×

ส่องตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง นักวิเคราะห์ชี้บรรยากาศช่างคล้ายกับช่วงก่อนวิกฤตปี 2008

02.07.2022
  • LOADING...
ตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง

ตลาดหุ้นไทยกำลังจะผ่านช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 เกือบ 6 เดือนที่ผ่านมาดัชนี SET ลดลงไปต่ำสุดที่ 1,544 จุด ลดลงเกือบ 7% จากสิ้นปี 2021 ซึ่งดัชนีปิดที่ 1,657 จุด 

 

แม้ว่าหุ้นไทยจะขยับขึ้นได้ในช่วง 1-2 เดือนแรก แต่หลังจากนั้นดัชนี SET ก็วิ่งซิกแซ็กลงมา โดยที่ดัชนีไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้เลยเมื่อวิ่งขึ้น และกลับมาทำจุดต่ำสุดใหม่เมื่อวิ่งลง 

 

ปัจจัยหลักที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นไทยรวมถึงตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลก คือเรื่องของความกลัวต่อการที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในอนาคตอันใกล้นี้ และเริ่มเป็นการย้ำเตือนให้นักลงทุนนึกย้อนไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้

 

ความเหมือนระหว่างวิกฤตการเงินปี 2008 กับปี 2022

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า สิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างปี 2008 กับปี 2022 ประกอบไปด้วยหลายส่วน อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเก็งกำไรในราคาสินทรัพย์ต่างๆ โดยก่อนหน้าปี 2008 เราเห็นแรงเก็งกำไรในตราสารการเงินที่อิงกับสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนก่อนหน้าปี 2022 สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาวะฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี 

 

นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2008 ขณะที่ปีนี้เราก็เห็นราคาน้ำมันวิ่งขึ้นมาถึงระดับ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าในปีนี้จะเกิดภาวะ Supply Shortage แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการเก็งกำไรจากเฮดจ์ฟันด์ที่เข้ามาเปิดสถานะ Long ในปริมาณมหาศาล 

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่เงินเฟ้อสูง ซึ่งเป็นลักษณะ Cost Push Inflation เหมือนกันระหว่างปี 2008 กับปี 2022 ในขณะที่อุปสงค์ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก โดยเฉพาะเมื่อปี 2007 ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอ” 

 

เมื่อปี 2008 ตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.6% แม้จะต่ำกว่าปัจจุบันที่ 8.6% แต่ก็เป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 18 ปีนับแต่ช่วงปี 1990-1991 ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบันก็เป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีนับแต่ปี 2008 เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมาอาจทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจอาจจะคล้ายกันในช่วงถัดไป

 

ความต่างระหว่างวิกฤตการเงินปี 2008 กับปี 2022

ในมุมกลับกัน ปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่างปี 2008 กับปี 2022 ก็ยังมีอยู่ในหลายด้านเช่นกัน 

 

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า จุดแรกที่แตกต่างกันคือ ทิศทางของดอกเบี้ย ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2007 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทำจุดพีคที่ 5.25% ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะค่อยๆ ปรับลดลง สวนทางกับช่วงนี้ที่ Fed กำลังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ 

 

เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ที่ยังค่อนข้างแตกต่างกัน โดยช่วงปี 2008 เราเริ่มเห็นบอนด์ยีลด์ค่อยๆ ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2007 ก่อนจะดิ่งลงแรงตามตลาดหุ้นในครึ่งปีหลังของปี 2008 แต่ปัจจุบันบอนด์ยีลด์ยังคงอยู่ในระดับสูง 

 

ช่วงวิกฤตปี 2008 ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงในครึ่งปีหลัง เพราะนอกจากเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอแล้ว ยังมีเหตุการณ์สำคัญคือ การผิดนัดชำระหนี้ในภาคการเงินจนกลายเป็นลูกโซ่ และทำให้ตลาดหุ้นเกิดความกลัวและดิ่งลงอย่างหนัก 

 

“หากปีนี้เป็นเพียงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และไม่ได้มีเหตุการณ์เฉพาะที่ตลาดอาจจะไม่เคยพบเจอมาก่อน เชื่อว่าตลาดหุ้นอาจจะไม่ดิ่งรุนแรงแบบปี 2008 เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ที่อาจจะไม่ดิ่งลงแรงเช่นกัน” 

 

สถิติในอดีตบอกอะไรกับเราบ้าง

ช่วงปี 2008 อัตราส่วน P/BV ของดัชนี SET ลดลงไปเหลือเพียง 0.8-0.9 เท่า ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เฉพาะ ฉะนั้นแล้วหากครึ่งปีหลังของปีนี้ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่ทำให้ตลาดตกใจกลัว เชื่อว่า Downside ของดัชนี SET ก็อาจจะไม่ได้มากนัก 

