วันนี้ (15 กรกฎาคม) พนิต วิกิตเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ ‘นโยบาย Open Data ล้างวัฒนธรรมหักหัวคิว สร้างการตรวจสอบให้กับประชาชน’ โดยมีรายละเอียดระบุว่า จากโพสต์ก่อนหน้า ผมได้พูดถึงการเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาใช้และบริหารงานในกรุงเทพฯ เช่น การเปิดเผยข้อมูลงบประมาณขึ้นแสดงบนเว็บไซต์และการนำแอป Traffy Fondue มาใช้ในการร้องเรียนปัญหา
“ขอชื่นชมท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้นำนโยบาย Open Data ข้อมูลงบฯ ขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ ซึ่งไม่เคยมีผู้ว่าฯ คนไหนทำมาก่อน และนโยบายนี้ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เป็นอย่างดี ประชาชนจะเข้ามาตรวจสอบว่าภาษีที่จ่ายไปใช้ไปกับอะไรบ้าง และนโยบายนี้จะล้างบางวัฒนธรรมหักหัวคิวของการเมือง กทม. ได้”
พนิตระบุอีกว่า ย้อนกลับไปในสมัยที่ตนเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. เมื่อราวประมาณ 17 ปีที่แล้ว ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมืองครั้งแรกในสนามของ กทม. คือการเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. บนความท้าทายและความใหม่ของผม ได้มองเห็นวัฒนธรรมการหักหัวคิวในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง การล็อกสเปก หรือแม้กระทั่งการเก็บเปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันโลกมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเองก็มีการตื่นตัวและมีความพร้อมในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเอง การที่มีนโยบาย Open Data โดยการนำข้อมูลงบประมาณขึ้นแสดงบนเว็บไซต์จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบไม่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ทั้งของข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร สิ่งเหล่านี้จะเป็นการล้างบางและจะทำให้การเมือง กทม. สะอาดขึ้น และหาก ส.ก. บริสุทธิ์ใจ ก็ควรสนับสนุนนโยบาย Open Data ให้เกิดขึ้นทั้งใน กทม. และเขตเช่นกัน
นโยบาย Open Data ไม่ควรเกิดขึ้นแค่กรุงเทพฯ แต่ควรสะท้อนและเป็นบทเรียนให้รัฐบาลมองเห็นประโยชน์ในยุคดิจิทัลมากกว่าแค่เป็นเครื่องมือในการทํา PR และควรนำมาใช้สร้างความโปร่งใสในการทำงาน ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ และสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขจัดการเมืองแบบเก่า และช่วยกันในการตัดตอนคอร์รัปชันในประเทศได้
“หาก กทม. หรือจังหวัด รวมถึงรัฐบาลในประเทศไทยมีการจัดทำนโยบาย Open Data วัฒนธรรมการหักหัวคิวก็จะโดนทลายออกไปจากการเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับระบบราชการและระบบการเมือง ซึ่งเป็นก้าวเเรกในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้ภาษีและงบประมาณได้อย่างแท้จริง” พนิตระบุในตอนท้าย