วันนี้ (20 กรกฎาคม) เวลา 09.20 น. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชี้แจงภายหลัง ประเสริฐ จันทรรวงทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา
จุรินทร์กล่าวว่า ตนชี้แจงไปชัดเจนแล้วเกือบทั้งสิ้น เพียงแต่ท่านมาเติมว่าตั้งแต่วันที่ท่านอภิปรายถึงวันนี้ไม่มีความคืบหน้า และตนไม่กล้าจัดการอะไรกับประธานบอร์ด
ที่ท่านกล่าวหาไม่เป็นความจริง และท่านโกหกกลางสภา แอบอ้างผลงานว่าท่านนำเรื่องไปยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ป.ป.ช. ไต่สวน 22 ราย มีความก้าวหน้าในคดี ป.ป.ช. อันนี้ก็โกหก ไม่จริง ป.ป.ช. ไต่สวนไม่ใช่เอาสำนวนท่านไปไต่สวน ไต่สวนเพราะองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปยื่นแจ้งให้สอบสวนคดีทุจริต และมีความคืบหน้าคาดว่าอาจจะมีมติชี้มูลเร็วนี้ ที่สำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนในแง่ที่ตนจะเป็นผู้ร่วมกระบวนการทุจริต ไม่เคยมีการเรียกตนไปชี้แจง หากเกี่ยวข้องต้องเรียกตนไปชี้แจง ยังไม่เคยมี ขอทำความเข้าใจ
จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ที่ท่านกล่าวหาว่าตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ไม่จริง ทั้งในที่ลับที่แจ้ง ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทันทีที่ทราบเรื่องเข้าไปบริหารจัดการมีความคืบหน้าเป็นลำดับ
ภารกิจของ อคส. ในการทวงเงินคืนจากการกระทำการทุจริตที่ อคส. ต้องเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ได้มีแต่เรื่องถุงมือยาง อย่างน้อยเงิน 3 ก้อนใหญ่ ที่ต้องดำเนินการมีความคืบหน้าทั้งสิ้น
- ทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย
- เงิน 504,861 ล้านบาท ที่ อคส. ต้องเรียกค่าเสียหายคืนจากการทุจริตจำนำข้าวสมัยพวกท่านเป็นรัฐบาล ยังไม่จบ ทำไมไม่เห็นทวงว่าช้า เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนกระบวนการ ถ้าใครไปทำอะไรนอกกฎหมาย กระบวนการลงโทษผิดขั้นตอนและเป็นช่องว่างให้คนที่กระทำการทุจริตเอ่ยอ้างและลอยนวลได้ในที่สุด
- เงินทุจริตจำนำมันสำปะหลัง คู่แฝดทุจริตจำนำข้าวที่พวกท่านเป็นรัฐบาล ต้องไปทวงเงินคืนมาทั้งหมด 33,000 ล้านบาท
ซึ่งเงินก้อนที่หนึ่งทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้านบาทบวกดอกเบี้ย เกิดขึ้นเพราะอดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. ทำสัญญาขายถุงมือยาง 125,000 ล้านบาท ให้กับ 7 บริษัท จากนั้นทำสัญญาซื้อถุงมือยางกับ บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ฯ 110,000 ล้านบาท โดยประมาณ ก็เป็นเงื่อนไขหรือจังหวะเบิกเงิน อคส. 2,000 ล้านบาท อ้างว่าจ่ายมัดจำ ซึ่งตนและ อคส. ผู้อำนวยการคนใหม่ที่เข้ามาแทนรักษาการได้ดำเนินการเบิกเงินจากบัญชี 2 กันยายน 2563 จากนั้น 10 กันยายน 2563 ผู้อำนวยการคนใหม่เข้ารับหน้าที่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ รายงานให้ทราบทันทีว่าพบเงินหายจากบัญชี 2,000 ล้านบาท และวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายอดีตรักษาการผู้อำนวยการไปอยู่สำนักนายกฯ ทันที ถ้านายกฯ ละเลย ถ้าตนละเลย คำสั่งนี้จะมาไหม จากนั้นผู้อำนวยการ อคส. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง จากนั้น 18 กันยายน 2563 ผู้อำนวยการไปแจ้งความอดีตรักษาการผู้อำนวยการกับพวกกับดีเอสไอ และแจ้งความกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินและอายัดบัญชีในทันที จากนั้นผู้อำนวยการ อคส. แจ้งความกับ ป.ป.ช.
ทันทีที่รับเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและสอบหมดแล้วตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตัวเล็กจนตัวใหญ่ถึงผู้อำนวยการ ประธานบอร์ด ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี คือกระบวนการที่ท่านทราบดี จากนั้นกรรมการ ป.ป.ช. มีมติอายัดบัญชี 2,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2563 มีความคืบหน้าในการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง อคส. พบการกระทำผิด ชี้มูลความผิด 3 ราย คือ อดีตรักษาการผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย จากนั้นผู้อำนวยการก็ตั้งกรรมการสืบสวนต่อไปเพื่อลงโทษทางวินัยตามระเบียบ
จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ท่านอภิปรายทุกอย่างมีความคืบหน้า วันที่อภิปรายตนยืนยันกับสภาชัดเจนว่าตนไม่เคยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวกับโครงการนี้หรือการดำเนินการใด ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ทั้งที่ลับที่แจ้ง และได้ชี้ให้เห็นว่าวันนั้นท่านโกหกหลายเรื่อง ทั้งกล่าวหาว่าไม่เคยตั้งกรรมการสอบและกล่าวหาว่าไม่เคยมีการอายัดเงิน ก็ไม่จริง ป.ป.ช. อายัดเงินแล้ว ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่กฎหมายรองรับ ที่บอกว่าไม่เคยดำเนินคดี ก็ไม่จริง ส่ง ปปง. ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรม
อธิบายไว้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะรู้จักใคร ผู้ใหญ่ขนาดไหน รู้จักนายกรัฐมนตรี รู้จักรัฐมนตรี ไม่ได้แปลว่าจะมีอำนาจล้นฟ้า เมื่อไรที่ทำผิดกฎหมายก็ต้องเข้าคุก เรื่องนี้ตนไม่ยอม ไม่ว่าใครทุจริตโครงการนี้ก็ตาม จะจัดการทั้งทางวินัย แพ่ง อาญา จนถึงที่สุด ตราบเท่าที่มีอำนาจหน้าที่และกฎหมายให้อำนาจตน เป็นสิ่งที่ตนยืนยันผูกพันไว้กับสภาแห่งนี้ และได้ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง
หลังอภิปรายมี 3 เรื่องที่ตนเร่งรัดดำเนินการ
- คดีแพ่งกับอาญา สั่งการให้ผู้อำนวยการ อคส. คนใหม่ ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ในทุกเรื่อง ปปง. ทุกประการ และติดตามรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ และเร่งรัดการลงโทษทางวินัย ใครเกี่ยวข้องให้นำเงิน 2,000 ล้านบวกดอกเบี้ยมาชดใช้ค่าเสียหาย มีความคืบหน้าคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงสรุปผลการสอบวินัยเสร็จ ได้ชี้มูลความผิด 3 ราย มีมติให้ไล่ออกทั้ง 3 ราย ผู้อำนวยการ อคส. ออกคำสั่งไล่ออกตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2564 จำนวน 2 ราย ส่วนอดีตรักษาการผู้อำนวยการ บังเอิญว่าโดนคำสั่งย้ายไปสำนักนายกฯ จึงถามไปยังกฤษฎีกาเป็นการดำเนินการ กฤษฎีกาตอบว่าอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยเป็นหน้าที่ของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กระบวนการลงโทษถูกต้องตามกฎหมายไม่ถูกโต้แย้งวันหลังให้เป็นโมฆะ โดยให้สามารถนำผลการสอบสวนของ อคส. ไปดำเนินการทางวินัย ให้ถือว่าเป็นการสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ ปลัดสำนักนายกฯ ต้องตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยทำตามพระราชกฤษฎีกา ตอนนี้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีจบเรื่องวินัยและต้องติดตามต่อไป
ส่วนเรื่องละเมิด ติดตามทวงเงิน 2,000 ล้านบวกดอกเบี้ยคืน ใครกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องต้องนำเงินมาชดใช้เพราะเงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ต้องไล่เบี้ยจนมีผู้นำเงินมาชดใช้ ตามพระราชบัญญัติการรับผิดทางละเมิด ได้มีการแต่งตั้งโดยผู้อำนวยการ อคส. มีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ผลการสอบออกมาแล้ว มีด้วยกัน 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่ตั้งสอบแล้วพบเจตนาทำให้รัฐเสียหาย
- กลุ่มที่กรรมการชี้ว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
เจตนาทำให้รัฐเสียหายมี 4 รายต้องชดใช้ คนละ 400.8 ล้านบาท รวม 1,603 ล้านบาท 4 ราย 3 รายแรก เจ้าหน้าที่ที่ถูกชี้มูลความผิดทางวินัย และเพิ่มอีกหนึ่งคือประธานบอร์ด วันนี้ชัดเจนว่าประธานบอร์ดก็ถูกชี้ว่าต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายด้วย ข้อหาเจตนาทำให้รัฐเสียหาย 400 ล้านบาทโดยประมาณ
กลุ่มที่ 2 ประมาทเลินเล่อมี 3 ราย ชดใช้คนละ 133.6 ล้านบาท รวม 400.8 ล้านบาท รวมสองกลุ่มเป็น 2,000 ล้านบาทบวกดอกเบี้ย
ตามกระบวนการของพระราชบัญญัติการรับผิดทางละเมิด เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไปยุติที่กระทรวงคลังเป็นผู้ชี้ขาดตามกฎหมาย ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลังแล้วตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ยังติดประเด็นประธานบอร์ด ไม่ใช่ใครปกป้อง แต่ติดข้อกฎหมาย เพราะถ้าไม่เป็นกระบวนการกฎหมายจะถูกโต้แย้ง ทำให้กระบวนการไม่ชอบ สุดท้ายใครรับผิดชอบค่าเสียหายก็ลอยนวล
กรณีประธานบอร์ดมีประเด็นข้อกฎหมายจากผลการสอบให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นไปตามคำสั่งผู้อำนวยการ อคส. แต่ประธานบอร์ดเป็นผู้บังคับบัญชา อคส. ดังนั้นต้องถามกฤษฎีกา ก็ตอบกลับมาว่า หากพบความผิดทางละเมิดของประธานบอร์ดให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบโดยใช้กรรมการสอบชุดเดิมได้ เพื่อผลสอบจะได้ไม่เกิดความลักลั่น ซึ่งวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ตนลงนามแต่งตั้งกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดประธานบอร์ดเสร็จสิ้นแล้ว ความคืบหน้าคือกรรมการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว
ส่วนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ตนทราบจากข่าว สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยว่าการไต่สวนคดีทุจริตถุงมือยางเสร็จแล้วกำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
