อาการเจ็บปวดช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์เป็นอาการไม่ปกติ ส่อแววว่ามีความผิดปกติภายในช่องคลอดหรืออวัยวะในอุ้งเชิงกราน การมีเพศสัมพันธ์จึงมีคุณประโยชน์ข้อหนึ่งคือ คนมีเพศสัมพันธ์สามารถตรวจพบโรคหรือความผิดปกติได้เร็วกว่าคนไม่มีเพศสัมพันธ์ จากอาการเจ็บปวดช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง ซึ่งหมอจะพาทุกคนมารู้จัก 5 โรคที่พบบ่อย ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์กันค่ะ
1. โรคช่องคลอดแห้ง จากการไม่มีน้ำหล่อลื่น
น้ำหล่อลื่นช่องคลอดสร้างมาจากผนังช่องคลอด และต่อมน้ำหล่อลื่น (Bartholin Gland And Skene’s Gland) โดยอยู่ใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน แต่ละวันช่องคลอดจะสร้างน้ำหล่อลื่นจำนวน 1-4 ซีซี มีลักษณะเหนียวใส ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการระคายเคือง ความเป็นกรดด่าง (pH) 4.-4.5
หากมีการกระตุ้นทางเพศ กินอาหารเผ็ดร้อน รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นช่วงไข่ตก น้ำหล่อลื่นจะออกมากขึ้น การไม่มีน้ำหล่อลื่นทำให้เจ็บในขณะและหลังมีเพศสัมพันธ์ สาเหตุเกิดจากการเล้าโลมไม่เพียงพอ รับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด เครียด เป็นช่วงหลังคลอด หรือเป็นช่วงวัยทองหมดฮอร์โมน
วิธีแก้ไข แก้ไขตามสาเหตุ ในหลายกรณีการใช้เจลหล่อลื่นสามารถช่วยได้ สำหรับวัยทองหากรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผลและไม่มีข้อห้าม การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนอาการหมดประจำเดือนมักจะได้ผลดี
2. โรคช่องคลอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ
การติดเชื้อช่องคลอดที่พบบ่อยมี 3 ชนิด รวมกันนับเป็นร้อยละ 90 ของสาเหตุการติดเชื้อทั้งหมด
- เชื้อรา (Vulvovaginal candidiasis) การติดเชื้อราจะมีอาการคัน แสบ ช่องคลอดระคายเคือง เจ็บหลังมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีปริมาณมาก
สาเหตุ เชื้อราในช่องคลอดเพิ่มจำนวนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความอับชื้น เป็นโรคเบาหวาน รับประทานยาปฏิชีวนะประจำ รับประทานยากดภูมิ หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
วิธีแก้ไข ไม่นุ่งคับอับชื้น อย่าสวนล้างช่องคลอด หรือล้างช่องคลอดบ่อยๆ หากเป็นเบาหวานหรือโรคแพ้ภูมิควรรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด หากไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา
- แบคทีเรียตัวร้ายเพิ่มจำนวน (Bacterial Vaginosis หรือ BV) มีอาการเจ็บแสบคัน เจ็บปวดหลังมีเพศสัมพันธ์ มีตกขาวเป็นครีมสีเทา มีกลิ่นเหม็นเหมือนปลาเน่าหรือคาวปลา ช่องคลอดมีความเป็นกรดด่าง pH มากกว่า 4.5
สาเหตุ เกิดจากการเจริญเติบโตของแบคทีเรียตัวร้าย การ์ดเนอร์เรลลา วาไจนาลิส (Gardnerella vaginalis) ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด ทำให้แลคโตบาซิลลัสซึ่งเป็นแบคทีเรียตัวดีปล่อยกรดแลคติกออกมาควบคุมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียตัวร้ายให้มีจำนวนลดลง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดคือ มีคู่นอนหลายคน เครียด พักผ่อนไม่พอ ดื่มน้ำน้อย บางคนกินของดิบหมักดองมาก สวนล้างช่องคลอดเป็นประจำ ความเป็นกรดด่างในช่องคลอดเปลี่ยนไป เป็นการทำลายแบคทีเรียชนิดดี
วิธีแก้ไข รับประทานอาหารสดสะอาด ลดความเครียด ดื่มน้ำให้มาก พักผ่อนให้เพียงพอ พบแพทย์เพื่อตรวจภายใน ให้การวินิจฉัย รักษา และอธิบายวิธีปฏิบัติตัวเพื่อให้หายขาด
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections หรือ STIs) เช่น พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) หนองในแท้ หนองในเทียมหลังมีเพศสัมพันธ์ 2-7 วัน เฉลี่ย 3-4 วันจะมีอาการตกขาวมีสีเหลืองหรือเขียวจำนวนมาก มีกลิ่นเหม็นตุๆ คัน แสบช่องคลอด แสบช่องปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
วิธีรับมือ ในกรณีที่รู้หน้าไม่รู้ใจ ควรมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัย หลังมีเพศสัมพันธ์หากมีอาการผิดปกติอย่าคิดว่าจะหายเอง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ
3. โรคช่องคลอดหดเกร็ง (Vaginismus)
ทำให้เจ็บช่องคลอดในขณะและหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นภาวะที่พบได้มากถึงร้อยละ 20 ของผู้หญิง สาเหตุของช่องคลอดหดเกร็งจนไม่สามารถสอดใส่เข้าไปได้นั้น ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีปัจจัยต่างๆ ที่เกื้อหนุนให้เกิดดังนี้
- เป็นกลุ่มอาการปากช่องคลอดอักเสบ (Vulvar vestibulitis syndrome) การอักเสบที่เกิดขึ้นไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่จะเจ็บและมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเมื่อมีการสอดใส่
- เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการเจ็บเวลาสอดใส่ เช่น เชื้อรา ทางเดินปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ ฯลฯ
- มีความเครียด วิตกกังวล กลัวการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งเกิดจากความฝังใจ หรือความเชื่อที่ได้รับการปลูกฝังมา บางคนเคยถูกล่วงละเมิด หรือบาดเจ็บที่ช่องคลอดมาก่อน
การรับมือ สามารถรักษาด้วยตนเองได้เช่น ทำความคุ้นเคยกับช่องคลอด หัดขมิบเพื่อควบคุมการเกร็งและสร้างความผ่อนคลาย ใช้เจลหล่อลื่น ใช้นิ้วสำรวจ ค่อยๆ ใส่เครื่องถ่างขยาย ใช้อวัยวะเพศเทียมหากยังสอดใส่ไม่ได้ ควรพบจิตแพทย์และสูติแพทย์เพื่อลดความเครียด และหาสาเหตุที่ทำให้เกิด ปัจจุบันการใช้โบท็อกซ์ฉีดให้กล้ามเนื้อช่องคลอดที่หดเกร็งคลายตัวก็พบว่าได้ผลดี
4. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์
โรคนี้ทำให้ปวดประจำเดือน เจ็บท้องน้อยเรื้อรัง เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ มีลูกยาก
พบโรคนี้ในหญิงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธ์ุที่มีอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ได้ถึงร้อยละ 70 และพบในผู้มีลูกยากร้อยละ 50
สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่โรคนี้เป็นพันธุกรรม เชื่อว่าเกิดจากประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่ยังมีชีวิตไปเจริญเติบโตที่รังไข่ เยื่อบุช่องเชิงกราน ผิวมดลูก ผิวกระเพาะปัสสาวะ ผิวลำไส้ ปัจจัยเสี่ยงอาจเกิดจากมีประวัติคนในครอบครัวเป็น ไม่มีลูก มีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนมาก มีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า มีประจำเดือนมาบ่อยและมานาน
วิธีรับมือ เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยเรื้องรัง ปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ มีลูกยาก อย่านิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา
5. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
หากมีอาการปัสสาวะบ่อย กลางวันเกิน 5 ครั้ง และกลางดึกต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป แถมมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะสุดแล้วรู้สึกเสียว ปัสสาวะขุ่นหรือปนเลือด มีอาการปวดท้องน้อย เจ็บปวดช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์ ทั้งหมดนี้อาจส่อว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) โรคนี้เจอได้มากในเพศหญิงเพราะท่อปัสสาวะสั้น เชื้อโรคสามารถไต่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้โดยง่าย เชื้อโรคที่ว่านั้นก็เป็นเชื้อแบคทีเรียของตัวเราเอง โดย 75-95% เกิดจากเชื้ออีโคไล (E. Coli, Escherichia Coli) มีอยู่ตามธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ เนื่องจากปากท่อปัสสาวะของผู้หญิงอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก เชื้ออีโคไล จากช่องคลอดและจากทวารหนักจึงมีโอกาสปนเปื้อนเข้าสู่ท่อปัสสาวะ และเดินทางต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะได้มากกว่าผู้ชาย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบคือ ดื่มน้ำน้อย ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ชอบนั่งๆ นอนๆ กลั้นปัสสาวะ เป็นเหตุให้ปัสสาวะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ควรปรับพฤติกรรมใหม่ ไม่กลั้นปัสสาวะ ไม่นั่งทำงานนานๆ ควรลุกเดินหรือเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ดื่มน้ำให้เพียงพอ ด้านสุขอนามัย เมื่ออุจจาระต้องล้าง เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง และซับให้แห้งเสมอ
อ้างอิง:
- Anderson MR, Klink K, Cohrssen A. Evaluation of vaginal complaints. JAMA 2004; 291:1368.
- Workowski KA, Bachmann LH, Chan PA, et al. Sexually Transmitted Infections Treatment Guidelines, 2021. MMWR Recomm Rep 2021; 70:1.
- Binik YM. The DSM diagnostic criteria for vaginimus. Arch Sex Behav 2010; 39:278.
- Vercellini P, Viganò P, Somigliana E, Fedele L. Endometriosis: pathogenesis and treatment. Nat Rev Endocrinol 2014; 10:261.
- Hooton TM. Clinical practice. Uncomplicated urinary tract infection. N Engl J Med 2012; 366:1028.