 

“จากสถิติของอัตราส่วน P/BV ในอดีตจากช่วงที่ดัชนีต่ำสุดในแต่ละรอบ ทำให้เชื่อว่าหากไม่ได้เกิดเหตุการณ์เฉพาะ ดัชนี SET น่าจะยืนอยู่บนระดับ P/BV 1.5 เท่า ทำให้จุดแย่สุดของดัชนี SET ในปีนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 1,460 จุด และทำให้การลดลงไปต่ำกว่า 1,500 จุด เป็นระดับที่น่าเข้าซื้อได้ทุกราคา” ณัฐชาตกล่าว

 

นอกจากนี้กลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดในช่วงปี 2008 มี 4 กลุ่ม คือ สินค้าโภคภัณฑ์ สื่อสาร การแพทย์ และอาหาร ซึ่งในปีนี้ทั้ง 4 กลุ่มก็ค่อนข้างทำได้ดีกว่าตลาดเช่นกัน 

 

“หากเป็นคนที่รอซื้อหุ้นในระดับต่ำ อาจจะอยากจะเห็นอะไรที่ลงแรง จบเร็ว แล้วขึ้นแรง แต่ตลาดตอนนี้จะหาจุดต่ำสุดได้ช้า กว่าเศรษฐกิจจะผ่านจุดต่ำสุดอาจไม่เกิดขึ้นในปีนี้ด้วยซ้ำ ทำให้ตลาดหุ้นขึ้นยาก” 

 

หลังจากนี้เราน่าจะเห็นตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ ‘หมี’ ต่อไป ซึ่งระหว่างทางอาจจะมีการฟื้นตัวบ้าง (Bear Market Rally) ซึ่งหุ้นไทยก็อาจจะเกิดขึ้นช่วงไตรมาส 4 แต่หลังจากนั้นหากไม่เห็นปัจจัยกระตุ้นใหม่ก็คงจะเห็นตลาดหุ้นแกว่งออกข้างต่อไป 

 

จับตา 3 ปัจจัยหลักที่อาจทำให้หุ้นไทยดิ่งลงแรงได้ในครึ่งปีหลัง

ในมุมของตลาดหุ้นไทย จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สิ่งที่คล้ายกันระหว่างปี 2008 กับปี 2022 คือ หุ้นกลุ่มหลักของไทยยังเป็นกลุ่มพลังงาน แต่กลุ่มที่ใหญ่ขึ้นมาค่อนข้างมากคือภาคบริการ ส่งผลให้การปรับฐานของหุ้นไทยในขณะนี้ค่อนข้างต่ำกว่าทั่วโลก เพราะมีปัจจัยเรื่องของการเปิดเมืองเข้ามาซ้อน

 

“ความกังวลในเรื่อง Recession ในไทย ต้องถามก่อนว่าเป็นลักษณะไหน หากเป็นการเกิด Recession ในระดับโลกแล้วกระทบมาที่ไทย อาจไม่ได้ทำให้หุ้นไทยลดลงมาก และอาจเห็น Downside แค่ 10-15% แต่หากเศรษฐกิจไทยเกิด Recession ด้วย ก็มีโอกาสที่หุ้นไทยจะลงได้ถึง 30% เพราะ Valuation ที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ” 

 

ทั้งนี้ จุดที่อาจจะทำให้ภาพของตลาดหุ้นไทยเริ่มปรับฐานรุนแรง จะเกิดจาก 3 ปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนต้องติดตาม ได้แก่ 

 

  1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มขึ้นดอกเบี้ย ถือเป็นจุดวัดใจแรกหลังจากที่ก่อนหน้านี้หลายคนยังสับสนว่าแท้จริงแล้วปัญหาเงินเฟ้อนั้นเป็นของจริงหรือไม่ หาก ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใดก็จะกระทบต่อภาคครัวเรือนทันที เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 90-100% สูงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก 

 

  1. ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ลดลงอย่างน่าตกใจ ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันเริ่มพุ่งขึ้นแรงตั้งแต่ไตรมาส 2 และทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นด้วย ขณะนี้ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์อาจยังไม่ได้แย่นัก แต่สิ่งที่ผิดไปจากที่คิดในช่วงที่ผ่านมาคือ เงินเฟ้อทำให้ Real GDP อาจจะลดลงมากกว่าที่คาด

 

  1. เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มกังวลว่าเรามีปัญหาอะไรมากกว่าที่คิดหรือไม่ และอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง

 

“ที่ผ่านมานักลงทุนไทยยังค่อนข้างมองโลกในแง่ดี และรู้สึกว่าโอกาสที่จะเกิด Recession มีน้อยอยู่” 

 


 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising