เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา หรือ Supreme Court ได้ออกคำพิพากษาใหม่เพื่อเป็นการล้มล้างคำพิพากษาเดิมในคดี Roe v. Wade ที่เคยให้สิทธิในการทำแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์แก่สตรีทั่วประเทศมากว่า 50 ปี ซึ่งแน่นอนว่าคำพิพากษานี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสตรีชาวอเมริกันนับล้านคน และอาจส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองรวมถึงการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
อเมริกายุคก่อนคดี Roe v. Wade
ในยุคก่อนที่จะมีคำพิพากษาในคดี Roe v. Wade ในปี 1973 นั้น การจะอนุญาตให้ทำแท้งเสรีหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลท้องถิ่นในระดับมลรัฐ กล่าวคือ มลรัฐไหนมีสภาและผู้ว่าการรัฐที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ก็จะออกกฎหมายมาเอาผิดการทำแท้ง ในขณะที่มลรัฐที่สภาและผู้ว่าการรัฐเป็นฝ่ายซ้าย ก็จะปล่อยให้ทำแท้งเสรีได้
ภูมิทัศน์ในทางกฎหมายในเรื่องสิทธิในการทำแท้งได้เปลี่ยนไปในปี 1973 เมื่อสตรีชาวเท็กซัสคนหนึ่งที่ใช้นามแฝงว่า เจน โร (Jane Roe) (ซึ่งชื่อของเธอก็ได้ถูกนำมาเป็นชื่อคดีว่า Roe v. Wade) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดว่า กฎหมายห้ามทำแท้งของมลรัฐเท็กซัสนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลสูงก็เห็นด้วยกับเธอ และตัดสินว่ารัฐบาลมลรัฐไม่สามารถออกกฎหมายห้ามการทำแท้งระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 ได้ เพราะขัดกับหลักรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยความเป็นส่วนตัว ที่ชาวอเมริกันจะทำอะไรก็ได้ตามใจตัวเองตราบใดที่ยังไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น (Right of Privacy) ก่อนที่ศาลสูงจะเปลี่ยนบรรทัดฐานจากไตรมาสที่ 1 มาเป็นความอยู่รอดของทารกได้ด้วยตัวเองนอกครรภ์มารดา (Fetal Viability) ในปี 1992
การต่อสู้ของฝ่ายอนุรักษนิยม
คำพิพากษาของคดี Roe v. Wade นั้นสร้างความโกรธแค้นให้กับฝ่ายอนุรักษนิยม โดยเฉพาะกลุ่มเคร่งศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าการทำแท้งถือเป็นบาปอย่างมหันต์ ซึ่งในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา พวกเขาก็ได้พยายามผลักดันในรัฐบาลมลรัฐ (ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก) ออกกฎหมายให้การเข้าถึงการทำแท้งทำได้ด้วยความยากลำบาก เช่น ออกกฎหมายให้การทำแท้งไม่สามาถทำได้ทันที ต้องมีช่วงระยะเวลาในการรอหลังพบแพทย์ครั้งแรก (Waiting Period) หรือการออกกฎเกณฑ์ยิบย่อยให้การเปิดคลินิกทำแท้งเป็นไปอย่างยากลำบาก
อย่างไรตาม เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของฝ่ายอนุรักษนิยมคือการกลับคำตัดสินในคดี Roe v. Wade เพราะพวกเขาเชื่อว่าหลักกฎหมายที่ศาลสูงสุดเอามาอ้างในปี 1973 (ซึ่งก็คือ Right of Privacy) นั้นเป็นหลักกฎหมายที่อ่อน และไม่ได้ระบุถึงสิทธิข้อนี้อย่างตรงๆ ในรัฐธรรมนูญ พวกเขาเชื่อว่าเมื่อไรก็ตามที่พวกเขามีเสียงข้างมากในศาลสูง พวกเขาจะสามารถแก้คำพิพากษานี้ได้
ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นโชคดีอย่างมากที่ผู้พิพากษาของฝ่ายเสรีนิยมอย่าง รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ได้เสียชีวิตลงในปี 2020 ทำให้ประธานาธิบดีจากรีพับลิกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมอย่าง เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ เข้าไปแทน ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมได้ครองเสียงข้างมากในศาลสูงสุดอย่างเด็ดขาดเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ จนมาถึงการกลับคำตัดสินของคดี Roe v. Wade ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สิทธิสตรีหลังการล้มล้างคำพิพากษาคดี Roe v. Wade
การกลับคำตัดสินของศาลสูงในครั้งนี้จะทำให้ภูมิทัศน์ของกฎหมายเรื่องการทำแท้งกลับไปเหมือนยุคปี 1970 กล่าวคือ รัฐบาลมลรัฐจะมีอำนาจเต็มอีกครั้งในการตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้ทำแท้งเสรีในมลรัฐหรือไม่
ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็มีถึง 13 มลรัฐแล้วที่กำลังจะประกาศให้การทำแท้งนั้นผิดกฎหมาย เพราะรัฐบาลของ 13 มลรัฐนี้ได้เคยออกกฎหมายไว้ล่วงหน้าแล้วว่า การทำแท้งจะผิดกฎหมายในทันทีเมื่อศาลสูงกลับคำพิพากษาของคดี Roe v. Wade (Trigger Law) และอีกกว่า 10 มลรัฐที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ก็น่าจะออกกฎหมายให้การทำแท้งนั้นผิดกฎหมายในเร็วๆ นี้ ซึ่งในที่สุดแล้วคาดการณ์กันว่าจะเหลือมลรัฐเพียงแค่ประมาณครึ่งเดียวของประเทศเท่านั้นที่ยังรับรองการทำแท้งเสรีอยู่
ศาลสูงที่มีฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นเสียงข้างมากจะหยุดที่ตรงไหน
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ฝ่ายเสรีนิยมมักจะเป็นฝ่ายที่ครองเสียงข้างมากในศาลสูงสุด และความก้าวหน้าในทางสังคมหลายๆ อย่างก็ถือกำเนิดมาจากคำตัดสินของศาลสูง
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น การแทนที่ของผู้พิพากษากินส์เบิร์กด้วยผู้พิพากษาบาร์เรตต์ได้ทำให้ดุลอำนาจของศาลสูงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะในขณะนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับกลายมาเป็นฝ่ายที่ครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด และก็เป็นไปได้ว่าผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมชุดนี้จะกลับคำพิพากษาในอีกหลายๆ คดีที่เคยเป็นชัยชนะของฝ่ายเสรีนิยม
ในคำพิพากษาของคดี Roe v. Wade ผู้พิพากษาของฝ่ายอนุรักษนิยมคนหนึ่งอย่าง คลาเรนซ์ โทมัส ก็ได้ให้ความเห็นลงไปในคำพิพากษาด้วยว่า ศาลสูงควรจะพิจารณากลับคำตัดสินในอีกหลายๆ คดีที่ใช้หลัก Right of Privacy มาตัดสิน เช่น สิทธิในการใช้ยาคุมกำเนิด (Griswold v. Connecticut), สิทธิในการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (Obergefell v. Hodges) รวมไปถึงการให้อำนาจรัฐบาลมลรัฐออกกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน (Lawrence v. Texas)
หรือแม้แต่ในเรื่องของการทำแท้งเอง ผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมชุดนี้ก็อาจจะพยายามผลักดันแนวคิดของพวกเขาให้ไปไกลมากกว่าแค่การกลับคำตัดสินคดี Roe v. Wade ด้วยการนิยามว่าสภาพบุคคลกำเนิดขึ้นหลังการปฏิสนธิ ซึ่งก็จะแปลว่าการทำแท้งถือเป็นการฆ่าคนโดยเจตนาในทุกกรณี และการทำแท้งจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้แต่ในมลรัฐที่เดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาท้องถิ่นก็ตาม
ผลกระทบต่อการเลือกตั้งกลางเทอม
คะแนนนิยมของโจ ไบเดนนั้นตกต่ำลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูง ที่ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ซึ่งด้วยคะแนนนิยมที่ตกต่ำลงของเขา ก็ทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองคาดการณ์กันไว้ว่าพรรคเดโมแครตของเขาน่าจะแพ้การเลือกตั้งทั้งในวุฒิสภา (สภาสูง), สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และสภาท้องถิ่น ในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
แต่อย่างไรก็ตาม การกลับคำตัดสินของคดี Roe v. Wade โดยศาลสูงครั้งนี้ก็อาจจะทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองนั้นเปลี่ยนไป เพราะชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (ถึงเกือบ 2 ใน 3) ไม่เห็นด้วยกับการแบนการทำแท้งช่วงการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 1 เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะกลับมาโหวตให้พรรคเดโมแครต เพื่อแสดงถึงจุดยืนในการปกป้องสิทธิสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งรัฐบาลระดับมลรัฐ ผู้ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ชะตากฎหมายการทำแท้งในยุคหลังการพลิกคำตัดสินคดี Roe v. Wade
ภาพ: Tasos Katopodis / Getty Images