วานนี้ (13 กรกฎาคม) ทีมเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับแจ้งว่า ที่ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก มีลูกช้างอายุประมาณ 1 ปี พลัดตกลงไปในท่อระบายน้ำกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร และลึกกว่า 2 เมตร โดยไม่สามารถปีนออกมาได้เอง
เจ้าหน้าที่ต้องเผชิญกับหลายอุปสรรคระหว่างการช่วยเหลือ ทั้งสภาพอากาศที่มีฝนตกตลอดทั้งวัน และแม่ช้างที่เฝ้าลูกอยู่ไม่ห่างบริเวณนั้น โดยใช้เวลาร่วมหลายชั่วโมงกว่าจะทำการช่วยเหลือลูกช้างและ CPR แม่ช้างที่หมดสติไปได้สำเร็จ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีช้างป่าประสบอุบัติเหตุจากการออกมาจากป่า ด้วยจำนวนประชากรช้างทั้งประเทศในปี 2564 อยู่ที่ 3,168-3,440 ตัว แต่เมื่อเทียบกับจำนวนช้างป่าเมื่อ 18 ปีที่แล้ว มีแนวโน้มว่ากำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น สวนทางกับจำนวนพื้นที่ป่าที่มีแนวโน้มลดลงอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายชุมชน สร้างสาธารณูปโภค ตลอดจนสร้างพื้นที่ทำกินทางการเกษตร ทำให้ช้างต้องดำรงชีวิตอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น และบางคราวก็ออกจากป่าเพื่อมาหาอาหารอีกด้วย
เมื่อคนเริ่มแทรกป่า ช้างจึงใกล้คนมากยิ่งขึ้น THE STANDARD ชวนผู้อ่านมาสำรวจสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและมนุษย์ที่ยังไม่มีท่าทีจะทุเลาลง
ในแต่ละปียังคงมียอดการสูญเสียจากทั้งฝั่งคนและช้าง อันเนื่องมาจากความหวาดกลัวซึ่งกันและกัน พร้อมร่วมทำความเข้าใจในแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ช้างหลุดออกจากป่าในระดับเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างมนุษย์ ป่า และช้าง
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย