แม้วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เคยกระทบธุรกิจฟิตเนสอย่างหนักขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และโควิดกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้ฟิตเนสได้กลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ
เช่นเดียวกับ ‘Fitness First’ ทำตลาดในไทยมากว่า 20 ปี เปิดบริการ 37 สาขา ต้องเจอโจทย์ใหญ่ พลิกกลยุทธ์รอบด้านเพื่อดึงสมาชิกเดิมกลับมา พร้อมปรับตัวหาสมาชิกใหม่ด้วยการกำหนดราคาให้เข้าถึงง่าย เพื่อรองรับสภาพกำลังซื้อที่กำลังมีปัญหา
มาร์ค เอลเลียต บิวคานันท์ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท อีโวลูชั่น เวลล์เนสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีแบรนด์ในมือ 2 แบรนด์ คือ Fitness First และ Celebrity Fitness เปิดเผยว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เกิดขึ้นกว่า 2 ปีเต็ม ธุรกิจฟิตเนสเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับเอฟเฟ็กต์ ต้องปิดให้บริการตามมาตรการภาครัฐ และผลพวงของโควิดยังสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับกลุ่มคนที่ชอบออกกำลังกาย แต่เมื่อมีความเคยชินในการทำงานที่บ้านหรือออกกำลังกายที่บ้าน ทำให้ยังไม่อยากกลับมาออกกำลังกายในยิมหรือฟิตเนสเหมือนเดิม
ขณะเดียวกัน เมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย อุตสาหกรรมฟิตเนสในประเทศแถบยุโรปมีแนวโน้มเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ และยังดีมานด์อีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจของ Evolution Wellness Group ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มสมาชิกใหม่กว่า 4,300 คน จากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ พบว่าคนเอเชียให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและเลือกกลับมาใช้บริการในฟิตเนสมากขึ้น และกลุ่มสมาชิกใหม่กว่า 71% ให้เหตุผลว่า การเข้าฟิตเนสทำให้ได้กลับมาพบปะผู้คนหลังโควิดด้วยเช่นกัน
ขณะที่ประเทศไทย จากการทำแบบสำรวจคนไทยจำนวน 49 ล้านคน มีเพียง 2.2 ล้านคน หรือประมาณ 4.5% ที่มีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประจำ โดยการออกกำลังกายที่นิยมมากสุด ได้แก่ เล่นฮูลาฮูป 39%, เวตเทรนนิ่ง 32% และพิลาทิสหรือการออกกำลังกายแบบโยคะ 29% ส่วนกีฬาที่นิยม ได้แก่ กอล์ฟ 54% และ Surf Skating 26%
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่าคนไทยเป็นสมาชิกฟิตเนสคลับเพียง 0.5% หรือประมาณ 350,000 คน จากประชากรทั้งหมด ยังไม่รวมกับคนที่ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะอีก 1% หรือประมาณ 700,000 คน แน่นอนว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก และเป็นเหตุผลให้ธุรกิจฟิตเนสในไทยกลับมาเติบโตได้ช้า
สำหรับทิศทางการทำตลาดในครึ่งปีหลัง ‘อีโวลูชั่น เวลล์เนสส์’ ในฐานะผู้นำตลาด ได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดให้สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภค ภายใต้โจทย์สำคัญคือ เน้นทำการตลาดเพื่อดึงสมาชิกให้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง หลังจากมีสมาชิกออกจากระบบไปในช่วงโควิด ยอมรับว่าไม่ใช่แค่ Fitness First แต่เป็นทั้งอุตสาหกรรม สมาชิกฟิตเนสออกจากระบบไปกว่า 40-50%
ขณะที่ Fitness First มีฐานสมาชิกก่อนช่วงโควิดอยู่ราวๆ 100,000 คน แม้ปัจจุบันเริ่มทยอยกลับมาแต่สัดส่วนยังน้อยอยู่ สวนทางกับกลุ่มลูกค้าที่มีครูฝึกส่วนตัวกลับมาเร็วมาก และขณะนี้มีการควบคุมปริมาณสมาชิกในคลาสออกกำลังกายให้เหมาะสม เพื่อความสะอาดและปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ใช้ดึงสมาชิกกลับมาคือ สร้างคลาสออกกำลังกายให้หลากหลายหรือเฉพาะบุคคล ให้สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด พร้อมกับปล่อยแพ็กเกจใหม่อยู่เป็นระยะๆ ล่าสุดราคาสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 1,260 บาทต่อเดือน หรือจะเลือกแพ็กเกจ PT 100 ที่เหมาะกับผู้ออกกำลังกายสายแข็งและใช้บริการเทรนเนอร์อยู่ประจำ
และยังปล่อย Virtual Studio คลาสออกกำลังกายผ่านออนไลน์ โดยสมาชิกสามารถสมัครราคา 59 บาทต่อเดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสมัครราคา 89 บาทต่อเดือน
ล่าสุด Fitness First ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘My Coach’ เครื่องมือตรวจเช็กร่างกายเบื้องต้น เพื่อเลือกโปรแกรมออกกำลังกายให้เหมาะสมกับบุคคล และสามารถเพิ่มความสะดวกในการจองคลาสในแต่ละสาขาได้มากขึ้น สามารถใช้บริการได้ทั้งสมาชิกและคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 12,000 คน
นอกจากคลาสออกกำลังกายแบบออนไซต์แล้ว ยังมีการสร้างคอนเทนต์ออกกำลังกายใหม่ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันมียอดคนดูสูงถึง 18 ล้านวิว ถ้านับเป็นนาทีมีจำนวนสูงถึง 30 ล้านนาที ข้อดีของคลาสออนไลน์จะช่วยกระตุ้นให้สมาชิกอยากออกกำลังกายต่อเนื่อง และยังช่วยสร้าง Engagement ให้กับแบรนด์
กรรมการผู้จัดการอาวุโสกล่าวอีกว่า ในช่วงโควิดไม่ได้ปรับลดจำนวนพนักงาน และยังมีพนักงานให้บริการ Full Time แบบ 100% ซึ่งได้มีการเพิ่มทักษะการบริการ รวมถึงรูปแบบของการเทรนนิ่งใหม่ให้พนักงานอยู่เป็นระยะๆ โดยก่อนหน้านี้ได้ขยายการบริการคอลเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้น 2 เท่า ให้บริการ 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างประสบการณ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ให้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังเป็นต้นไปเริ่มมีสัญญาณที่ดี หลังจากโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน ทำให้ผู้ปกครองมีเวลาออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านได้มากขึ้น ซึ่งผู้ปกครองที่เป็นคุณแม่นั้นเป็นสมาชิกของ Fitness First
และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจฟิตเนสกลับมานั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายดูแลเรื่องสุขภาพอย่างจริงจังมากขึ้น พร้อมกับออกมาตรการสนับสนุนให้สมาชิกผู้เล่นฟิตเนสสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลได้ ทั้งนี้ ประเมินว่าธุรกิจฟิตเนสต้องใช้เวลากว่า 1 ปี ถึงจะกลับมาฟื้นตัวได้