×

ผ่ามุมมอง 2 อดีตนายกฯ ‘ทักษิณ-อภิสิทธิ์’ ผู้นำการเมือง ‘ธนาธร’ และ BRN กับอนาคตสันติภาพชายแดนใต้

29.06.2022
  • LOADING...
อนาคตสันติภาพชายแดนใต้

ช่วงวันที่ 19-25 มิถุนายน 2565 สำนักข่าว The Motive จัดงาน ‘SCENARIO PATANI อนาคตปาตานี: ภาพชายแดนใต้ในวิสัยทัศน์ใหม่’ โดยได้เชิญบุคคลสำคัญมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ มุมมองสันติภาพ รวมถึงการมองภาพอนาคต 

 

THE STANDARD ได้สรุปสาระสำคัญในการแสดงวิสัยทัศน์ 4 คน ประกอบด้วย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ เจ๊ะมูดอ เจ๊ะเต๊ะ ตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani: BRN) 

 


 

สามารถอ่านสรุปวิสัยทัศน์ฉบับเต็ม:

 


 

ทักษิณยอมรับ สมัยเป็นนายกฯ ผิดพลาดนโยบายชายแดนใต้ มุ่งความมั่นคงมากไป ทุ่มงบทหารแทบไม่ได้อะไร ต้องพัฒนาเศรษฐกิจ

ทักษิณเริ่มต้นการแสดงวิสัยทัศน์ด้วยการให้กำลังใจพี่น้องชาวปัตตานี และชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังไขว่คว้าหาอนาคต พร้อมยอมรับว่าสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจด้านความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากจนเกินไป ซึ่งตอนหลังพบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อต้องการที่จะเปลี่ยนทิศทางในภายหลังกลับโดนรัฐประหารเสียก่อน โดยได้ไปพูดคุยผู้นำบางคนที่มาเลเซียด้วย 

 

ทักษิณกล่าวต่อไปว่า การจะแก้ปัญหาใน 3 จังหวัด ต้องเริ่มที่การเข้าใจภาวะที่แท้จริงของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ อย่างแรกคือ คนในพื้นที่พูด 2 ภาษา อย่างที่ 2 บางคนมี 2 สัญชาติที่ต้องเข้า-ออกประเทศ อย่างที่ 3 การศึกษายังเน้นไปที่การเรียนศาสนา การศึกษาในสายสามัญและสายอาชีพยังมีน้อยไป อย่างที่ 4 การพัฒนาของฝั่งไทยยังช้ากว่าฝั่งมาเลเซียมาก ทำให้มีผู้คนไหลออกไปทำงานที่มาเลเซียเป็นจำนวนมาก

 

“ธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับเมืองชายแดนทุกที่คือ ยาเสพติดและการค้ามนุษย์ จะต้องมาแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่ใช่วิธีทางการทหาร เพราะวันนี้เราใช้เงินเป็นแสนล้านกับทางทหารแล้วแทบจะไม่ได้ผลอะไรเลย แล้วยังสูญเสียชีวิตพี่น้องทหารไปอีกหลายคน” ทักษิณกล่าว 

 

ขณะนี้ตนคิดว่าควรเอางบประมาณทางการทหารมาพัฒนาร่วมกันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมมากที่สุด และจะทำอย่างไรนั้น ตนเชื่อว่าพรรคประชาชาติซึ่งอยู่ใกล้ชิดคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะสามารถนำข้อเสนอเหล่านี้ไปคุยกับรัฐบาลชุดข้างหน้าได้

 

“ผมเชื่อมั่นว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งคราวหน้า แล้วก็พรรคประชาชาติน่าจะเป็นพรรคที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ทักษิณกล่าว

 

ในส่วนวิธีการแก้ปัญหา ทักษิณกล่าวว่า เราต้องยอมรับความจริงกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วมาพยายามหาศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ จากนั้นให้นำเทคโนโลยี ซอฟต์พาวเวอร์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเข้าไป ซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่ากว่า และมองว่าที่ผ่านมาสิบกว่าปีแทบจะไม่ได้ผลอะไรเลยกับงบประมาณที่เสียไป

 

ทักษิณกล่าวอีกว่า จำได้ว่าเคยลงพื้นที่ไปตรวจในเขตที่อันตรายที่สุด ผู้บังคับกองพันเวลานั้นคือ พ.ท. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ปัจจุบันยศ พล.อ. และเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก) 

 

มั่นใจว่าถ้ามีการพูดคุยกัน ใช้การเมืองนำการทหาร เหตุการณ์จะสงบ 

ทักษิณกล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าถ้ามีการพูดคุยกัน ใช้การเมืองนำการทหาร เหตุการณ์จะสงบ แล้วจะหาแนวทางพัฒนาร่วมกันไปได้ ดูตัวอย่าง UAE ผ่านมา 50 ปี จากทรายทั้งนั้น ทุกวันนี้ความเจริญมากมาย เนื่องจากทุกแคว้นมีการพูดคุยและช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนทำให้เจริญมากอย่างวันนี้ แล้วกลายเป็นว่าเศรษฐีทั้งหลายมาอยู่กันเยอะมาก เพราะ 1. กฎหมายเป็นกฎหมาย 2. ความสงบสุขเขาดีมาก กติกาทุกอย่างชัดเจน เพราฉะนั้นวันนี้ผมยังเห็นศักยภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมมาเลเซียพัฒนาได้ เราพัฒนาไม่ได้ ก็คือต้องไปดูว่าปัญหาปัจจุบันรับมาแล้วกล้าเปลี่ยนแปลงไหม เช่น เรื่องของการปรับเป็นเขตปกครองพิเศษ แล้วให้คนพื้นที่ได้รับการเลือกตั้งมา โดยมีรัฐอาจเป็นพี่เลี้ยง พอลงตัวแล้วก็เป็นการปกครองตนเองได้” 

 

ทักษิณกล่าวปิดท้ายว่า ตนเองเชื่อว่าถ้าเราพูดภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน ทุกอย่างจะทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ด้วยดี อีกทั้งตนยังขอฝากการบ้านและความหวังไว้ว่า มั่นใจถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ลดเรื่องความมั่นคง เพิ่มเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการศึกษาที่ดีแล้ว ตนเชื่อว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีอนาคตและความสุขกันทุกคน

 

อภิสิทธิ์มองเจรจาสันติภาพชายแดนใต้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แนะออกแบบการปกครองพิเศษ รองรับอัตลักษณ์ความหลากหลายของพื้นที่

ขณะที่อภิสิทธิ์เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ตนเชื่อว่าสิ่งที่เป็นที่ปรารถนาของคนในพื้นที่ไม่ต่างอะไรไปจากมวลมนุษย์ทั่วโลก ที่ต้องการจะเห็นชุมชนของตัวเองมีความสันติสุข มีความเจริญเติบโต ความสงบสุข และพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในส่วนปัญหาก็มีอยู่ว่า ท่ามกลางเงื่อนไขที่เป็นปัญหาอุปสรรคยืดเยื้อมายาวนาน เราจะไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาได้อย่างไร

 

“ในช่วงที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ในพื้นที่ทำให้ผมต้องเริ่มต้นแก้ไขปัญหาในลักษณะตั้งรับเป็นหลัก พื้นที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับพี่น้องทั้งในพื้นที่ และคนข้างนอกที่รับรู้ถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน พื้นที่ยังถูกดำเนินการด้านต่างๆ โดยฝ่ายความมั่นคง คือทหารและตำรวจเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังจากมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุคนั้น แต่สุดท้ายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงกลับมามีบทบาทมากกว่า ไม่นับว่าพื้นที่ต่างๆ ยังอยู่ใต้กฎหมายพิเศษ นั่นคือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนใช้เป็นหลัก ณ ขณะนั้น คือการเมืองต้องนำการทหาร และต้องการที่จะหมุนให้เรื่องของการแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องของการพัฒนา ในช่วงนั้นจึงได้จัดตั้ง ศอ.บต. ขึ้นมาโดยเป็นกฎหมาย แล้วก็ถ่ายโอนอำนาจออกมาจากการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และนโยบายที่สำคัญมากที่ตนได้เริ่มต้นคือ การยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ ซึ่งประกาศมาอย่างยาวนานตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้ โดยในสมัยตนสามารถยกเลิกไปได้ 1 อำเภอ และมีความตั้งใจว่าจะทยอยยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ ออกไปด้วย เช่น กฎอัยการศึก ที่มาจากการรัฐประหารในช่วงก่อนหน้า

  

อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า หลังจากรัฐบาลของตนหมดวาระ รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เดินหน้าเรื่องของการเจรจา โดยติดต่อผ่านรัฐบาลของประเทศมาเลเซียให้เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย และเป็นครั้งแรกที่เปิดเผยถึงการพูดคุยจนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

“ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้กระบวนการนี้เป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ผมพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า ในช่วงที่ผมเริ่มต้นในเรื่องการพูดคุย ไม่ได้พูดกันในเฉพาะเรื่องของวิธีการพูดคุย หรือการพูดถึงเป้าหมายกว้างๆ แต่เริ่มพูดถึงเนื้อหาสาระที่เป็นคำตอบในระยะยาว ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องมีรูปแบบของการเมืองการปกครองที่สอดรับกับอัตลักษณ์ของชุมชนปาตานี ของคนในพื้นที่ตามความต้องการ โดยมีกรอบที่ยังอยู่ใต้ระบบกฎหมาย ก็คือรัฐธรรมนูญ รวมไปจนถึงการคิดถึงความหลากหลายที่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ ที่มีทั้งชุมชนพุทธ ชุมชนมุสลิม เป็นต้น” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ที่ตนบอกว่าเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นเพราะว่าหลังจากที่ตนเจรจามา เราแทบไม่ได้ยินในเรื่องของเนื้อหาสาระที่จะเดินหน้าในการพูดคุยไปสู่คำตอบที่เป็นความยั่งยืนในอนาคต จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่ตนได้รับทราบว่ามีการเริ่มต้นในการตกลงเรื่องของหลักการทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับของผู้ที่ร่วมพูดคุยจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตนถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

 

“หลักการพื้นฐานตรงนั้นแหละครับที่ผมคิดว่าเราจะต้องเริ่มต้นให้เห็นว่า ในที่สุดกระบวนการแบบนี้มันจะต้องมีการประนีประนอมระดับหนึ่ง หัวใจของการประนีประนอมตรงนี้มีอยู่ 2 ส่วน ในหลักการทั่วไปที่ผมคิดว่าจะต้องรีบยึดถือและผลักดันเพื่อไปสู่ความก้าวหน้าในการพูดคุยต่อไป นั่นก็คือด้านหนึ่ง ก็ดูจะเป็นที่ยอมรับเป็นหลักการทั่วไปแล้วว่า สุดท้ายปลายทางที่เราจะหาคำตอบนั้น ยังอยู่ภายใต้หลักคิดของการเป็นรัฐเดียว แต่ภายใต้รัฐเดียวไม่ได้หมายความเหมือนในช่วงแรกที่ผู้ดำเนินรายการพูดไปว่า เป็นเสื้อตัวเดียวที่ใส่เหมือนกันทุกที่ แต่สามารถที่จะมีความพิเศษในพื้นที่ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้าน เพื่อตอบสนองชุมชนนั้นๆ แต่อีกด้านหนึ่ง การที่หลักการทั่วไปที่เป็นที่ตกลงของคู่เจรจา ในขณะนี้ กล่าวถึงการที่จะต้องเคารพในเรื่องของพื้นเพอัตลักษณ์ที่มาของชุมชนปาตานี อันนี้ก็ถือเป็นการยอมรับว่า การที่จะออกแบบรูปแบบของการแก้ปัญหาในครั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นหลัก เป็นหัวใจสำคัญ” อภิสิทธิ์กล่าว

 

หัวเลี้ยวหัวต่อที่ทุกคนจะต้องช่วยกันสานต่อ

อภิสิทธ์กล่าวต่อไปว่า การที่เดินมาถึงจุดนี้กำลังเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องช่วยกันสานต่อ เพราะลำพังการพูดถึงแค่จะมีการกระจายอำนาจมากขึ้น หรือจะใช้คำว่า เขตปกครองพิเศษ เขตจัดการตัวเอง เขตปกครองตัวเอง มันมีการซ่อนรายละเอียดหลายอย่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินหน้าหาข้อสรุปหรือหาข้อตกลงร่วมกันได้

 

“ผมจึงคิดว่าภายใต้หลักการทั่วไปตรงนี้ สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือ การเริ่มลงไปสู่รายละเอียด เริ่มต้นตั้งแต่คำว่า ชุมชนปาตานี ขอบเขตของพื้นที่ หมายถึงอะไร อย่างไรบ้าง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกัน เพราะว่าเวลาเราใช้คำรวมๆ ว่า 3 จังหวัดบ้าง 3 จังหวัด 4 อำเภอบ้าง จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้าง บางคนก็เข้าใจไม่ตรงกัน แต่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของชุมชน ของพื้นที่ เมื่อมีตรงนี้แล้ว แน่นอนว่ารูปแบบการปกครองก็ต้องมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการมีตัวแทน การมีสภาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปยึดรูปแบบเดียวกับการเมืองใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบเดียวกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล เราก็สามารถที่จะออกแบบได้” อภิสิทธิ์กล่าว

 

อภิสิทธิ์ระบุอีกว่า ต้องสนับสนุนในการกระจายอำนาจมากกว่านี้ และยังเห็นอีกว่าเรามีข้อจำกัดมากมายที่จะไม่สามารถออกแบบหรือกำหนดกฎเกณฑ์ข้อบัญญัติอีกหลายอย่างให้สอดคล้องหรือเป็นเงื่อนไขเฉพาะในพื้นที่ โดยยกตัวอย่างว่า ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ภาษาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเคยมีข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระในสมัย อานันท์ ปันยารชุน ว่าภาษาตรงนี้สามารถเป็นภาษาที่พี่น้องประชาชนใช้ในการติดต่อราชการได้ไหม หรือทำเป็นกฎสำหรับพื้นที่ตรงนี้ได้หรือเปล่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันถึงความเคารพในอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่นี้ แต่อย่างไรเมื่อมาถึงจุดนี้ก็ต้องกำหนดขอบเขตอำนาจต่างๆ ถ้าเราอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ที่ยังมีความหลากหลายอยู่ ก็จะต้องคุ้มครองผู้ที่เป็นคนส่วนน้อย ก็คือชุมชนพุทธ ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา

 

“กฎเกณฑ์กติกาที่ออกมาก็ต้องไม่ทำให้ชุมชนพุทธนี้มีปัญหาในการใช้ชีวิต”  

 

อภิสิทธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเชิญชวนว่า เมื่อทุกวันนี้มีการพูดคุยเจรจา มีการยอมรับหลักการทั่วไปเบื้องต้นแล้ว การจะสร้างอนาคตที่พึงปรารถนาที่พี่น้องสามารถใช้ชีวิตและกำหนดอนาคตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง การเคารพความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในพื้นที่ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต เพราะเมื่อครั้งตนยังทำงานอยู่ในภาคการเมืองและได้ลงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นใน 3 จังหวัด สงขลา หรือสตูล ตนยังเห็นศักยภาพในพื้นที่แน่นอน และเชื่อว่าถ้าความสงบสุขเกิดขึ้น และการเมืองการปกครองในพื้นที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นั่นเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งและสำคัญที่สุดในการได้หลายสิ่งหลายอย่าง และเติมเต็มในสิ่งที่เป็นศักยภาพ และจะสร้างสันติสุขต่อไปในอนาคต

 

‘ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติภาพ’ ธนาธรแนะแก้ปัญหาชายแดนใต้ ต้องสร้างความเป็นธรรม ยกระดับความเป็นอยู่ ชูวัฒนธรรมในพื้นที่

ธนาธรได้กล่าวถึงเหตุผลที่จะพูดถึงในหัวข้อนี้ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,776 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้พิการกว่า 12,995 คน และจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 9,440 ครั้ง ซึ่งระบุว่าเป็นตัวเลขที่เยอะมาก จนแทบกล่าวได้ว่าในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ไม่เคยมีความขัดแย้งในสังคมครั้งไหนที่มีผู้เสียชีวิตมากมายเท่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วยชาวพุทธ, ชาวมุสลิม, ครู, เด็ก, ผู้หญิง, ผู้นำทางศาสนา และเจ้าหน้าที่รัฐ 

 

ธนาธรกล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความหวาดกลัวในชีวิต ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคนในชุมชน และได้ระบุว่าเป็นความชอบธรรมอย่างมากที่ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และเอกชน มาร่วมกันหาทางออก

 

โดยธนาธรได้กล่าวถึงปลายทางที่ตนอยากจะเห็นไว้ว่า อันดับที่ 1 ก็คือ ปลายทางที่เราอยากเห็นต้องมีสันติภาพ ประชาชนทุกความเชื่อ ทุกความศรัทธา อยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ปลายทางที่ 2 ที่เราอยากเห็นคือ ประชาชนมีงานทำ มีงานที่มีคุณค่า มีงานที่มีความหมาย สามารถทำงานแล้วเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขาได้อย่างเหมาะสม 

 

ปลายทางที่ 3 ที่เราอยากเห็นคือ การมีวัฒนธรรมท้องถิ่น เราอยากเห็นปลายทางที่ผู้คนในสังคมที่มีความแตกต่างทั้งทางเชื้อชาติ ทางศาสนา ทางวัฒนธรรม อยู่ด้วยกันอย่างสันติ ทุกวัฒนธรรม ทุกความเชื่อได้รับการเชิดชู และปลายทางสุดท้ายที่เราอยากเห็นก็คือ ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการบริการสาธารณะ มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ฟ้า และป่าของตนเอง โดยตนเชื่อว่าผู้ที่มานำเสนอในเวทีแห่งนี้ รวมถึงผู้ฟังหลายๆ คน คงอยากจะเห็นปลายทางของการเดินทางของพวกเราทั้ง 4 ข้อนี้อย่างที่ตนตั้งไว้

  

ธนาธรได้กล่าวถึงมาตรการทางการเมืองว่า ต้องลดบทบาทกองทัพ ใช้การทูตและการเมืองเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหา ตนมีความเห็นว่า เราต้องทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง ลดระดับปฏิบัติการทหารให้เหมือนพื้นที่อื่น และใช้การเจรจาการทูตเป็นตัวนำ และสภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้นำกองทัพเป็นตัวแทนการเจรจาเป็นหลัก

 

ต้องสร้างความเป็นธรรมในสังคม ยกเลิกการเลือกปฏิบัติเพราะชาติพันธุ์ เพราะสีผิว เพราะความเชื่อทางศาสนา และทุกคนต้องเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน ต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ผ่านๆ มา เช่น กรณีที่มีการซ้อมทรมานในค่ายทหาร และสุดท้ายต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง กระจายภาษีอย่างเป็นธรรม กระจายอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นได้จัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้ออกแบบเมืองของตน เปิดโอกาสให้กำหนดอนาคตของชุมชนตัวเองได้

 

“ตราบใดที่ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีทางที่จะสร้างสันติภาพได้ สันติภาพต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรม ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติภาพ” ธนาธรกล่าว

 

‘เราต่างแสวงหาสันติภาพ ไม่ได้แสวงหาสงคราม’ ธนาธรยกแนวทางแก้ปัญหาสันติภาพอย่างยั่งยืน

ธนาธรยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนกับรัฐส่วนกลางในพื้นที่, กรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ, กรณีของเหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์กรือเซะ ซึ่งผ่านมานานหลายปี แต่ก็ยังมิได้มีการชำระความจริง โดยตนเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนแล้วจะสร้างความเกลียดชัง และเพิ่มพูนความไม่ไว้วางใจ แล้วถ้าต้องการที่จะพูดคุยกันด้วยสันติภาพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดบทบาทกองทัพ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง

 

ธนาธรได้กล่าวถึงมาตรการทางเศรษฐกิจต่อไปว่า ต้องเริ่มที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวต่อเดือนของคนทั้งประเทศ 67 ล้านคนโดยเฉลี่ย 18,000 บาทต่อเดือน ถ้าตอนนี้ท่านมีรายได้มากกว่า 18,000 บาทต่อเดือน ท่านมีรายได้มากกว่าคนครึ่งประเทศ ถ้าท่านมีรายได้ 18,000 ต่อเดือน ท่านมีรายได้เท่าค่าเฉลี่ย

 

ธนาธรได้ระบุว่า รายได้เฉลี่ยของคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่างจังหวัดยะลาอยู่ที่ 8,500 บาทต่อเดือน ปัตตานี 6,200 บาทต่อเดือน และนราธิวาส 4,500 บาทต่อเดือน และเมื่อนำรายได้ต่อเดือนของคนแต่ละจังหวัดมาจัดลำดับจากมากไปน้อย จังหวัดยะลาอยู่ในลำดับที่ 43 ของประเทศ ปัตตานีอยู่ที่ 64 ของประเทศ และนราธิวาส ซึ่งนับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ อยู่ที่ 76 ของประเทศ จึงทำให้มิต้องแปลกใจเมื่อคนไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและต้องดิ้นรนหาทางออกทางเศรษฐกิจมานานหลายสิบปี 

 

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่เขาอาจจะมีความลังเลกับทางเลือกในอนาคต ที่ต้องการให้ 3 จังหวัดมีความเป็นเอกราช เพราะเขารู้สึกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ชีวิตของเขาไม่ได้มีความมั่นคงมากขึ้นเลย ทำให้เขาไม่สามารถมีรายได้ มีความฝัน มีความทะเยอทะยาน หรือเดินตามความฝันของตัวเองได้

 

“การแก้ปัญหา การสร้างงานที่มั่นคงให้กับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นเรื่องสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำไปพร้อมกับมาตรการทางด้านการเมือง ทุกท่านลองคิดดูว่า ใน 3 จังหวัดมีงานของเอกชนกี่งานที่สามารถจ่ายเงินเดือน 15,000-20,000 บาทให้กับประชาชนได้ ผมคิดว่าใน 3 จังหวัด 1 จังหวัดมีไม่เกิน 2,000 งาน ที่สามารถทำให้ประชาชนตั้งต้นชีวิตและเดินตามความฝันได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่คนหนุ่มสาวออกไปแสวงหาโชค ออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิตในประเทศมาเลเซีย ในภูเก็ต หรือในสงขลา เพราะมันไม่มีโอกาส มันไม่มีความฝันอยู่ที่นั่น” ธนาธรกล่าว

 

อีกทั้งได้มีการเสนออีกหนึ่งมาตรการทางเศรษฐกิจว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มียุทธศาสตร์ โดยถ้าหันไปมองตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซียจะพบว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ามูลค่าเศรษฐกิจไทยกว่า 2 เท่าตัว โดยมาเลเซียมีประชากร 32.2 ล้านคน และอินโดนีเซียมีประชากรกว่า 273.5 ล้านคน เทียบกับประชากรไทย 67 ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจมาเลเซียมีมูลค่ากว่า 333.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของอินโดนีเซียมีมูลค่ากว่า 1.05 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจไทยเล็กเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นของตลาด 2 ประเทศรวมกัน หมายความว่ามันมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่มาก ด้วยเหตุผลทางด้านภาษาและวัฒนธรรม จะมีคนไทยที่ไหนเหมาะสมที่จะเป็นทูตการค้าที่จะนำสินค้าของไทยไปค้าขายกับมาเลเซียและอินโดนีเซียมากไปกว่าคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตนคิดว่าการมองทั้ง 2 ประเทศในฐานะตลาด เพื่อที่จะสร้างงานให้กับคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น Game Changer ที่สำคัญ 

 

อีกทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีด่านการค้ามากมาย รวมถึงจังหวัดสงขลาและสตูลที่ควรจะเชื่อมโยงกันในด้านการเดินทาง และถ้าสามารถเชื่อมโยงด่านการค้าเหล่านี้ได้ สิ่งที่กำลังพูดถึงก็จะเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งธนาธรได้แสดงข้อมูลเพิ่มเติมว่า การค้าชายแดน อำเภอสะเดา ปาดังเบซาร์ และอำเภอเบตง มีมูลค่ากว่า 4.9 แสนล้านบาท และการท่องเที่ยวใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมูลค่ากว่า 8.3 หมื่นล้านบาท ก่อนช่วงวิกฤตโควิด 

 

ซึ่งในปัจจุบันการคมนาคมยังไม่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าการคมนาคมมีประสิทธิภาพขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรถบัสหรือรถไฟที่สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งหมดเข้าหากัน ที่เพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาการเดินทางลง การค้าขายก็จะเติบโตขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะไม่จำเป็นต้องใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งจะลดปัญหารถติด อีกทั้งมลพิษทางอากาศ และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ 2 ข้างทาง และ 2 ข้างรางในเวลาเดียวกัน ซึ่งถ้าทำการคมนาคมตรงนี้ได้ จะเกิดการลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ยังเอื้อให้เอกชนและนักท่องเที่ยวขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

 

ธนาธรกล่าวถึงมาตรการสุดท้ายในด้านสังคมและวัฒนธรรมว่า เราต้องทำ 3-4 อย่างด้วยกัน นั่นคือเปิดพื้นที่การเรียนรู้และการส่งต่อทางวัฒนธรรม เราต้องเข้าใจว่าปาตานีเคยเป็นรัฐของตัวเองมาก่อน มีวัฒนธรรม มีพื้นเพ มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ในการส่งต่อซึ่งวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม พื้นที่กลางแจ้ง หรือศูนย์เยาวชน

 

“โอบรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย คืนความเป็นธรรมให้กับการตีความทางด้านวัฒนธรรม ยอมรับคุณค่าที่แตกต่าง และที่สำคัญ รัฐไทยต้องเลิกยัดเยียดอัตลักษณ์ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง” ธนาธรกล่าว

  

ธนาธรกล่าวปิดท้ายว่า “เราอยากเห็นสันติภาพ เราอยากเห็นประชาชนทุกความเชื่ออยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ เราอยากเห็นประชาชนมีงานทำ งานที่มีคุณค่า งานที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ เราอยากเห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ได้รับการเชิดชู และเราอยากเห็นท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตัวเอง สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่ามนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นยูเครน ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ ไม่ว่าจะเป็นไทยมุสลิม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผมเชื่อว่าพวกเราต่างแสวงหาสันติภาพ ไม่ได้แสวงหาสงคราม และผมเชื่อว่าการจะสร้างสันติภาพนั้น เราต้องอยู่ด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ อยู่ด้วยกันอย่างยอมรับซึ่งตัวตนและอัตลักษณ์ของเพื่อนร่วมโลก อยู่ด้วยกันด้วยความรัก ไม่ใช่ความเกลียดชัง”

 

ตัวแทน BRN ยันสันติภาพต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง เผยเจรจากับรัฐบาลไทย เพราะหวังทางออกที่มีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับ

เจ๊ะมูดอกล่าวเริ่มต้นว่า การที่เราจะพูดถึงความเป็นไปของอนาคตในปาตานี เรามิอาจหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงอดีตที่ผ่านมาได้ เพราะฉะนั้นก็ควรเริ่มด้วยการเรียนรู้ความเป็นมาของเชื้อชาติมลายูในสมัยก่อน

 

“สถานะของเรา ณ ปัจจุบันก็คือ ประชาชนชาวปาตานีที่ถูกยึดครอง แต่เขาล่ะ รัฐสยามหรือรัฐไทยนั้นคือใคร ก็คือ ผู้ยึดครอง ซึ่งหมายถึงชนเชื้อชาติไทย ชนเชื้อชาติสยามที่เข้ามายึดครองนั่นเอง ด้วยเหตุเหล่านี้ วันนี้เราจึงมาพูดถึงภาพของอนาคตปาตานี อาจจะได้เอกราชหรือไม่ได้เอกราช จะมืดหรือสว่าง ก็อยู่บนความแบกรับ ความอุตสาหะของชาวปาตานีในภาพรวม ถ้าเขาไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิที่พึงมีของตัวเอง ก็จะโทษคนอื่นไม่ได้” เจ๊ะมูดอกล่าว

 

เจ๊ะมูดอกล่าวเสริมว่า BRN ก็คือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ที่เคลื่อนไหวทางด้านการเมืองและการทหารตั้งแต่ 13 มีนาคม 1960 ซึ่งต่อสู้เพื่อแบกรับความคาดหวังของประชาชนชาวปาตานีที่ถูกกดขี่ โดยมีสิ่งที่พวกตนต้องรักษา นั่นคืออัตลักษณ์ความเป็นชาวมลายู และหลังจากที่ถูกยึดครอง พวกตนเหลือแค่เพียงสถาบันครอบครัวที่ยังพอมีศักยภาพในการรักษาอัตลักษณ์ไว้ นั่นเป็นเพราะการสูญเสียเอกราช 

 

ซึ่งหลังจากพ้นการดูแลของครอบครัวไปแล้ว ก็จะเข้าสู่โรงเรียนซึ่งเป็นของรัฐไปเลย เพราะฉะนั้นสถาบันครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวมลายู และในครอบครัวมลายูหรือเพื่อนบ้านก็ควรใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร เนื่องจากสิ่งเหล่านี้คือป้อมกราการเดียวที่ยังเหลืออยู่ และถ้าไม่สามารถรักษาป้อมนี้ได้ เราก็จะไม่สามารถใช้ภาษามลายูได้อีก แม้กระทั่งในครอบครัวหรือกับเพื่อนบ้าน

  

‘แก้ปัญหาด้วยประเด็นทางการเมือง’

“ประเด็นของเราตอนนี้ก็คือ ประเด็นที่เราถูกยึดครอง ประเด็นที่เราเสียเอกราช ไม่ใช่ประเด็นความยากจน ไม่ใช่ประเด็นทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่ถูกต้องคือ ประเด็นที่เชื้อชาติหนึ่งมายึดครองอีกเชื้อชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาจะต้องแก้ปัญหาด้วยประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะต้องต่อสู้กับศัตรูของเรา นั่นคือรัฐบาลไทยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น BRN จึงตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อที่จะได้พูดคุยในประเด็นการเมือง ในอนาคตพวกตนจึงหวังว่าจะได้รับแนวทางการแก้ไขที่มีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับ” เจ๊ะมูดอกล่าว

 

เจ๊ะมูดอกล่าวต่อไปว่า ประชาชนชาวปาตานีต้องการที่จะปกครองด้วยมือของประชาชนชาวปาตานีเอง และในสิ่งแรกคือ ประชาชนปาตานีต้องการเอกราช ซึ่งจะผลักให้เรื่องนี้ตกไปไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นสิทธิที่ทุกเชื้อชาติต้องมีเอกราช ทำให้เชื้อชาติหนึ่งไม่ควรมายึดครองอีกเชื้อชาติไม่ว่าทางใดก็ตาม ในสิ่งที่ 2 การที่รัฐไทยต้องการที่จะยึดครองปาตานีต่อไป จึงทำให้พวกตนจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับรัฐบาลไทยเพื่อที่จะหาทางออกในปัญหานี้ และเป็นทางเลือกที่ 2 ในการปกครองตนเอง โดยไม่ใช่การได้รับเอกราช แต่เป็นเพียงการปกครองโดยคนปาตานีเอง 

 

เจ๊ะมูดอกล่าวต่อไปว่า การปกครองตนเองของปาตานีในอนาคต หมายความว่า เราจำเป็นที่ต้องมีสภาและกฎหมายของตนเอง โดยผ่านการเลือกตั้งภายในดินแดนปาตานี ซึ่งจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และสิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ การกำหนดชะตากรรมของตนเอง ที่เป็นสิทธิของทุกเชื้อชาติ พวกตนจึงจำเป็นที่ต้องพูดคุยกับทางรัฐบาลไทย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชาวปาตานี ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของ BRN แต่อย่างใด

 

อีกทั้งจุดยืนที่จะต้องย้ำคือ การที่ปาตานีต้องมีศาล รัฐสภา รวมถึงผู้แทนราษฎรของตัวเอง ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะลงร่องรอยประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 1785, 1902, 1905 และ 1909 โดยแนวทางเหล่านี้จะทำให้ชาวปาตานีกลับไปมีศักดิ์ศรีอีกครั้งหนึ่ง

 

ในส่วนของดินแดนนั้น พวกตนต้องการยึดภายใต้สนธิสัญญาแองโกล-สยาม ซึ่งรวมพื้นที่ 4 จังหวัดด้วยกัน นั่นคือ พื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา และทั้งจังหวัดสตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นดินแดนที่ต้องการจะเรียกร้องในการปกครองตนเองในอนาคต มาจากการที่นับตั้งแต่ปี 1909 ที่รัฐบาลสยามได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลอังกฤษ พื้นที่ 4 จังหวัดครึ่งจึงถูกยึดครองโดยสยาม

 

“เราจะให้ความเคารพ ให้การดูแลชาวปาตานีในภาพรวม ไม่เกี่ยวว่าเขามีเชื้อชาติ เชื้อสายอะไร ทุกคนเมื่อเป็นชาวปาตานี เราก็จะต้องให้อิสระในการปฏิบัติตามศาสนา ตามความเชื่อของคนเหล่านั้น ในเรื่องสิทธิมนุษยชนชนเราก็จะให้การรับรอง และทำให้มันเกิดขึ้นในปาตานี” เจ๊ะมูดอกล่าว

 

เจ๊ะมูดอระบุด้วยว่า ขณะนี้ที่มีการเจรจาสันติภาพ ในครั้งต่อไปจะนับเป็นครั้งที่ 5 โดย 4 ครั้งที่ผ่านมาได้ใช้เวลาไปหลายปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด หรือสถานการณ์ในและระหว่างประเทศ จึงทำให้ยากที่จะติดต่อสื่อสารระหว่างกันกับรัฐบาลไทย อีกทั้งยังเผยว่ามีข้อตกลงบางประการที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ในดินแดนปาตานี แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับทางออกทางการเมือง ประชาพิจารณ์ และการลดความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่พวกตนเห็นร่วมกับรัฐบาลไทย

 

เจ๊ะมูดอกล่าวปิดท้ายว่า ในส่วนของการปกครองตนเองในปาตานี พวกตนขอฝากไปถึงทุกคนให้มาร่วมกันออกแบบ และในเรื่องวัฒนธรรมมลายูที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษจวบจนทุกวันนี้นั้น มิได้ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรักษาให้อยู่ควบคู่กับอัตลักษณ์สังคมมลายูปาตานี อีกทั้งในเรื่องเศรษฐกิจที่ทุกคนต่างทราบกันดีว่า ดินแดนปาตานีเป็นหนึ่งรัฐที่ค่อนข้างมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ ซึ่งในอนาคตรากฐานเหล่านี้จะถูกนำมาเป็นพื้นฐานในการปกครองตนเอง ซึ่งจะถูกวางกฎเกณฑ์ด้วยรัฐสภาของปาตานีต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X