×

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โฉมใหม่ ไฉไลกว่าเดิม ลืมภาพจำเดิมๆ ไปได้เลย

24.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins read
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทยอยปรับปรุงห้องจัดแสดงในหมู่พระที่นั่งต่างๆ ให้เข้าสู่มาตรฐานพิพิธภัณฑ์สากล ล่าสุดได้เผยโฉม 4 ห้องนิทรรศการใหม่ ได้แก่ โลหศิลป์, ศัสตราวุธ, อิสริยาพัสตราพูษาภัณฑ์ และนาฏดุริยางค์
  • เสื้อยันต์หนุมานยืนแท่น หลักเสมาแห่งฟ้าแดดสงยาง พระพุทธรูปลีลาปางจงกรมแก้ว ตุ๊กตาโดกู ตำราพิชัยสงครามฉบับอินเตอร์แอ็กทีฟ ดาบอาญาสิทธิ์ ฯลฯ เหล่านี้คือวัตถุจัดแสดงชิ้นไฮไลต์ที่เพิ่งนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก

ไม่ต้องตีตั๋วบินไปไกลถึงญี่ปุ่น ก็สามารถชมวัตถุโบราณชิ้นสำคัญระดับชาติของแดนอาทิตย์อุทัยได้ที่นิทรรศการหมุนเวียน วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น ที่ใช้เวลาเตรียมงานร่วม 3 ปี สำหรับการจัดแสดงวัตถุ 130 ชิ้นในระยะเวลา 2 เดือน

พุทธปฏิมาวิจักษณ์จากภารตะสู่อินเดีย เป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่รวบรวมพุทธศิลป์ชิ้นสำคัญจากทั่วเมืองไทยและดินแดนสุวรรณภภูมิ บางชิ้นเพิ่งนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในนิทรรศการครั้งนี่

 

 

แม้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำชาติไทย หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะขึ้นชื่อเรื่องเป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติที่ใช้เวลาเดินชมหนึ่งวันเต็มก็ไม่หมด แต่ด้วยการจัดการพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ค่อยมีลูกเล่นที่หวือหวา บวกด้วยบรรยากาศแสงไฟสลัวชวนง่วงในอาคารเก่า ทำให้คนไทยหลายคนส่ายหัวที่จะเดินเข้ามายังพิพิธภัณฑ์ประจำชาติ

 

แต่ภาพจำเหล่านั้นกำลังจะหายไปด้วยการยกเครื่องปรับโฉมครั้งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ดำเนินงานมายาวนานกว่า 140 ปี และนี่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ ที่กำลังจะยกระดับพิพิธภัณฑ์ไทยให้เทียบเท่าพิพิธภัณฑ์ชื่อดังระดับโลก

 

สู่ความเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับสากลด้วย ‘วิถีแห่งศรัทธาจากศิลปทัศน์ญี่ปุ่น’

 

 

หลังจากจ่ายเงิน 30 บาท ซื้อตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ สิ่งแรกที่จะได้เห็นคือสถาปัตยกรรมไทยเก่าแก่ของพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าสุด เดิมทีพระที่นั่งแห่งนี้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของไทยจากทุกยุคสมัย แต่เมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลงสู่มาตรฐานความเป็นพิพิธภัณฑ์สากล พระที่นั่งศิวโมกขพิมานจึงถูกปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ให้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนจากพิพิธภัณฑ์ชื่อดังระดับโลก เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของชาติทั้งหมด 106 รายการ 130 ชิ้น มาจัดแสดงในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น แน่นอนว่าการจะนำโบราณวัตถุที่มีทั้งกระดาษ ผ้าปัก และผ้าไหม ซึ่งเป็นอินทรียวัตถุที่มีความอ่อนไหวกับสภาพแวดล้อมทั้งเรื่องของอุณหภูมิ ความร้อน และแสงไฟ มาจัดแสดงย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศต้นทางจะยินยอม หากสถานที่จัดแสดง ณ ปลายทางไม่ได้มาตรฐาน

 

 

“นิทรรศการวิถีแห่งศรัทธาจากศิลปะทัศน์ญี่ปุ่นไม่ได้มีความสำคัญแค่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีมากว่า 500 ปี แต่นี่คือการนำความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ การเก็บรักษาวัตถุประเภทต่างๆ ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ล้ำหน้ากว่าเรามาปรับใช้กับพิพิธภัณฑ์ของไทย ทั้งห้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละตู้จัดแสดงมีตัวตรวจวัดความชื้น ใช้ไฟไม่มียูวี เพราะจะต้องเป็นไฟที่ไม่ให้ความร้อน โดยเฉพาะไฟที่ส่องภาพจิตรกรรมนั้นเป็นหลอดไฟเฉพาะที่ทางญี่ปุ่นนำมาให้เรา แท่นฐานที่วางวัตถุทั้งหมดไม่มีการทาสี เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อวัตถุ เป็นแท่นไม้หุ้มด้วยผ้า ไม่ได้ติดกาว ทั้งหมดใช้เวลาทำงานทั้งหมด 3 ปี โดยในช่วงปีที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นจะต้องมาดูสถานที่ที่เราปรับปรุงทุกเดือน สำหรับการจัดแสดงเพียง 2 เดือน โดยจะเปิดให้ชมถึง 18 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น”

 

 

คุณพนมบุตร จันทรโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับมาตรฐานใหม่ในการจัดแสดง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ทางไทยให้ญี่ปุ่นยืมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ 116 รายการ 130 ชิ้น อย่างประตูวัดสุทัศน์ฯ ฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 เครื่องทองสมัยอยุธยา ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวชูและโตเกียว โดยมียอดผู้เข้าชมมากถึง 2 แสนคน

ครั้นเมื่อถึงคราที่ทางญี่ปุ่นส่งโบราณวัตถุมาจัดแสดงที่ไทยจึงคัดเฉพาะชิ้นสำคัญตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว คิวชู นารา และเกียวโต บางชิ้นเป็นสมบัติของสำนักกิจการวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น โดยบางชิ้นถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเคลื่อนย้ายมาจัดแสดงนอกประเทศ และหลายชิ้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ

 

 

สำหรับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในห้องนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปปางประสูติ ที่หายากในญี่ปุ่น เพราะเป็นยุคแรกของการเข้ามาของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ต่อมาคือ ภาชนะดินเผาทรงเปลวไฟ อายุราว 4,500 ปี และที่หลายๆ คนคุ้นเคยคงไม่พ้น ตุ๊กตาโดกู รูปหญิงสาวมีตาคล้ายเปลือกแมลง ซึ่งเป็นชิ้นที่สมบูรณ์สุดในประเทศญี่ปุ่น ส่วนชุดเกราะนัมบังสมัยเอโดะนั้นจัดแสดงอยู่เคียงข้างดาบสำริดที่หุ้มด้วยหนังปลากระเบนอันเป็นสินค้าส่งออกจากอยุธยาไปญี่ปุ่นในยุคนั้น และที่เด็กๆ ทุกคนห้อมล้อมคือ ตุ๊กตาฮินะ สมัยเอโดะ สลักจากไม้ประดับชุดและมีเครื่องใช้เหมือนกับคนจริง (จัดแสดงถึง 18 กุมภาพันธ์ 2561)

 

ครั้งแรกกับการรวมพุทธศิลป์ล้ำค่าในสุวรรณภูมิ

 

 

อีกห้องนิทรรศการที่น้อยคนพูดถึง แต่เราขอย้ำว่าห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด ได้แก่ พุทธปฏิมาวิจักษ์จากภารตะสู่สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียนที่รวบรวมพุทธศิลป์ชิ้นเอกจากทั่วประเทศ รวมทั้งแดนสุวรรณภูมิอย่างชวา, เวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา มาจัดแสดงไว้ที่กรุงเทพฯ

 

พุทธปฏิมาวิจักษ์จากภารตะสู่สุวรรณภูมิ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไทยกับอินเดียมีพระพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงสองดินแดนนี้มากกว่า 2,000 ปี ดังนั้นนิทรรศการในครั้งนี้จึงเน้นงานพุทธศิลป์ที่ทำจากหินซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองสุดของอินเดีย เริ่มจากการจำลองบรรยากาศวัดถ้ำและจิตรกรรมฝาผนังจากถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย ถัดเข้าไปคือยุคเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาที่ใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนรูปเคารพ ในส่วนนี้มีวัตถุจัดแสดงไฮไลต์เป็นหินสลักรูปใบโพธิ์ที่ถูกนำมาใช้เป็นตราธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อตั้งตรงมองเป็นรูปต้นโพธิ์ แต่เมื่อวางรอบจะกลายเป็นบัลลังก์รูปดอกบัวที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นอกจากนี้ยังมีสถูปจากบุโรพุทโธ และหินสลักรูปหญิงสาวยืนเรียงกัน ซึ่งตรงกับภาพนางสุชาดาที่ถ้ำอชันตา

 

 

ถัดไปด้านในคือเนื้อหาของการกำเนิดพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 500 ปี ดังนั้นรูปลักษณ์ของพระพุทธรูปจึงขึ้นอยู่กับการตีความของศิลปินในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งพระพุทธเจ้าหน้าตาแบบกรีก ชนพื้นเมือง ต่อมาคือหมวดของ ปาฏิหาริย์ในพุทธประวัติ ชิ้นไฮไลต์ ได้แก่ สัตว์ในตำนานที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นสัตว์ชนิดใด รวมทั้งพระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว หรือพระพุทธรูปลีลาในเรือนแก้ว ที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม อยุธยา โดยไม่ได้เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนกว่าสิบปี เช่นเดียวกับภาพสลักหินจากอุโมงค์วัดศรีชุมที่ถูกปิดอย่างถาวร ซึ่งนำจัดแสดงอยู่ในหมวดของกลุ่มชาดก โดยในกลุ่มนี้ยังมีตำนานเฮอร์คิวลีสในพระพุทธศาสนา และภาพจิตรกรรมจากถ้ำอชันตาจัดแสดงอย่างละเอียด

 

 

มาสเตอร์พีซชิ้นสำคัญที่ต้องมาชมให้ได้คือ ใบเสมาพิมพ์พาพิลาศจากเมืองฟ้าแดดสงยาง ที่นำออกมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกนอกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น โดยใบเสมาพิมพ์พาพิลาศคือใบเสมาชิ้นที่อเมริการ้องขอเพื่อแลกกับการทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เหตุก็ด้วยมีฉากหลังแสดงให้เห็นสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดีที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ถ้าไม่ได้บินไปขอนแก่นก็ต้องมาชมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเท่านั้น (จัดแสดงถึง 23 มีนาคม 2561)

 

เรื่องเล่าจากวังหน้าและโฉมใหม่ของหมู่พระวิมาน

นอกจากนิทรรศการหมุนเวียนแล้ว อีกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนี้คือ การปรับห้องจัดแสดงในหมู่พระวิมานใหม่ทั้งหมด โดยนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ของวังหน้าเข้ามาใส่ไว้ทุกห้องจัดแสดง ในปัจจุบันได้ปรับปรุงแล้วเสร็จ 4 ห้อง และจะทยอยเปิดห้องอื่นๆ รวมทั้งห้องประวัติศาสตร์วังหน้าโดยเฉพาะ ต่างกับนิทรรศการเดิมที่เน้นการโชว์โบราณวัตถุมากกว่าการร้อยเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ลงไป

 


 

สำหรับ 4 ห้องนิทรรศการใหม่นั้น ได้แก่ ห้องนาฏดุริยางค์ (พระที่นั่งทักษิณาภิมุข) นำเสนอเรื่องของนาฏศิลป์ชั้นสูงในราชสำนัก ห้องนี้มีครบทั้งเครื่องดนตรี หนังใหญ่ชุดพระนครไหว หนังกลางวันที่ทาสีลงบนตัวหนังสำหรับเชิดในเวลากลางวันไม่ต้องพึ่งแสงเงา หุ่นหลวงที่ได้รับการซ่อมแซมโดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต นอกจากนี้ยังมีหุ่นวังหน้าที่ไร้ผู้สืบทอดอย่างสิ้นเชิง และที่หาชมได้ยากยิ่งคือ การรวมหัวโขนที่เป็นเศียรชั้นครูที่มีความประณีตในเชิงช่าง โดยเฉพาะเศียรหนุมานประดับเปลือกหอยมุกที่สันนิษฐานว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 เช่นเดียวกับหัวของหุ่นหลวงพระยารักน้อย พระยารักใหญ่ ที่พระองค์ทรงแกะจากไม้ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังมีเทริดโนราห์ที่วางอยู่ตรงกลางเศียรครู ซึ่งนี่คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์ เพราะหลังจากที่ครูนาฏศิลป์ถูกกวาดต้อนไปพม่าสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงขอให้ครูโนราห์จากเมืองนครศรีธรมราชขึ้นมาสอนโขนหลวงเพื่อฟื้นฟูนาฏศิลป์ชั้นครูให้กลับมา

