การเล่นคือการเรียนรู้ ถึงเวลาปล่อยให้เด็กๆ กลับไปเป็นในแบบที่เด็กเป็น
เราอาจเคยได้ยินคนกล่าวกันมามากว่า “เด็กซนคือเด็กฉลาด” หรือ “เด็กยิ่งซนยิ่งฉลาด” อันที่จริงแล้ว คำกล่าวนี้มีผลการศึกษาหรืองานวิจัยออกมาสนับสนุนอยู่เรื่อยๆ เพราะการที่เด็กซุกซนย่อมหมายความถึงการที่พวกเขากำลังเรียนรู้หรือสำรวจสิ่งต่างๆ ไปในตัวด้วย ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กๆ ได้เล่นตามวัย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้เช่นกัน
การเล่นที่แท้จริงคือการปล่อยให้เด็กๆ มีอิสระในการเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว โดยให้เด็กได้เชื่อมต่อกับโลกภายนอกทั้งทางกายและทางใจ
ผลการศึกษาของ World Economic Forum (WEF) เผยว่า การเล่นคือสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก และช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่างๆ สำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพราะการเล่นจะช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence หรือ EQ) รวมไปถึงกระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเผชิญในอนาคต
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่าเด็กๆ ถูกจำกัดเวลาเล่นจากปัจจัยต่างๆ มากขึ้น ซึ่งขัดขวางการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก ทั้งที่การเล่นคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กๆ ทั่วโลกควรจะมี
ดังนั้นในที่ประชุม World Economic Forum 2018 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีการบรรจุหัวข้อ ‘To play is to learn. Time to step back and let kids be kids’ หรือ ‘การเล่นคือการเรียนรู้ ถึงเวลาถอยกลับไปและปล่อยให้เด็กๆ เป็นในแบบที่เด็กเป็น’ เข้าไปเป็นหนึ่งในวาระระดับโลกของการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อสะท้อนปัญหาดังกล่าวให้โลกได้ตระหนักยิ่งขึ้น
เด็กขาดพื้นที่เล่นเพื่อสำรวจและเรียนรู้
เด็กๆ ควรได้รับโอกาสให้เล่นตามวัยไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดหรือเมื่อใดก็ตามที่เอื้ออำนวย แต่ปัจจุบันเด็กเยาวชนหลายล้านคนทั่วโลกยังขาดพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการสำรวจและเรียนรู้ ถึงแม้ว่าพ่อแม่เด็ก 78% จะยอมรับว่าโลกมีความปลอดภัยกว่าเมื่อสมัยที่พวกเขายังเป็นเด็กอยู่ก็ตาม
รายงานของ WEF ระบุด้วยว่า เด็กๆ ที่สามารถเล่นในที่ปลอดภัยและส่งเสริมพัฒนาการของพวกเขา จะช่วยพัฒนาความสามารถในการสื่อสารแบบเผชิญหน้า รวมถึงการทำงานเป็นทีม และทักษะในการเจรจาต่อรอง ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการรับมือกับปัญหาท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเมื่อเติบใหญ่
อย่างไรก็ดี รายงานเตือนว่า ปัจจุบันเด็กมีแนวโน้มพลาดโอกาสเล่นสนุกตามวัยมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากถูกกดดันหรือรบกวนจากปัจจัยภายนอก เช่น คะแนนสอบ หรือการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ๆ
เด็กมีเวลาเล่นน้อยลง เพราะถูกกดดันจากผลการเรียน
ผลการศึกษาของ WEF แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เด็กใช้เวลาเล่นที่โรงเรียนน้อยลงอย่างมาก ขณะที่ในบางประเทศ เด็กจำนวนมากถึง 2 ใน 3 บ่นว่าถูกพ่อแม่เคี่ยวเข็ญอย่างหนัก โดยมีการจัดตารางเรียนพิเศษและทำกิจกรรมนอกโรงเรียนให้กับพวกเขามากเกินไป ขณะที่พ่อแม่ 49% รู้สึกว่าพวกเขาหาเวลาว่างเล่นกับลูกๆ ได้ยากขึ้น
รายงานยังพบว่า เด็ก 56% มีเวลาวิ่งเล่นน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นเวลาว่างที่นักโทษเรือนจำในสหรัฐฯ ถูกปล่อยออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งเสียอีก และหากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ย่อมขัดขวางการพัฒนาทักษะของเด็กๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผู้นำ นักคิดสร้างสรรค์ และนักสำรวจรุ่นใหม่ๆ ในอนาคต
‘เทคโนโลยี’ เปลี่ยนโลกของเด็ก
การพัฒนาของเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning / ML) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence / AI) ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เนื่องจาก ML และ AI จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ และจะแทนที่แรงงานมนุษย์ในหลายภาคอุตสาหกรรมในท้ายที่สุด ซึ่งหมายความว่า เด็กยุคใหม่ที่เพิ่งเข้าเรียนโรงเรียนประถมในปัจจุบันจะเติบโตไปทำงานในอาชีพที่ยังไม่มีในปัจจุบัน
ดังนั้นจึงถึงเวลาที่เราต้องคิดใหม่ และลงมือปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีโอกาสวิ่งเล่นตามวัย เพราะการเล่นสนุกคือการฝึกฝนปัญญา ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การเล่นตัวต่อของเด็กๆ จะสัมพันธ์กับการพัฒนาทักษะด้านการมองภาพและรูปทรงต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับความสามารถทางคณิตศาสตร์และทักษะการแก้ปัญหาต่างๆ ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้การปล่อยให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนานมากขึ้น ย่อมหมายถึงการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน
ว่าแล้วเราออกไปวิ่งเล่นกันเถอะ…
อ้างอิง: