×

‘ไร้น้ำมัน ขาดไฟฟ้า ไม่มีอาหาร’ ภาพสะท้อนชีวิตชาวศรีลังกา ท่ามกลางวิกฤตที่ทำให้ประชาชนโกรธแค้นถึงขั้น ‘บุกบ้านไล่ผู้นำ’

โดย THE STANDARD TEAM
13.07.2022
  • LOADING...
Sri Lanka

ความเคียดแค้นอันเกิดจากภาวะวิกฤตและความยากลำบากของชาวศรีลังกา โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำมัน ไฟฟ้า และอาหาร ตลอดจนเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมากถึง 54.6% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นชนวนเหตุสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนเรือนแสน ออกมาชุมนุมใหญ่กลางกรุงโคลัมโบ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ลงจากตำแหน่ง และกดดันให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินมาถึงจุด ‘ล่มสลาย’

 

สถานการณ์ตึงเครียดทวีถึงขีดสุด หลังกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนตัดสินใจบุกเข้าบ้านพักประธานาธิบดี และปักหลักยึดครองจนกว่าประธานาธิบดีราชปักษาจะลาออกจากตำแหน่ง บางส่วนยังบุกเข้าไปในบ้านพักนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห และระบายความโกรธแค้นด้วยการ ‘จุดไฟเผา’ 

 

วิกฤตที่เรียกได้ว่า ปะทุถึงจุดเดือด ทำให้ประธานาธิบดีราชปักษาต้องยอมลาออกโดยไร้ข้ออ้าง ก่อนจะรีบหาทางลี้ภัยออกจากประเทศ ส่วนนายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเหให้คำมั่นว่า จะยอมลาออกภายหลังได้รัฐบาลชุดใหม่ และจะอยู่ทำหน้าที่เจรจากับ IMF เพื่อกู้เงินฉุกเฉิน นำมาบรรเทาสถานการณ์ความลำบากของประชาชน

 

สำหรับชีวิตของชาวศรีลังกาในตอนนี้ เรียกได้ว่า ‘กลายเป็นผู้แพ้ตั้งแต่ยังไม่ลืมตาตื่น’ และนี่คือภาพสะท้อนความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันของชาวศรีลังกา ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 7 ทศวรรษ 

 

ชีวิตประจำวันแบบไร้ไฟฟ้า-น้ำมัน

 

  • ผลกระทบจากการล้มละลายทางเศรษฐกิจและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เพื่อซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้การตัดไฟฟ้าเกิดขึ้นทั่วประเทศแทบทุกวัน แม้แต่ในยามดึก ซึ่งทำให้ประชาชนหลายครัวเรือนต้องตื่นขึ้นมาเพราะความร้อน หลังพัดลมหยุดทำงาน 

 

  • ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงที่ร้อนที่สุดของปี พบว่าวิกฤตขาดแคลนน้ำมัน ทำให้ต้องมีการตัดไฟฟ้าทั่วประเทศศรีลังกานานถึงวันละ 13 ชั่วโมง

 

  • ขณะที่ประชาชนยังคงจำเป็นต้องใช้ชีวิต ทั้งทำงานหรือดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ ‘แพงขึ้น’ จากการจ่ายเงินซื้ออาหารและสินค้าต่างๆ ในราคาที่มากขึ้นจากเดือนก่อนเป็น 2 เท่า อาหารเช้าที่รับประทานอาจมีปริมาณลดลง หรืออาจจะไม่มีเลย 

 

  • ผู้คนที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องเผชิญการแก่งแย่งรถโดยสารหรือ ‘ที่ยืน’ บนรถไฟที่เหลืออยู่น้อยนิด และมีค่าโดยสารที่แพงขึ้นมาก เนื่องจากรถส่วนใหญ่ไม่มีน้ำมันสำหรับให้บริการ ในขณะที่คิวรอเติมน้ำมันตามปั๊มต่างๆ ยาวเหยียดจนหลายคนถอดใจ 

 

  • ตัวอย่างหนึ่ง คือคนขับรถตุ๊กตุ๊กที่มีถังน้ำมันเพียง 8 ลิตร ซึ่งต้องต่อคิวนานข้ามวัน บางครั้งนานกว่า 48 ชั่วโมง เพื่อให้ได้น้ำมันมาขับให้บริการ ก่อนจะต้องวนกลับไปรอคิวเติมน้ำมันอีกครั้งหลังน้ำมันหมด กลายเป็นภารกิจที่ลำบากและยาวนาน ถึงขั้นต้องหอบหิ้วหมอนและเสื้อผ้า รวมถึงอาหารและน้ำ เพื่อมาใช้ชีวิตบนรถท่ามกลางการรอคิวเติมน้ำมัน

 

  • ภาพการบริจาคอาหารและสิ่งของท่ามกลางภาวะวิกฤตกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ โดยประชาชนหลายคนที่มีระดับฐานะปานกลางไปจนถึงร่ำรวย พยายามช่วยบรรเทาความลำบาก ต่างนำอาหารและน้ำมามอบให้แก่ผู้คนที่รอคิวเติมน้ำมันในปั๊มหลายแห่ง

 

ประชาชนอดอยากหิวโหย

 

  • ภาวะขาดแคลนอาหาร ทำให้มีอาสาสมัครรวมกลุ่มทำอาหารบริจาคให้ประชาชนในหลายชุมชน ซึ่งในย่านชนชั้นแรงงานของกรุงโคลัมโบ มีรายงานว่าบางครอบครัวยากไร้ที่ประสบความลำบากจากวิกฤตรอบนี้ต้องเดินเท้าไปกลับรวมระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร เพื่อรับอาหารบริจาคแทบทุกวัน

 

  • องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินภาวะขาดแคลนอาหารของศรีลังกาว่าอยู่ในขั้นรุนแรง ซึ่ง 70% ของประชากรจะพลาดอาหารอย่างน้อย 1 มื้อจาก 3 มื้อทุกวัน และ 1 ใน 5 กำลังเผชิญภาวะอดอยากหิวโหย

 

  • ในกลุ่มชนชั้นแรงงาน หลายครอบครัวต้องมารวมตัวกันรอบเตาไฟเพื่อเตรียมมื้ออาหารที่เรียบง่ายที่สุด อย่างข้าว กับ Pol Sambol หรือมะพร้าวขูด คลุกเคล้าเครื่องปรุงอย่างพริก มะนาว

 

  • อาหารที่เป็นเมนูจานหลักของประเทศแถบเอเชียใต้ อย่างแกงถั่ว หรือ ดาล (Dhal) กลายเป็นอาหารหรู ในขณะที่เนื้อสัตว์ราคาพุ่งไปจากเดิมเกิน 3 เท่า 

 

  • ส่วนปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์และราคาไม่แพง หากินง่าย ตอนนี้ราคาพุ่งสูง เหตุเพราะเรือประมงแทบจะไม่สามารถออกทะเลไปจับปลาได้ เพราะไม่มีน้ำมันดีเซล ซึ่งชาวประมงคนไหนที่จับปลามาได้ จะสามารถขายให้กับร้านอาหารหรือโรงแรมต่างๆ ได้ในราคาที่สูงเกินจริง

 

  • ความลำบากจากอาหารที่ขาดแคลนและมีราคาพุ่งสูงนี้ บีบบังคับให้เด็กๆ ศรีลังกา ต้องใช้ชีวิตด้วยอาหารที่แทบไม่มีโปรตีน สมอง กล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะต่างๆ ของเด็ก ไม่ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ 

 

  • นมผงที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามา หมดไปจากเชลฟ์ในร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ นานหลายเดือนแล้ว ซึ่งผลกระทบด้านโภชนาการของเด็กนั้นถือเป็นวิกฤตร้ายแรงที่กระทบภาวะเศรษฐกิจทุกระดับ ตั้งแต่ระดับมหภาคไปจนถึงระดับโมเลกุล ขณะที่ UN เตือนภาวะทุพโภชนาการและวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมอีกอย่างหนึ่ง

 

ยารักษาโรคกลายเป็นสิ่งหายาก

 

  • สำหรับโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ยังเปิดดำเนินการตามปกติ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนยารักษาโรค และไม่มีเงินนำเข้ายาที่สำคัญ

 

  • ที่จังหวัดอนุราธปุระ ทางภาคกลางตอนเหนือ มีรายงานกรณีเด็กอายุ 16 ปี ถูกงูกัดเสียชีวิต เพราะพ่อเด็กต้องตระเวนตามร้านขายยา เพื่อหาซื้อเซรุ่มต้านพิษงู ที่โรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ไม่มี 

 

  • อีกกรณีที่น่าเศร้าเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม เด็กหญิงวัย 2 วัน เสียชีวิตจากโรคดีซ่าน หลังพ่อแม่ไม่สามารถหารถสามล้อพาไปโรงพยาบาลได้

 

ทางออกของวิกฤต

 

  • นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า วิกฤตขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ จนไม่สามารถนำเข้าน้ำมัน อาหาร ยาและสิ่งของจำเป็นต่างๆ ได้นั้น ปัจจัยสำคัญมาจากนโยบายการตัดลดการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ในปี 2019 ที่ประธานาธิบดีราชปักษาผลักดันและได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งทำให้การเก็บเงินในคลังสำรองของศรีลังกานั้นไม่เป็นไปตามเป้า จนสุดท้ายร่อยหรอและนำมาซึ่งวิกฤตใหญ่รอบนี้

 

  • สำหรับทางออกชั่วคราวของชาวศรีลังกาที่ยังพอมีเงิน คือ ‘ตลาดมืด’ ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงพอหาซื้อได้ แต่ในระดับราคาที่ ‘สูงเกินจริง’ โดยประชาชนที่มีฐานะจะซื้อน้ำมันแพงลิบลิ่วนี้ไปใช้สำหรับรถยนต์ส่วนตัวและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในบ้านของตัวเอง 

 

  • ส่วนประชาชนในระดับ ‘รากหญ้า’ ต้องเปลี่ยนวิธีสัญจร ด้วยการพยายามหาซื้อจักรยานปั่นไปทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าจักรยานก็เริ่มกลายเป็นสินค้าหายากที่มีราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว

 

  • ส่วนหนทางบรรเทาวิกฤตที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอยู่นั้น คือการขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) 

 

  • ที่ผ่านมาทาง IMF ได้มีการพูดคุยระดับนโยบายกับนายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเห ที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีคลังด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปและมีบางประเด็นที่ต้องหาทางออก โดย IMF ได้ออกแถลงการณ์ล่าสุด ว่ากำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ของศรีลังกาและคาดหวังให้สามารถหาทางออกจากวิกฤตการเมือง เพื่อฟื้นการเจรจาและรอข้อเสนอจากรัฐบาลศรีลังกา 

 

  • ขณะที่ศรีลังกาต้องการเงินอย่างน้อย 4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อแก้ไขภาวะขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และนำเงินก้อนนี้มาใช้บรรเทาวิกฤตการณ์ในขั้นต้น ด้วยการนำเข้าน้ำมันและสินค้าจำเป็น 

 

  • แน่นอนว่าการกู้ยืมเงินจาก IMF มาพร้อมกับเงื่อนไขที่ไม่ง่ายนัก เช่น การปรับเพิ่มดอกเบี้ยและภาษี ซึ่งเป็นหน้าที่อันหนักอึ้งที่ผู้นำและรัฐบาลชุดใหม่ของศรีลังกาต้องรีบตัดสินใจ เพื่อหาทางปลดเปลื้องภาระและควายากลำบากในการใช้ชีวิตของประชาชน

 

ภาพ: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X