×

ตัวแทน BRN ยันสันติภาพต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง เผยเจรจากับรัฐบาลไทย เพราะหวังทางออกที่มีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับ

โดย THE STANDARD TEAM
28.06.2022
  • LOADING...
BRN

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ในงาน ‘SCENARIO PATANI อนาคตปาตานี: ภาพชายแดนใต้ในวิสัยทัศน์ใหม่’ ในช่วงหนึ่งได้เชิญ เจ๊ะมูดอ เจ๊ะเต๊ะ ตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani: BRN) มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ โดยได้กล่าวเริ่มต้นว่า การที่เราจะพูดถึงความเป็นไปของอนาคตในปาตานี เรามิอาจหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงอดีตที่ผ่านมาได้ เพราะฉะนั้นก็ควรเริ่มด้วยการเรียนรู้ความเป็นมาของเชื้อชาติมลายูในสมัยก่อน

 

เจ๊ะมูดอระบุว่า ในอดีตปาตานีเคยเป็นเอกราชมามากกว่า 300 ปี ตั้งแต่ปี 1457-1750 ซึ่งตนจะกล่าวถึง 3 ประวัติศาสตร์สำคัญที่ชาวปาตานีจำเป็นจะต้องรู้และตระหนัก และเมื่อเรากล่าวถึงปาตานีนั้น สิ่งนี้จะเป็นภาพฉายของหนึ่งประเทศ หนึ่งรัฐ หรือหนึ่งดินแดนของคนเชื้อชาติหนึ่งที่เคยเป็นเอกราชมาก่อน ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับเมื่อปี 1785 นั่นก็คือช่วงที่รัฐไทยเข้ามายึดครองปาตานีด้วยกำลังทหาร ตามที่นักประวัติศาสตร์ได้จดบันทึกไว้ว่า ปาตานีจำเป็นที่จะต้องส่งบรรณาการกับรัฐไทยหรือรัฐสยาม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

 

และถัดมาในปี 1902 ซึ่งเกิดความพยายามในการลบเลือนความผูกพันของประชาชนต่อเจ้าผู้ครองนครปาตานีในอดีต โดยเหตุการณ์นี้จะเชื่อมโยงมากับเหตุการณ์ที่ 3 นั่นคือการที่ปาตานีถูกยึดครองอย่างสมบูรณ์โดยรัฐสยาม

 

เจ๊ะมูดอระบุเพิ่มเติมว่า ในปี 1902 การที่คนปาตานีมองเห็นคนไทย ก็เหมือนกับการที่คนอื่นๆ เห็นผู้ยึดครองที่เข้ามาทำลายบ้านเมืองของเขา ซึ่งในปัจจุบันนี้คนมลายูปาตานีก็ยังมีความรู้สึกที่ถูกยึดครองอยู่ และเมื่อตระหนักถึงจุดนี้จึงจะสามารถตระหนักได้ว่าพวกตนคือใคร และสยามคือใคร ถัดมาในปี 1905 คนที่มีเชื้อสายพุทธหรือเชื้อสายจีนก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน คือการที่ถูกยึดครองโดยสมบูรณ์

 

“สถานะของเรา ณ ปัจจุบันก็คือ ประชาชนชาวปาตานีที่ถูกยึดครอง แต่เขาล่ะ รัฐสยามหรือรัฐไทยนั้นคือใคร ก็คือ ผู้ยึดครอง ซึ่งหมายถึงชนเชื้อชาติไทย ชนเชื้อชาติสยามที่เข้ามายึดครองนั่นเอง ด้วยเหตุเหล่านี้ วันนี้เราจึงมาพูดถึงภาพของอนาคตปาตานี อาจจะได้เอกราชหรือไม่ได้เอกราช จะมืดหรือสว่าง ก็อยู่บนความแบกรับ ความอุตสาหะของชาวปาตานีในภาพรวม ถ้าเขาไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิที่พึงมีของตัวเอง ก็จะโทษคนอื่นไม่ได้” เจ๊ะมูดอกล่าว

 

เจ๊ะมูดอกล่าวเสริมว่า BRN ก็คือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ที่เคลื่อนไหวทางด้านการเมืองและการทหารตั้งแต่ 13 มีนาคม 1960 ซึ่งต่อสู้เพื่อแบกรับความคาดหวังของประชาชนชาวปาตานีที่ถูกกดขี่ โดยมีสิ่งที่พวกตนต้องรักษา นั่นคืออัตลักษณ์ความเป็นชาวมลายู และหลังจากที่ถูกยึดครอง พวกตนเหลือแค่เพียงสถาบันครอบครัวที่ยังพอมีศักยภาพในการรักษาอัตลักษณ์ไว้ นั่นเป็นเพราะการสูญเสียเอกราช 

 

ซึ่งหลังจากพ้นการดูแลของครอบครัวไปแล้ว ก็จะเข้าสู่โรงเรียนซึ่งเป็นของรัฐไปเลย เพราะฉะนั้นสถาบันครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวมลายู และในครอบครัวมลายูหรือเพื่อนบ้านก็ควรใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร เนื่องจากสิ่งเหล่านี้คือป้อมกราการเดียวที่ยังเหลืออยู่ และถ้าไม่สามารถรักษาป้อมนี้ได้ เราก็จะไม่สามารถใช้ภาษามลายูได้อีก แม้กระทั่งในครอบครัวหรือกับเพื่อนบ้าน

 

ในส่วนอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิม มุสลิมนั้นต้องอย่าโกหก อย่าผิดเวลา และเชื่อฟังคำสอนของศาสดา สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันของอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ BRN จะแบกรับไว้ และสิ่งต่างๆ ที่หายไป จะต้องกลับคืนสู่ปาตานี และหากเราต้องการจะพูดถึงอนาคตของปาตานี จะต้องพูดถึงประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองที่เป็นจริง 

 

“ประเด็นของเราตอนนี้ก็คือ ประเด็นที่เราถูกยึดครอง ประเด็นที่เราเสียเอกราช ไม่ใช่ประเด็นความยากจน ไม่ใช่ประเด็นทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่ถูกต้องคือ ประเด็นที่เชื้อชาติหนึ่งมายึดครองอีกเชื้อชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาจะต้องแก้ปัญหาด้วยประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะต้องต่อสู้กับศัตรูของเรา นั่นคือรัฐบาลไทยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น BRN จึงตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อที่จะได้พูดคุยในประเด็นการเมือง ในอนาคตพวกตนจึงหวังว่าจะได้รับแนวทางการแก้ไขที่มีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับ” เจ๊ะมูดอกล่าว

 

เจ๊ะมูดอกล่าวต่อไปว่า ประชาชนชาวปาตานีต้องการที่จะปกครองด้วยมือของประชาชนชาวปาตานีเอง และในสิ่งแรกคือ ประชาชนปาตานีต้องการเอกราช ซึ่งจะผลักให้เรื่องนี้ตกไปไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นสิทธิที่ทุกเชื้อชาติต้องมีเอกราช ทำให้เชื้อชาติหนึ่งไม่ควรมายึดครองอีกเชื้อชาติไม่ว่าทางใดก็ตาม ในสิ่งที่สอง การที่รัฐไทยต้องการที่จะยึดครองปาตานีต่อไป จึงทำให้พวกตนจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับรัฐบาลไทยเพื่อที่จะหาทางออกในปัญหานี้ และเป็นทางเลือกที่สองในการปกครองตนเอง โดยไม่ใช่การได้รับเอกราช แต่เป็นเพียงการปกครองโดยคนปาตานีเอง 

 

เจ๊ะมูดอกล่าวต่อไปว่า การปกครองตนเองของปาตานีในอนาคต หมายความว่า เราจำเป็นที่ต้องมีสภาและกฎหมายของตนเอง โดยผ่านการเลือกตั้งภายในดินแดนปาตานี ซึ่งจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และสิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ การกำหนดชะตากรรมของตนเอง ที่เป็นสิทธิของทุกเชื้อชาติ พวกตนจึงจำเป็นที่ต้องพูดคุยกับทางรัฐบาลไทย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชาวปาตานี ไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของ BRN แต่อย่างใด

 

อีกทั้งจุดยืนที่จะต้องย้ำคือ การที่ปาตานีต้องมีศาล รัฐสภา รวมถึงผู้แทนราษฎรของตัวเอง ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะลงร่องรอยประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 1785, 1902, 1905 และ 1909 โดยแนวทางเหล่านี้จะทำให้ชาวปาตานีกลับไปมีศักดิ์ศรีอีกครั้งหนึ่ง

 

ในส่วนของดินแดนนั้น พวกตนต้องการยึดภายใต้สนธิสัญญาแองโกล-สยาม ซึ่งรวมพื้นที่ 4 จังหวัดด้วยกัน นั่นคือ พื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา และทั้งจังหวัดสตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นดินแดนที่ต้องการจะเรียกร้องในการปกครองตนเองในอนาคต มาจากการที่นับตั้งแต่ปี 1909 ที่รัฐบาลสยามได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลอังกฤษ พื้นที่ 4 จังหวัดครึ่งจึงถูกยึดครองโดยสยาม

 

“เราจะให้ความเคารพ ให้การดูแลชาวปาตานีในภาพรวม ไม่เกี่ยวว่าเขามีเชื้อชาติ เชื้อสายอะไร ทุกคนเมื่อเป็นชาวปาตานี เราก็จะต้องให้อิสระในการปฏิบัติตามศาสนา ตามความเชื่อของคนเหล่านั้น ในเรื่องสิทธิมนุษยชนชนเราก็จะให้การรับรอง และทำให้มันเกิดขึ้นในปาตานี” เจ๊ะมูดอกล่าว

 

เจ๊ะมูดอระบุด้วยว่า ขณะนี้ที่มีการเจรจาสันติภาพ ในครั้งต่อไปจะนับเป็นครั้งที่ 5 โดย 4 ครั้งที่ผ่านมาได้ใช้เวลาไปหลายปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด หรือสถานการณ์ในและระหว่างประเทศ จึงทำให้ยากที่จะติดต่อสื่อสารระหว่างกันกับรัฐบาลไทย อีกทั้งยังเผยว่ามีข้อตกลงบางประการที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ในดินแดนปาตานี แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับทางออกทางการเมือง ประชาพิจารณ์ และการลดความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องที่พวกตนเห็นร่วมกับรัฐบาลไทย

 

เจ๊ะมูดอกล่าวปิดท้ายว่า ในส่วนของการปกครองตนเองในปาตานี พวกตนขอฝากไปถึงทุกคนให้มาร่วมกันออกแบบ และในเรื่องวัฒนธรรมมลายูที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษจวบจนทุกวันนี้นั้น มิได้ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรักษาให้อยู่ควบคู่กับอัตลักษณ์สังคมมลายูปาตานี อีกทั้งในเรื่องเศรษฐกิจที่ทุกคนต่างทราบกันดีว่า ดินแดนปาตานีเป็นหนึ่งรัฐที่ค่อนข้างมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ ซึ่งในอนาคตรากฐานเหล่านี้จะถูกนำมาเป็นพื้นฐานในการปกครองตนเอง ซึ่งจะถูกวางกฎเกณฑ์ด้วยรัฐสภาของปาตานีต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising