×

สังเกตไหม ‘กะเพราไก่’ ขึ้นราคา? เกิดอะไรขึ้นกับ ‘อาหารจานเดียว’ ของไทย เมื่อ 1 ปีมานี้ ราคาแพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% ใกล้เคียงเงินเฟ้อเลยทีเดียว

24.06.2022
  • LOADING...
กะเพราไก่

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทยในรอบปี แพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% (เทียบระหว่างพฤษภาคม 2564 และพฤษภาคม 2565) ใกล้เคียงกับตัวเลขเงินเฟ้อ 7.1% ของกระทรวงพาณิชย์
  • ข้าวผัดกะเพราราคาพุ่ง แพงขึ้นเฉลี่ย 3 บาท ภายใน 4 เดือนแรกของปี 2565 (ข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565) จากเฉลี่ยจานละ 56 บาท เพิ่มเป็นเฉลี่ยจานละ 59 บาท
  • ราคาอาหารในต่างจังหวัดยังต่ำกว่าในกรุงเทพและปริมณฑลอยู่ที่เฉลี่ยจานละ 7 บาท แต่ต่างจังหวัดมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารเร็วกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • อาหารเมนูหมูยังราคาใกล้เคียงเดิม แต่เมนูไก่ราคาแพงขึ้นชัดเจน ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา
  • ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกรายงานที่ระบุว่า ทิศทางธุรกิจ ‘Food Delivery’ ที่กำลังเผชิญความท้าทายหลังจากที่โควิดคลี่คลาย เมื่อผู้คนกลับใช้ชีวิตปกติ ความจำเป็นในการสั่งอาหารมาส่งยังที่พักลดลง ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น มีผลต่อปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พักมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง
  • ด้าน Marketbuzzz เผยสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพิ่มความเปราะบางต่อภาวะการเงินของครัวเรือนไทยถึง 75% ซ้ำส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพจิตและสร้างความเครียดให้กับผู้บริโภคในวงกว้างสูงถึง 70%

เที่ยงนี้หรือวันนี้กินอะไรดี น่าจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบที่ง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘อาหารจานเดียว’ ไม่ว่าจะเป็น เช่น ก๋วยเตี๋ยว สุกี้ ข้าวผัดกะเพรา อาหารตามสั่ง ข้าวผัด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู ราดหน้า ฯลฯ

 

สิ่งที่น่าสนใจคือข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai ที่ระบุว่า ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวทั่วไทยในรอบปีแพงขึ้น 3.66 บาท หรือ 6.7% (เทียบระหว่างพฤษภาคม 2564 และพฤษภาคม 2565) ใกล้เคียงกับตัวเลขเงินเฟ้อ 7.1% ของกระทรวงพาณิชย์

 

และเมนูยอดฮิตอย่าง ‘ข้าวผัดกะเพรา’ ราคาพุ่ง แพงขึ้นเฉลี่ย 3 บาท ภายใน 4 เดือนแรกของปี 2565 (ข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565) จากเฉลี่ยจานละ 56 บาท เพิ่มเป็นเฉลี่ยจานละ 59 บาท

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

เกิดอะไรขึ้นกับราคาอาหารจานเดียวของไทย แพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อและต้นทุนวัตถุดิบแค่นั้นหรือ เรามาร่วมหาคำตอบไปด้วยกันกับบทความนี้ที่ใช้ข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai มาอ้างอิงกัน! 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD

 

เงินเฟ้อและต้นทุนวัตถุดิบทำราคา ‘พุ่ง’

LINE MAN Wongnai นำข้อมูลราคาที่ขายจริงจากร้านอาหารกว่า 7 แสนร้านที่ขายเดลิเวอรีบนแพลตฟอร์ม LINE MAN ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย มาเป็นฐานในการรายงานความเปลี่ยนแปลงราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวที่ขายในแต่ละเดือนระหว่างปี 2563-2565

 

พบว่า ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวในปี 2563 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2564 โดยตัวเลขของปี 2564 น้อยกว่าของปี 2563 อยู่เล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด

 

“เรารู้สึกว่าอยากนำข้อมูลพวกนี้มาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ เพราะใน LINE MAN เราเชื่อว่าผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นร้านจะมีอิสระในการตั้งราคา ถ้าตั้งแพงไปอาจจะทำให้ผู้บริโภคลดการสั่งซื้อลง สุดท้ายจะกลับมาจุดที่สมดุลที่เหมาะสม” อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH 

 

อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวของปี 2565 กลับเพิ่มขึ้นจากปี 2564 อย่างชัดเจน ราคาเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 55.33 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ที่ 53.33 บาท (แพงขึ้น 2 บาท) และถ้าดูตัวเลขในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 57.87 บาท เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ 54.21 บาท เพิ่มขึ้น 3.66 บาท หรือประมาณ 6.7% ใกล้เคียงกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ที่ประเมินไว้ราว 7.1% เดือนพฤษภาคม 2565

 

ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยของอาหารจานเดียวแพงที่สุดอยู่ที่ 59.96 บาท ส่วนภาคตะวันตก มีราคาเฉลี่ยถูกที่สุดอยู่ที่ 49.92 บาท (มิถุนายน 2565) โดยภาคกลางเป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 3.97 บาท (เทียบระหว่างมกราคมและมิถุนายน 2565)

 

 

“ราคาตามภูมิภาคก็เป็นเรื่องที่เราเซอร์ไพรส์เหมือนกัน อย่างภาคตะวันออกที่แพงสุดส่วนหนึ่งอาจมาจากเป็นเมืองชายทะเลที่ค่าครองชีพแพงอยู่แล้ว ส่วนภาคกลางแม้กรุงเทพฯ จะสูงแต่มีจังหวัดอื่นๆ มาถัวเฉลี่ยด้วย”

 

ดัชนี ‘ข้าวผัดกะเพรา’

ในครั้งนี้ LINE MAN Wongnai ได้หยิบเมนูยอดฮิตอย่าง ‘ข้าวผัดกะเพรา’ ออกมาวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ซึ่ง ‘เรามองว่ามี Big Mac Index ที่วัดค่าครองชีพทั่วโลก เราจึงอยากเอาข้าวผัดกะเพรามาทำเป็นดัชนีบ้าง”

 

จากการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงราคาเฉลี่ยของ ‘ข้าวผัดกะเพรา’ อาหารยอดนิยมของคนไทย (นับทั้งข้าวผัดกะเพรา ข้าวราดกะเพรา ใส่เนื้อสัตว์ทุกประเภท แต่ไม่รวมตัวเลือกเสริม เช่น ไข่ดาว ไข่เจียว ที่เลือกสั่งเพิ่มเป็นท็อปอัพแยกต่างหาก) ระหว่างปี 2563-2565

 

พบว่า ราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่จานละ 52.78 บาท และค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ จนอยู่ที่ 54.73 บาทในช่วงปลายปี (เพิ่มขึ้นประมาณ 2 บาท)

 

แต่ในปี 2565 สถานการณ์ราคาปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยช่วงต้นปี ราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราหนึ่งจานคือ 55.9 บาท และเพิ่มมาเป็น 59 บาทในเดือนพฤษภาคม (แพงขึ้น 3 บาทภายใน 4 เดือน)

 

ภาคตะวันออก เป็นภาคที่มีราคาเฉลี่ยของข้าวผัดกะเพราแพงที่สุดอยู่ที่ 62.24 บาท ส่วนภาคตะวันตก มีราคาเฉลี่ยถูกที่สุดอยู่ที่ 50.08 บาท

 

 

อย่างไรก็ตามในนิวยอร์กก็มี ‘ดัชนีพิซซ่า’ (Pizza Principle) ซึ่งชาวนิวยอร์กเชื่อว่าจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง คือการที่ราคาพิซซ่า 1 ชิ้น (Slice) จะต้องมีราคาเท่ากับค่ารถไฟใต้ดิน (Subway) 1 เที่ยวเสมอ

 

แต่ ณ เวลานี้ราคาของพิซซ่า 1 ชิ้นในนิวยอร์กนั้นสนนราคาสูงกว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 100 บาท) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับค่าสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนแรงงาน ในขณะที่การเดินทางในซับเวย์นั้นทางหน่วยงาน Metropolitan Transportation Authority (MTA) ยังคงตรึงราคาเอาไว้ที่ 2.75 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 92 บาท)

 

เรียกได้ว่าระยะห่างระหว่างการเดินทางด้วยซับเวย์เพื่อเข้าดาวน์ทาวน์กับราคาของพิซซ่าสำหรับเหล่าคนทำงานที่หิวและโหยยามดึกนั้นเริ่มมองเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมากขึ้นทุกที

 

ราคาอาหารในต่างจังหวัดยังต่ำกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ข้อมูลยังรายงานราคาเฉลี่ยอาหารจานเดียวเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม) กับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยที่ขายบนแพลตฟอร์ม LINE MAN เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าครองชีพของกรุงเทพฯ และปริมณฑลกับต่างจังหวัด

 

โดยพบว่า

  • ราคาอาหารจานเดียวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แพงกว่าต่างจังหวัดเฉลี่ยประมาณ 8 บาท (1 มกราคม 2564) แต่ส่วนต่างนี้ลดลงเหลือประมาณ 7 บาทแล้ว (1 พฤษภาคม 2565)
  • ตลอดทั้งปี 2564 ราคาอาหารจานเดียวในต่างจังหวัด เพิ่มขึ้นในอัตรา 5.9% ซึ่งขึ้นเร็วกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน
  • ในปี 2565 ราคาอาหารเริ่มปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ราคาอาหารจานเดียวเฉลี่ยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นมาแล้ว 6.68% และต่างจังหวัดเพิ่ม 7.98% (เทียบวันที่ 1 มกราคม 2565 กับ 1 พฤษภาคม 2565) 

 

 

เมนูไก่ราคาแพงขึ้นมากตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 

ข้อมูลยังรายงานการเปรียบเทียบราคาอาหารเฉลี่ย (นับรวมอาหารทุกประเภท ทุกระดับราคา) โดยแยกตามประเภทของเนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบของอาหาร พบว่าเมนูอาหารที่มีไก่เป็นส่วนประกอบมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด สอดคล้องกับข่าวเนื้อไก่แพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี 

 

ราคาเฉลี่ยของอาหารที่ใช้ไก่เป็นส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 และพุ่งขึ้นสูงสุดในเดือนเมษายน 2565 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับลดลงมาในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ยังถือว่าสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้า

 

ส่วนเมนูอาหารที่ใช้หมูเป็นส่วนประกอบ คงอยู่ที่ราว 64-69 บาทตลอดทั้งช่วงครึ่งปีแรก 2565 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาอาหารเฉลี่ย (รวมเนื้อสัตว์ทุกประเภท) ที่อยู่ราว 64-80 บาท

 

 

Food Delivery เผชิญโจทย์ยากขึ้น

ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกรายงานที่ระบุว่า ทิศทางธุรกิจ ‘Food Delivery’ ที่กำลังเผชิญความท้าทายหลังจากที่โควิดคลี่คลาย เมื่อผู้คนกลับใช้ชีวิตปกติ ความจำเป็นในการสั่งอาหารมาส่งยังที่พักลดลง ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น มีผลต่อปริมาณการสั่งอาหารไปยังที่พักมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง

 

สิ่งที่น่าสนใจคือข้อมูลของกลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักหรือไรเดอร์ เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ที่สำคัญของธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ซึ่งจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า รายได้จากค่าจัดส่งอาหารไปยังที่พักหมุนเวียนในระบบโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2563-2565

 

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น จากแนวโน้มการสั่งอาหารไปยังที่พักที่ชะลอลง ปริมาณไรเดอร์ในระบบที่มีจำนวนสูง และราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของไรเดอร์ส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจมุมมองและการปรับตัวของไรเดอร์ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยมีมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้ 

 

  • ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (ไรเดอร์) มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพไรเดอร์ในปัจจุบันมากที่สุด ได้แก่ ราคาน้ำมันแพง และจำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงใกล้เคียงกัน รองลงมาคือ การกลับไปทำงานและการกลับไปเรียนตามปกติ การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่น และการใช้โปรแกรมช่วยเหลือในการรับงาน

 

  • จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่กลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักกว่า 94% มองว่าตนเองได้รับผลกระทบ โดยปริมาณออร์เดอร์ต่อวันเฉลี่ยลดลง จากผลสำรวจพบว่า ออร์เดอร์เฉลี่ยต่อวันของผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 11-15 งานต่อคน (38%) รองลงมาอยู่ที่ประมาณ 5-10 งานต่อคน (32%)

 

  • ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพื่อจัดส่งอาหารเฉลี่ยในแต่ละวันสูงขึ้น (ปัจจุบัน ราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วกว่า 54% (เทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2564)) ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งอาหารในแต่ละเที่ยว และรายได้สุทธิของบริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักต่อวันลดลงตาม ขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงชึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อไรเดอร์บางกลุ่มที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย โดยจากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักส่วนใหญ่ถึง 42% มีค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพิ่มขึ้น 50-70 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวส่ง ระยะทาง และอัตราการกินน้ำมันของรถแต่ละรุ่น)

 

  • จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักจำเป็นต้องหาวิธีการรับมือ โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 70% ใช้เวลาทำงานรับออร์เดอร์ให้มากขึ้น เพื่อให้รายได้กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นแทน หรือหาอาชีพเสริม ขณะที่บางส่วนเลือกลงทะเบียนในแพลตฟอร์มอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน

 

 

โดยในปี 2565 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางโจทย์ธุรกิจที่มีความซับซ้อน การแข่งขันที่รุนแรง และต้นทุนธุรกิจทุกด้านปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าธุรกิจจัดส่งอาหารน่าจะขยายตัว 1.7–5.0% หรือมีมูลค่าประมาณ 7.7–8.0 หมื่นล้านบาท ชะลอลงจากที่เติบโต 46.4% ในปี 2564

 

สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพิ่มความเปราะบางต่อภาวะการเงินของครัวเรือนไทย

ขณะเดียวกัน Marketbuzzz เผยสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพิ่มความเปราะบางต่อภาวะการเงินของครัวเรือนไทยถึง 75% ซ้ำส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพจิตและสร้างความเครียดให้กับผู้บริโภคในวงกว้างสูงถึง 70% 

 

จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นประกอบกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการใช้ชีวิตของคนไทย โดย 52% คนประสบปัญหารายได้ที่ลดลง ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มฐานรากที่ได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากโควิด หรือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีความสุ่มเสี่ยงจากจำนวนรายได้ต่อเดือนที่ไม่คงที่

 

จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 70% เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดต่อเดือน และมีเงินออมประมาณ 30% อย่างไรก็ตาม ประชากรในภาคอีสานและภาคใต้มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางการเงินมากกว่าผู้บริโภคในภาคอื่นๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงถึง 80% ของรายได้

 

และเมื่อพิจารณาสัดส่วนค่าใช้จ่ายพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ใช้เงินไปกับค่าอาหารและของใช้ภายในบ้านมากที่สุดถึง 1 ใน 4 ของรายจ่ายทั้งหมด รองลงมาเป็นค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำ, ค่าไวไฟ/อินเทอร์เน็ต (13%), ค่าช้อปปิ้งของใช้ส่วนตัว หรือการดูแลสุขภาพ ความสวยความงาม (9%) หรือค่าผ่อนบ้าน, ค่าเช่าบ้าน หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัย (9%) 

 

 

ผลการวิจัยยังเปิดเผยอีกว่า 62% จากกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการที่สินค้าหรือบริการมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน, สาธารณูปโภค หรือการเดินทาง เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน 

 

แล้วคนไทยจะปรับตัวอย่างไรในสภาวะข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ โดยจากผลสำรวจพบว่า คนไทยได้วางแผนในการรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดย 67% ตั้งใจจะงดหรือลดค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าหรือบริการที่ไม่มีความจำเป็น, 50% จะปรับพฤติกรรมในการบริโภค/อุปโภค เช่น ลดการรับประทานอาหารที่มีราคาแพง, ลดการใช้ของต่างๆ ให้น้อยลง, 43% พยายามซื้อสินค้าหรือบริการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด เช่น คูปอง, แสตมป์, ส่วนลด

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X