วานนี้ (4 กรกฎาคม) หนังสือพิมพ์ Vientiane Times อ้างอิงรายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติ สปป.ลาว เผยว่าอัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว แบบเทียบปีต่อปี สูงแตะร้อยละ 23.6 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2000 โดยมีปัจจัยหลักจากราคาเชื้อเพลิง ก๊าซ และสินค้านำเข้าประเภทอื่นที่พุ่งสูง รวมถึงเงินกีบที่อ่อนค่าลง
เมื่อเดือนมิถุนายนราคาน้ำมัน ก๊าซ และทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 107.1 ร้อยละ 69.4 และร้อยละ 68.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบปีต่อปี ขณะดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งเหนือการคาดการณ์และอัตราเพดานร้อยละ 12 ที่กำหนดโดยรัฐบาลเป็นอย่างมาก
สำนักงานฯ เผยว่าราคาผู้บริโภคที่เพิ่มสูงสุดในเดือนมิถุนายนปีนี้อยู่ในภาคการสื่อสารและการขนส่ง ซึ่งเพิ่มร้อยละ 55.5 เมื่อเทียบปีต่อปี รองลงมาคือสินค้าในครัวเรือน (ร้อยละ 22.3) หมวดสินค้าและบริการ (ร้อยละ 29.7) หมวดโรงแรมและร้านอาหาร (ร้อยละ 20.7) และหมวดที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า และก๊าซ (ร้อยละ 20)
ขณะเดียวกันราคาอาหาร เครื่องปรุงรส เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ เสื้อผ้า รองเท้า ยา อุปกรณ์ก่อสร้าง ยานพาหนะ อะไหล่ และสินค้านำเข้าอื่นๆ เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน สวนทางกับเงินกีบที่อ่อนค่าต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะจัดสรรมาตรการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
Vientiane Times ระบุว่าความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ตลาดเชื้อเพลิงทั่วโลกผันผวน ท่ามกลางความกังวลกรณีเศรษฐกิจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงรุนแรงและวิกฤตด้านอาหารที่อาจเกิดขึ้น พร้อมเสริมว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะรัฐบาลกำลังดิ้นรนจัดหาน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ ทางการ สปป.ลาวปรับขึ้นราคาน้ำมัน 3 ครั้งในเดือนมิถุนายน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่ง ทั้งทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าในตลาดท้องถิ่นสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว แบบเทียบปีต่อปีสูงแตะร้อยละ 8.54 ในเดือนมีนาคม ร้อยละ 9.86 ในเดือนเมษายน และร้อยละ 12.8 ในเดือนพฤษภาคม
อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว