×

ไทยเตรียมใช้เทคโนโลยีตรวจมะเร็งตับจากญี่ปุ่น คัดกรองผู้ป่วยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยลดความเสี่ยงเสียชีวิต

20.06.2022
  • LOADING...
FUJIFILM Corporation

FUJIFILM Corporation บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากญี่ปุ่น ร่วมด้วยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ได้ผนึกกำลังกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุข เตรียมนำระบบตรวจคัดกรองมะเร็งตับจากญี่ปุ่นมาใช้ในไทย โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ในปีงบประมาณ 2567 

 

FUJIFILM หวังว่า ระบบดังกล่าวจะถูกผนวกรวมไว้ในแนวทางตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพของตนเอง โดยระบบที่ว่านี้จะเป็นการใช้อัลตราซาวด์และการหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) 3 ชนิด ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองทุก 3 เดือน ส่วนผู้ที่เสี่ยงต่ำควรตรวจทุก 6 เดือน

 

เทคโนโลยีตรวจมะเร็งตับของญี่ปุ่นถือว่ามีความก้าวล้ำกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ อย่างมาก โดยผู้ป่วยในญี่ปุ่นมักตรวจพบเนื้องอกเซลล์มะเร็งตับตั้งแต่ที่ขนาดยังโตไม่ถึง 2 เซนติเมตร ทำให้สามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหรือใช้คลื่นวิทยุทำลายเนื้องอกที่ตับได้จนหายขาด ขณะที่ผู้ป่วยกว่าครึ่งในอาเซียนมักจะตรวจพบเนื้องอกมะเร็งตับที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตรไปแล้ว จึงไม่สามารถผ่าตัดได้และจะต้องใช้เคมีบำบัดแทน โดยข้อมูลทางสถิติระบุว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในญี่ปุ่นมีอัตราการรอดชีวิตสูงที่สุดในโลก เพราะมีระบบการตรวจคัดกรองที่มีความพร้อมอยู่ทั่วประเทศ

 

รายงานจากสำนักข่าว Kyodo ระบุว่า ไทยจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่ได้นำร่องใช้ระบบดังกล่าว ก่อนที่จะขยายการใช้งานไปยังชาติสมาชิกอื่นๆ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับในระดับสูงเช่นกัน

 

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ณ ปี 2564 ระบุว่า มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีพบมากเป็นอันดับ 1 ของชนิดมะเร็งที่พบทั้งหมดในประเทศไทย โดยพบผู้ป่วยใหม่ราว 20,000 คนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตราว 16,000 คนต่อปี โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากหลายประการด้วยกัน เช่น ภาวะตับแข็ง, การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี, การดื่มสุรา และการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับจากการรับประทานปลาน้ำจืดดิบ

 

แฟ้มภาพ: Fujifilm Corp. Via Kyodo News

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X