×

ปริญญาเสนอ 5 แนวทางขจัดรัฐประหาร ชี้ศาลต้องเลิกรับรอง ด้านธงทองระบุ แก้ ม.279 อาจหืดขึ้นคอ ติด ส.ว. 250 เสียง

โดย THE STANDARD TEAM
28.06.2022
  • LOADING...
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

วานนี้ (27 มิถุนายน) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิชาการเนื่องในวาระ 90 ปีประชาธิปไตย เรื่อง การทำให้รัฐประหารหมดไปจากประเทศไทย ด้วยมาตรการทางกฎหมายและบรรทัดฐานของศาล โดยมี รศ.ดร.โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมอภิปรายและแสดงความเห็น

 

ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า ที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ มีสิทธิเสรีภาพเสมอภาคถ้วนหน้า ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหารมาถึง 13 ครั้ง รัฐธรรมนูญถูกฉีกเขียนใหม่มา 20 ครั้ง และเมื่อมันเกิดการรัฐประหารมามากขนาดนี้ ก็ไม่สามารถรับประกันเลยว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก หวังให้รัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 เป็นครั้งสุดท้าย เราจึงต้องหาหนทางแก้ไขนับแต่บัดนี้

 

การล้มล้างรัฐธรรมนูญ, อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ เป็นความผิดร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 มีโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ปริญญาเผยว่า รัฐประหารที่ทำสำเร็จมาตลอด 13 ครั้งนั้น เป็นเพราะศาลยอมรับการทำรัฐประหาร ดังนั้นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การรัฐประหารหมดไปคือ ฝ่ายตุลาการต้องเลิกรับรองการรัฐประหาร 

 

“แม้ว่าการรัฐประหารในเริ่มต้นจะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ โดยใช้ประกาศคณะปฏิวัติ แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมาก็จะมีการออกรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งจะรองรับว่าประกาศคณะปฏิวัติชอบด้วยธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเมื่อคดีไปถึงศาล ต่อให้ศาลท่านอยากเปลี่ยนบรรทัดฐานก็เปลี่ยนไม่ได้แล้ว เพราะประกาศคณะปฏิวัติกลายเป็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปเสียแล้ว” ปริญญากล่าว

 

ปริญญาเผยว่า เหตุที่การรัฐประหารชอบด้วยกฎหมายในไทย เป็นเพราะบรรทัดฐานของศาลฎีกาอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 และ 1662/2505 ระบุใจความสำคัญว่า หากคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง จะแก้ไข ออกกฎหมายใด ถือว่าเป็นกฎหมายโดยชอบ

 

ปริญญาเสนอว่า เราสามารถทำให้รัฐประหารหมดไปจากประเทศไทย และทำให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จได้โดย 5 แนวทาง ดังนี้

 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองเฉพาะประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้น มิได้รับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้ ดังนั้นประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

 

รัฐธรรมนูญที่เคยรับรองไว้ในการรัฐประหารแต่ละครั้งถูกยกเลิกหมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสถานะที่ชอบโดยกฎหมายอีกต่อไป

 

สำหรับประกาศและคำสั่ง คสช. ที่มีสถานะเป็นพระราชบัญญัติ ย่อมสามารถดำเนินการโดยใช้กระบวนการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญหลังประกาศใช้ได้เหมือนกับพระราชบัญญัติอื่น และต้องยกเลิกมาตรา 279 เพื่อทำให้ประกาศ/คำสั่งของ คสช. ไม่มีการรับรองความชอบธรรมอีกต่อไป

 

ยกเลิกประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ยังมีผลทางกฎหมายทั้งหมด สิ่งใดที่อยากใช้ต่อไปก็ทำให้เป็นพระราชบัญัติ (พ.ร.บ.) 

 

การตรารัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านกระบวนการสัญญาประชาคมจากทั้งฝ่ายประชาชน กลุ่มการเมือง ตุลาการ และทหาร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหาร และจะไม่มีการรับรองรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำอีก

 

“วันนี้เราเห็นแล้วว่า รัฐประหารไม่มีทางสร้างประชาธิปไตยและการเมืองที่ดีได้เลย นอกจากนี้อาจารย์กฎหมายในคณะนิติศาสตร์ก็ต้องเลิกสอนว่าทหารยึดอำนาจได้สำเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะนี่เป็นต้นทางของความคิดที่ศาลนำมาใช้ตัดสินอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็เป็นปัญหาของเนติบริกร ที่ไปช่วยทำให้การรัฐประหารซับซ้อนและฝังรากลึกจนยากจะขุดถอนขึ้นเรื่อยๆ” ปริญญาย้ำทิ้งท้าย

 

ด้าน รศ.ดร.โภคิน เห็นด้วยกับปริญญาในประเด็นสัญญาประชาคมว่า รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรต้องมีอำนาจควบคุมรัฐธรรมนูญในเชิงวัฒนธรรมคือ ต้องมีการบัญญัติไว้ว่า ห้ามฉีกรัฐธรรมนูญ ถือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารซ้ำอีก 

 

“ต่อไปนี้ต้องถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่จะเขียนใหม่ต้องเขียน Clause นี้ไว้เลยว่า บทบัญญัตินี้ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และจะดำรงอยู่ตลอดไปตราบที่เรายึดถือรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” รศ.ดร.โภคิน กล่าว

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.โภคิน ระบุว่า หากมีกรณีการตัดสินโดยศาลอีก ให้ศาลพิจารณาให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้เสียหายจากการยึดอำนาจนี้ เพราะประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจ และเห็นควรให้มีการบัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรม และถือให้การนิรโทษกรรมใดๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดขัดต่อหลักนิติธรรมในมาตรา 3 

 

รศ.ดร.โภคิน กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้นักการเมืองจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่นั่นคือบทเรียนให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกเขาต่อไป แต่มิใช่การจบลงที่การรัฐประหาร ทุกคนต้องไม่สยบยอมต่ออำนาจหรือการติดสินบน ย้ำว่าเราทุกคนต้องตื่นมาเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ และการตื่นในครั้งนี้จะเป็นครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปในทางที่ดีขึ้นได้

 

ขณะที่ ศ.พิเศษ ธงทอง ชี้ว่า มาตรา 279 ที่ให้ความชอบโดยกฎหมายแก่ทุกการกระทำ คำสั่ง หรือประกาศใดๆ ของ คสช. นั้นจะแก้ไขได้ยาก หรือ ‘หืดขึ้นคอ’ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันแทบไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไขได้โดยสะดวก ใจความคือการพิจารณาแก้ไขต้องพิจารณาร่วมกันทั้ง ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. โดยจำเป็นต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา และต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. มากกว่า 80 คน ถึงจะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขได้

 

อย่างไรก็ดี ศ.พิเศษ ธงทอง เห็นด้วยกับการย้อนไปชำระความกับเรื่องเก่าอย่างคำสั่งคณะรัฐประหารในอดีต เพราะถึงแม้จะไม่มีผลต่อการป้องกันในอนาคต แต่มีผลในเชิงสัญลักษณ์ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้องโดยชอบธรรม และตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสัญญาประชาคม เพื่อห้ามมิให้ทำรัฐประหารอีกต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับนักกฎหมายรุ่นใหม่ 

 

ในช่วงท้าย ศ.พิเศษ ธงทอง ยกคำพูดของผู้พิพากษา กีรติ กาญจนรินทร์ ไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรค์ในการวิจัยคดี เพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน…หากศาลรับรองอำนาจของบุคคล หรือคณะบุคคลทำการปฏิวัติรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X