วันนี้ (24 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงนโยบายแผนช่วยเหลือประชาชนด้านเศรษฐกิจสำหรับ กทม. หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจคนกรุงเทพฯ ซึ่งประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก คือการลดค่าเช่าแผงในตลาดสังกัด กทม. และการลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาผ่อนชำระของสถานธนานุบาล กทม. (โรงรับจำนำของ กทม.)
ชัชชาติกล่าวว่า กทม. มีแผนช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าแผงค้าขายในพื้นที่ 12 ตลาดสังกัด กทม. โดยจะลดค่าเช่าร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะตลาดในสังกัด กทม. เท่านั้น ตลาดอื่น กทม. ไม่สามารถไปบังคับใช้ได้
ใน 12 ตลาดประกอบด้วย 3 ตลาดหลัก ประกอบด้วย
- ตลาดจตุจักร
- ตลาดมีนบุรี
- ตลาดธนบุรี
ตลาดชุมชน 9 แห่ง ประกอบด้วย
- ตลาดประชานิเวศน์ 1
- ตลาดเยาวราช
- ตลาดบางกะปิ
- ตลาดหนองจอก
- ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก
- ตลาดรัชดาภิเษก
- ตลาดสิงหา
- ตลาดบางแคภิรมย์
- ตลาดราษฎร์บูรณะ
ในส่วนโรงรับจำนำของ กทม. ปรับลดดอกเบี้ยให้ประชาชน ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2565 จำนวน 3 เดือน ชัชชาติกล่าวว่ามาตรการเหล่านี้อาจช่วยไม่ได้มาก แต่คิดว่าพอบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง ซึ่งเงื่อนไขคือ วงเงิน 1,000-5,000 บาท ดอกเบี้ยปกติร้อยละ 25 สตางค์ เหลือ 10 สตางค์, วงเงิน 5,001-15,000 บาท ดอกเบี้ยปกติร้อยละ 1 บาท เหลือ 50 สตางค์ และวงเงิน 15,001-100,000 บาท ดอกเบี้ยปกติร้อยละ 1.25 บาท เหลือ 75 สตางค์
รวมทั้งมีการขยายตั๋วรับจำนำจาก 4 เดือน 30 วัน เป็น 6 เดือน 30 วัน เพื่อให้ประชาชนมีเวลาผ่อนชำระมากขึ้น โดยวงเงินที่ตั้งไว้สำหรับช่วยเหลือประชาชนตามโครงการนี้อยู่ที่ 2,751 ล้านบาท ยอดเงินที่ต้องชดเชย 10.89 ล้านบาท
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า หวังว่าเศรษฐกิจจะมีภาพรวมที่ดีขึ้น ส่วนหลังจากนี้เตรียมดูนโยบายช่วยเหลืออื่นๆ เช่น มาตรการหาบเร่แผงลอย และเรื่องถนนคนเดิน ปรับตามความเหมาะสม