นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้สร้างหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘หิ่งห้อย’ แมลงตัวน้อยที่ใช้ประโยชน์จากแสงสว่างเพื่อสื่อสารกิจกรรมต่างๆ เช่น การหาคู่ ล่อเหยื่อ หรือไล่สัตว์นักล่า โดยหวังที่จะพัฒนาให้สามารถนำไปใช้ช่วยงานกู้ภัยที่เสี่ยงอันตรายสูงได้
เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้สร้างสรรค์หุ่นยนต์หิ่งห้อยนี้ขึ้นมา โดยมีขนาดเล็กจิ๋วคล้ายกับแมลงจริง และมีน้ำหนักเบาประมาณคลิปหนีบกระดาษเท่านั้น ภายในถูกบรรจุด้วยกล้ามเนื้อเทียมแบบอ่อนซึ่งสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นแสงได้ (Electroluminescence) โดยกล้ามเนื้อเทียมดังกล่าวจะทำหน้าที่ควบคุมปีกของหุ่นยนต์ และเปล่งแสงออกมาในขณะบิน
แสงที่เปล่งออกมาจะมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารกับหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกับหิ่งห้อยตัวจริง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในอนาคตมีการนำหุ่นยนต์เหล่านี้ไปใช้งานในภารกิจกู้ภัยซากตึกถล่ม หากหุ่นยนต์พบผู้รอดชีวิต ก็จะใช้แสงเป็นการส่งสัญญาณให้หุ่นยนต์ตัวอื่นๆ รับทราบและขอความช่วยเหลือไปยังเจ้าหน้าที่
ขณะนี้หุ่นยนต์ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนพัฒนาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง เพราะด้วยความที่มีขนาดเล็ก หุ่นยนต์หิ่งห้อยจึงไม่สามารถติดเซ็นเซอร์ได้ ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องติดตามหุ่นยนต์ผ่านการใช้กล้องอินฟราเรดขนาดใหญ่ซึ่งไม่ค่อยเหมาะกับการใช้งานกลางแจ้ง แต่ปัจจุบันก็ถือว่าการพัฒนาคืบหน้าไปมาก เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามหุ่นยนต์ได้อย่างแม่นยำโดยตรวจจับแสงที่เปล่งออกมา และใช้กล้องสมาร์ทโฟนเพียงแค่ 3 ตัวเท่านั้น
ผลงานการวิจัยครั้งนี้นับว่ามีความท้าทายอย่างมาก เพราะการรับหรือส่งข้อมูลด้วยหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วนั้นไม่ง่ายดายเหมือนกับหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่สามารถติดตั้งบลูทูธ ไวร์เลส หรือระบบติดตามอื่นๆ ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องขนาดและน้ำหนักในการบิน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะปรับปรุงระบบติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อให้สามารถทราบตำแหน่งหุ่นยนต์ได้แบบเรียลไทม์ พร้อมปรับปรุงระบบควบคุมสัญญาณเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเปิดหรือดับไฟระหว่างการบินได้ และสื่อสารได้เสมือนหิ่งห้อยจริง
ภาพ: Massachusetts Institute of Technology
อ้างอิง: