×

เปิดลิสต์รายชื่อประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่เสี่ยงเข้าสู่วิกฤตตามรอย ศรีลังกา

18.07.2022
  • LOADING...
ประเทศตลาดเกิดใหม่

​​กรณีวิกฤต ศรีลังกา ความแปรปรวนของตลาดการเงินโลกที่เกิดจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเงินเฟ้อ กำลังเป็นความเสี่ยงที่อาจนำพาประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market (EM) เข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในรอบหลายปี

 

ในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ การแพร่ระบาดของโควิดซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต่างหันมาดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาอัดฉีดเพื่อประคองเศรษฐกิจของตัวเอง แต่เมื่อวิกฤตโควิดเริ่มทุเลาลง หลายประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีแล้วจึงทยอยถอนยาแรงต่างๆ ที่เคยใช้รักษาอาการป่วยของตัวเอง

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ สหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างร้อนแรงจนนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ Fed ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อป้องกันการลุกลามจนควบคุมไม่อยู่

 

การปรับทิศนโบายการเงินของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ส่งผลให้สภาพคล่องที่เคยไหลเข้ามาหาลงทุนในตลาด EM ในช่วงก่อนหน้านี้ถูกดูดกลับ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้สกุลเงินของกลุ่มประเทศ EM อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

 

ค่าเงินที่อ่อนลงถือเป็นข่าวร้ายของบรรดาประเทศที่มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศหรือมีหนี้สินเป็นเงินสกุลดอลลาร์ เพราะมันย่อมหมายถึงประเทศเหล่านี้จะต้องใช้เงินมากขึ้นในการชำระหนี้ 

 

วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในศรีลังกาถือเป็นหนังตัวอย่างของปัญหาดังกล่าว ศรีลังกานับเป็นประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจและการเงินอยู่ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิดอยู่แล้ว โดยมีหนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 101% และมีหนี้ต่างประเทศต่อ GDP อยู่สูงราว 60.85% 

 

เมื่อเกิดวิกฤตโควิดขึ้น ศรีลังกาก็ยิ่งมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นไปอีก โดยปัจจุบันหนี้ต่างประเทศของศรีลังกามีปริมาณสูงถึง 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามเงินเฟ้อที่รุนแรงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในภาวะสงคราม อีกทั้งยังต้องเจอกับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้เงินรูปีของศรีลังกาอ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก และทำให้ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงไปด้วย

 

ระดับทุนสำรองที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ศรีลังกาไม่สามารถนำเข้าสินค้าที่จำเป็นได้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ เกิดเป็นวิกฤตขาดแคลนอาหารและพลังงาน ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจนเข้าใกล้ระดับ 60% ก่อให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนจนมีการรวมตัวประท้วงขับไล่รัฐบาลในที่สุด

 

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักเชื่อว่าภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศรีลังกาจะมีการฉายซ้ำในอีกหลายประเทศ โดยสัญญาณที่จะบ่งชี้ว่าประเทศใดมีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจคือ การมีหนี้สินต่างประเทศสูง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการมีระดับเงินทุนสำรองต่ำ

 

Bloomberg ประเมินว่า ปัจจุบันมีหนี้พันธบัตรของกลุ่มประเทศ EM มูลค่าสูงถึง 2.37 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของกลุ่มประเทศ EM ที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระ

 

ล่าสุด Bloomberg ยังเปิดลิสต์รายชื่อของประเทศในกลุ่ม EM ที่มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ตามศรีลังกาไว้ดังนี้

 

1. เอลซัลวาดอร์

ประเทศในอเมริกากลางแห่งนี้ถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดเครดิตลงมาตามความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล เช่น การอนุญาตให้นำ Bitcoin มาใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และความพยายามรวบรวมอำนาจในประเทศ ปัจจุบันเอลซัลวาดอร์ขาดดุลการคลังอยู่อย่างมหาศาล และมีหนี้พันธบัตรที่จะครบกำหนดชำระราว 800 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคมที่จะมาถึงนี้

 

2. กานา ตูนิเซีย และอียิปต์ 

Moody’s Investors Service ได้ออกมาเตือนว่า กานา ตูนิเซีย และอียิปต์ เป็น 3 ประเทศในแอฟริกาที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนกู้ยืม และยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ โดยทั้ง 3 ประเทศนี้อาจประสบปัญหาหากต้องออกพันธบัตรใหม่มากู้ยืมเงินจากต่างประเทศด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นเพื่อนำมาชำระหนี้เก่า ปัจจุบันกานาอยู่ระหว่างขอรับเงินช่วยเหลือมูลค่าราว 1.5 พันล้านดอลลาร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่อียิปต์มีหนี้ต่างประเทศที่จะครบกำหนดชำระเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ และอีก 3 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

 

3. ปากีสถาน

ปากีสถานเพิ่งจะเริ่มกระบวนการพูดคุยกับ IMF หลังจากประเทศเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินดอลลาร์ในการนำเข้าสินค้าจำเป็น และมีหนี้ต่างประเทศที่รอการชำระอยู่ถึง 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ใน 12 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ในปากีสถานมีความคล้ายคลึงกับศรีลังกา โดยล่าสุดประชาชนได้รวมตัวประท้วงบนท้องถนนแล้วหลังจากรัฐบาลตัดไฟฟ้าเป็นเวลานานถึง 14 ชั่วโมงเพื่อประหยัดพลังงาน นอกจากนี้รัฐมนตรีคลังของประเทศยังออกมายอมรับว่าปากีสถานมีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูง

 

4. อาร์เจนตินา 

ประเทศในทวีปอเมริกาใต้แห่งนี้เคยผิดนัดชำระหนี้มาแล้วถึง 9 ครั้งในปี 2020 และมีความเสี่ยงที่การผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นอีกหลังจากระดับเงินเฟ้อในประเทศถูกคาดการณ์ว่าจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 70% ในช่วงสิ้นปีนี้ สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลต้องออกนโยบายควบคุมการไหลออกของเงินดอลลาร์เพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงิน ขณะเดียวกันปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐมนตรีคลังคนใหม่และประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปี 2023 ก็ทำให้เศรษฐกิจอาร์เจนตินาในภาพรวมมีทิศทางที่ไม่สดใส

 

5. ยูเครน

การรุกรานของรัสเซียส่งผลให้ยูเครนต้องหาทางปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศ โดยยูเครนต้องการเงินสูงถึง 6-6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อชำระหนี้ต่างประเทศที่กำลังจะครบกำหนดชำระ ปัจจุบันรัฐบาลยูเครนกำลังเผชิญกับความยากลำบากในด้านงบประมาณและรายได้จากภาวะสงครามที่ทำให้เศรษฐกิจในเมืองสำคัญต้องหยุดชะงัก เช่นเดียวกับการส่งออกธัญพืชที่ไม่สามารถทำได้ โดยมีการคาดการณ์ว่ายูเครนอาจต้องใช้เงินสูงถึง 7.5 แสนล้านดอลลาร์ในการฟื้นฟูประเทศจากภาวะสงคราม

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising