสนล้านบาท โดยการนำเข้าหลักคือก๊าซธรรมชาติ
ในส่วนของหุ้นไทยที่มีธุรกิจในเมียนมาในระดับที่มีนัยสำคัญ และอยู่ภายใต้การศึกษาของ KGI มีเพียง บมจ.โอสถสภา (OSP), บมจ.คาราบาว กรุ๊ป (CBG) และ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) โดย OSP และ CBG มีสัดส่วนยอดขายราว 10-12% แต่มีเพียง OSP ที่มีการตั้งบริษัทร่วมทุน ถือหุ้น 51% สำหรับโรงงานผลิตขวดแก้ว ส่วน BH มีรายได้จากเมียนมา 20% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า ผู้บริหารของ บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) ยืนยันว่าผลกระทบจำกัดจากกรณีที่รัฐบาลเมียนมาห้ามชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ และห้ามนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากบริษัทไม่มีหนี้สกุลดอลลาร์ ขณะที่ยาเป็นสินค้าจำเป็น และยังสามารถนำเข้าได้เป็นปกติ
ส่วนการค้าขายในเมียนมา บริษัทเปลี่ยนรายรับจากเงินจ๊าดเป็นเงินบาทหรือหยวนได้หากจำเป็น นอกจากนี้บริษัทไม่มีสิ่งปลูกสร้างถาวรมากนักในเมียนมา จะมีเพียงคลังสินค้าที่ก่อสร้างมาก่อนหน้านี้ หากประเมินในกรณีเลวร้ายสุดคือ ตัดยอดขายของเมียนมาออก และประเมินมูลค่าหุ้นอิง P/E 26 เท่า จะได้ราคาเป้าหมาย 43 บาท
ขณะที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นคาดว่าจะเป็นลบกับราคาหุ้น MEGA และกระทบต่อผลการดำเนินงานให้ลดลงได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจของเมียนมาที่ย่ำแย่ลงจากการปกครองในปัจจุบัน ส่งผลให้อุปสงค์ในสินค้าลดลง และถูกซ้ำเติมจากประเด็นนี้
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผลกระทบจะจำกัด เนื่องจากสัดส่วนกำไรที่เป็นเงินสดของธุรกิจในเมียนมาอยู่ที่เพียง 20-25% แม้จะมีสัดส่วนรายได้ราว 40% อีกทั้งสินค้าของบริษัทเป็นสินค้าจำเป็น เช่น เวชภัณฑ์ และสินค้าอุปโภค บริโภค นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมายังอนุญาตให้ใช้เงินบาทได้ตามเขตชายแดน หากไม่สามารถใช้สกุลดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ MEGA ถือว่ามีประสบการณ์ยาวนานในเมียนมา จึงคาดว่าจะใช้ความได้เปรียบนี้เอาตัวรอดได้ดีกว่าคู่แข่ง