จุรินทร์กล่าวด้วยว่า ที่ท่านกล่าวหาในญัตติว่าตนปล่อยปละละเลยไม่ติดตามแก้ไขปัญหาการทุจริตเพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐหรือ อคส. จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับมีความคืบหน้าในทุกกรณีตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมาย
เงินก้อนที่สอง แม้ท่านไม่ได้ทวงถามความคืบหน้าว่าช้าแต่เรื่องนี้ 10 ปีแล้ว ตนทำต่อเนื่องทุจริตจำนำข้าวที่พวกท่านสร้างไว้ ก่อความเสียหายให้ อคส. 504,861 ล้านบาท จนต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายรวม 1,180 คดี ไม่ได้เอาชั่วใส่ใคร ถ้าชั่วจริงการดำเนินการทางกฎหมายต้องเกิด เหมือนทุจริตถุงมือยาง ถ้าทุจริตจริงก็ต้องจัดการและเส้นทางการเงินที่ท่านพูดนั้น ป.ป.ช. ดำเนินการ ปปง. ก็เป็นองค์กรตามกฎหมายที่ดำเนินการ ที่ต้องชี้แจงทุจริตจำนำข้าวเพราะท่านเขียนในญัตติ กล่าวหาตนว่ามีพฤติกรรมปล่อยปละละเลยไม่ติดตามแก้ไขปัญหาการทุจริตเพื่อให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐหรือ อคส. ตนกำลังอธิบายว่าติดตามความเสียหายอย่างไรและไม่ได้มีก้อนเดียวเฉพาะถุงมือยาง ยังมีทุจริตจำนำข้าวอีกก้อน เป็นภารกิจต้องติดตาม ซึ่ง 1,180 คดี ความเสียหาย 500,000 กว่าล้านบาท ต้องทุ่มเทกำลังเวลาในการปฏิบัติงานไปใช้กับการดำเนินคดีที่พวกท่านก่อไว้ 10 ปีที่แล้ว คดียังอยู่ในศาล คืบหน้าเป็นลำดับ แต่ยังต้องใช้เวลาตามกระบวนการยุติธรรม
อีกก้อน 30,000 กว่าล้านบาท ทุจริตจำนำมัน สมัยท่านเป็นรัฐบาลเหมือนกัน ตนถึงบอกว่าก๊อปปี้ทุจริตจำนำข้าวมาเลย ไม่ต้องเอ่ยว่ารัฐบาลไหนคือพวกท่านแล้วกัน ทำ อคส. ขาดทุน 33,000 ล้านบาท ต้องทุ่มเทกำลังฟ้อง ฟ้องแล้ว 164 คดี เรียกค่าเสียหาย 20,065 ล้านบาท ศาลจำคุกแล้ว 26 คดี แต่ยังไม่จบ ต้องเอาเจ้าหน้าที่ขึ้นศาลเพราะสิ่งที่พวกท่านก่อไว้
ตนสั่งเร่งรัดทั้ง 3 ก้อน ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เพราะนี่คือเงินของรัฐ ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ต้องดำเนินการเอาคืน และความโปร่งใสของ อคส. ในยุคนี้ทำให้คะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสของ อคส. กระเตื้องขึ้นเยอะ ยุคท่านได้ไม่ถึง 70 คะแนน ในปี 2563-2564 ป.ป.ช. ให้คะแนน อคส. มีคุณธรรมความโปร่งใสและเป็นองค์กรที่เชื่อถือได้ในเรื่องนี้ปี 2563 ได้ 83 คะแนน ระดับเอ ปี 2564 ได้ 93.59 คะแนน ตนไม่ได้ประเมินเอง แต่ ป.ป.ช. ที่เป็นองค์กรอิสระในการจัดการกับการทุจริตและส่งเสริมความโปร่งใสและคุณธรรมธรรมาภิบาลในการบริหารบอกมา
“ที่ท่านบอกว่าไม่เห็นความคืบหน้า ท่านหูดับแล้ว เพราะทั้งหมดคือความคืบหน้าของการดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายชัดเจนทุกเรื่องทั้งแพ่ง อาญา วินัย และการหาตัวผู้กระทำผิดมาชดใช้ค่าเสียหาย 2,000 ล้านบาทบวกดอกเบี้ย ส่วนถ้าจะส่ง ป.ป.ช. ไม่มีปัญหา ดีจะได้ช่วยกันตรวจสอบการทุจริต ไม่ว่าที่ไหนก็ตามตนพร้อมให้ความร่วมมือ ท่านไม่ต้องห่วง” จุรินทร์กล่าวในที่สุด