 

ศัสตราวุธ (พระที่นั่งบูรพาภิมุข)

 

โมเดลจัดทัพตามตำราพิชัย

 

เป็นอีกห้องใหม่ที่สำคัญมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงโดยยึดเรื่องทิศเป็นสำคัญ เดิมทีห้องแสดงศัสตราวุธตั้งอยู่ด้านหลังของห้องบรรทม แต่เมื่อมีการย้อนประวัติศาสตร์ของวังหน้าขึ้นมาจึงพบว่า ทิศที่ถูกต้องของห้องศัสตราวุธต้องเป็นทิศตะวันออกเฉียงเหนือของห้องบรรทมเทียบเท่าหอศาสตราที่ใช้ประกอบพิธีด้านไสยศาสตร์และเก็บอาวุธ แน่นอนว่าวัตุชิ้นเอกของห้องนี้ต้องเป็นเสื้อเกราะแบบฉบับไทยโบราณ หรือก็คือเสื้อยันต์และหมวกยันต์ สันนิษฐานว่าเป็นของวัง โดยยันต์ส่วนใหญ่เป็นคาถาทางพุทธศาสนา ที่นำพุทธคุณมาแตกเป็นลายยันต์ หน้าด้านหลังเสื้อเป็นรูปหนุมานยืนแท่นใช้สำหรับแม่ทัพโดยเฉพาะ ส่วนหมวกเป็นพระเจ้าห้าพระองค์ ทั้งนี้เสื้อยันต์นี้สร้างขึ้นในช่วงเดียวกับตำราพิชัยสงคราม ครุฑวายุหเบญจเสนาที่จัดแสดงอยู่ใกล้กัน พร้อมระบบอินเตอร์แอ็กทีฟสามารถเปิดดูทุกหน้าได้อย่างละเอียด

 

เสื้อยันต์

 

อีก 2 ห้องใหม่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ โลหศิลป์ (พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข) และ อิสรยพัสตราภูษาภัณฑ์ (พระที่นั่งอุตราภิมุข) ซึ่งแสดงถึงความรุ่มรวยศิลปะของช่างศิลป์ไทยในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะห้องผ้านั้นเป็นห้องที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อป้องกันและมีการผลัดเปลี่ยนผ้ามาจัดแสดงอยู่ตลอด ที่สำคัญผ้าเหล่านี้มีอายุย้อนไปถึงปลายอยุธยาเลยทีเดียว โดยห้องนี้มีทั้งผ้าสมปัก ซึ่งเป็นผ้าไหมพระราชทานสั่งทอจากเขมร ผ้าลายอย่าง ซึ่งเป็นผ้าที่ทางราชสำนักออกแบบและส่งไปทำแม่พิมพ์จากไม้และพิมพ์ที่อินเดียก่อนจะส่งกลับมาที่ไทย ผ้าเขียนทอง ซึ่งเป็นการนำผ้าลายอย่างจากอินเดียมาเขียนทับด้วยทอง ฉลองพระองค์จริงของรัชกาลที่ 4 เครื่องทองโบราณประกายชมพูประดับเพชรเหลี่ยมกุหลาบ และฉลองพระองค์ครุยกรองทองที่หาชมได้ยากเต็มที เช่นเดียวกับห้องโลหศิลป์ที่ครบทั้งเครื่องกะไหล่ทอง งานคร่ำที่เป็นการฝังเส้นเงินและทองลงบนเหล็ก ดาบอาญาสิทธิ์ของจริงที่ใช้ตัดสินโทษได้ก่อนรายงาน รวมทั้งแพลงสรงจำลองของมกุฎราชกุมารองค์แรกของประเทศไทยที่น้อยคนนักจะได้เห็น

 

เสื้อผ้างามวิจิตร

 

หนึ่งวันในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีห้องนิทรรศการใหม่อีกหลายห้องเตรียมทยอยเปิดตัวในปีนี้ พร้อมด้วยวัตถุโบราณจากต่างชาติที่เตรียมจ่อคิวรอเข้ามาแสดงหลังการปรับเปลี่ยนความเป็นพิพิธภัณฑ์ไทยสู่มาตรฐานความเป็นสากลในครั้งนี้

FYI
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ พระนคร กรุงเทพฯ โทร. 0 2224 1370 เปิดบริการวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising