การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบไม่อั้น เพื่อรักษาดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 0.25% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตามนโยบาย Yield Curve Control หรือ YCC ได้ส่งผลให้สัดส่วนของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่ถูกถือครองโดย BOJ ล่าสุดได้พุ่งขึ้นทะลุระดับ 50% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่องของ BOJ ได้ก่อให้เกิดภาวะบิดเบือนขึ้นในตลาดบอนด์ของญี่ปุ่น โดยผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวกลับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระยะสั้น หรือที่รู้จักกันในชื่อภาวะ Inverted Yield Curve ขณะเดียวกัน การรักษาระดับดอกเบี้ยระยะยาวของญี่ปุ่นในขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ยังส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงทำสถิติในรอบกว่า 20 ปี
สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า BOJ ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายนเป็นมูลค่าถึง 14.8 ล้านล้านเยน หรือ 1.1 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าปริมาณการเข้าซื้อรายเดือนที่เป็นสถิติสูงสุดเดิมในเดือนพฤศจิกายนปี 2002 ซึ่งอยู่ที่ 11.1 ล้านล้านเยน
ข้อมูลจาก QUICK ระบุว่า ณ วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา BOJ มีการถือครองพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ทั้งสิ้น 514.9 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็น 50.4% ของปริมาณยอดคงค้างพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลทั้งหมดที่ 1,021.1 ล้านล้านเยน
ย้อนกลับไปในปี 2013 ในตอนที่ญี่ปุ่นเริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ BOJ ยังมีสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ที่เพียง 10% ของยอดคงค้างทั้งหมดเท่านั้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีการประเมินว่า เพื่อรักษาระดับดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ที่ 0.25% ต่อปี BOJ จะต้องเดินหน้าเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 120 ล้านล้านเยน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของ BOJ เพิ่มขึ้น 60% ในอีกไม่นาน
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP