ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาวงการฟุตบอลอังกฤษได้สูญเสีย ‘ฮีโร่’ คนหนึ่งไปอย่างไม่มีวันกลับครับ
ความจริงฮีโร่คนนี้อาจจะไม่ใช่คนที่แฟนบอลรุ่นหลังรู้จักมากนักเพราะไม่ได้เป็นนักเตะสตาร์มหาชนในระดับวงกว้าง แต่การจากไปของเขากลับนำความโศกเศร้าครั้งใหญ่สู่คนในแวดวงลูกหนังเมืองผู้ดีอย่างมากมายเหลือคณา
นักฟุตบอลระดับตำนานในยุค 90 หลายต่อหลายคนโพสต์ข้อความถึงเขา
คนข่าวระดับอาวุโสมากมายพร้อมใจเขียนบทสดุดีอย่างพร้อมหน้า
เช่นกันกับแฟนบอลที่เกิดทันกันก็หัวใจสลายไม่แตกต่าง
คิดถึงว่าเขาคนนี้ไม่ได้เล่นในทีมระดับท็อปและโด่งดังอย่าง ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล อีกทั้งติดทีมชาติอังกฤษเพียงแค่ 5 นัดเท่านั้น มันก็อาจเข้าใจได้ยากว่าทำไมผู้คนจึงอาลัยมากขนาดนี้
แต่หากไม่มีเขาคนนี้ นักเตะอย่าง แอนดี้ โคล, เลส เฟอร์ดินานด์, เอมิล เฮสกีย์, มาจนถึงทุกวันนี้กับ มาร์คัส แรชฟอร์ด (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), โดมินิค คาลเวิร์ต-เลวิน (เอฟเวอร์ตัน) และ เรียน บริวสเตอร์ (ลิเวอร์พูล) อาจไม่มีแม้แต่ ‘โอกาส’ สักเล็กน้อยในเกมฟุตบอลอังกฤษเลยครับ
นักเตะผิวสีในอังกฤษ มีทุกวันนี้ได้เพราะเขาช่วยแผ้วทางถางพงหญ้าให้เดินตามมา
มาร่วมอาลัยและรำลึกถึงเขาไปด้วยกันนะครับ
ไซริลล์ รีจิส อัศวินนักเตะผิวสีที่รัก
The Trailblazer ผู้ลบบาดแผลด้วยรอยยิ้ม
ว่าแต่ ผมจะอธิบายถึงตัวตนของ ไซริลล์ รีจิส อย่างไรดีนะ?
สำหรับนักเตะรุ่นหลังๆ ไม่ค่อยมีใครคล้ายเขามากนักครับ กับกองหน้าในสไตล์ตัวเป้า (targetman) ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ มัดกล้ามกำยำ มีความเร็วบ้าง และมีการจบสกอร์ที่เฉียบขาด อาจจะยิงไม่มากแต่แทบทุกลูกของเขาสามารถส่งเข้าประกวดประตูยอดเยี่ยมประจำเดือน หรือประจำปีได้เลย
เอาจริงๆ เขาก็เคยคว้ารางวัลประตูประจำฤดูกาลของ BBC ได้ด้วยในปี 1981-1982!
นักฟุตบอลที่ใกล้เคียงกับ รีจิส ที่สุดอาจจะเป็น เอมิล เฮสกีย์ ที่แฟนบอลในรุ่น 30 กะรัตน่าจะพอนึกออก เพียงแต่ต่างกันตรงที่ รีจิส ไม่ได้เป็นกองหน้าที่ลงมาช่วยเกมรับตามสไตล์ของยุคสมัยที่แตกต่าง
เขาเป็นดาวดังของทีม ‘เดอะ แบ็กกีส์’ เวสต์ บรอมวิช อัลเบียน สโมสรฟุตบอลทางมิดแลนด์ของอังกฤษ เป็นหนึ่งใน 3 ทหารเสือของทีมร่วมกับ ลอรี คันนิงแฮม และ เบร็นดอน บัตสัน
รอน แอตกินสัน ผู้จัดการทีมชื่อดังในยุคนั้น (คุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก่อน เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน) เรียกขานทั้งสามว่า The Three Degrees ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สโมสรในดิวิชันสูงสุดมีนักเตะผิวสีพร้อมกันถึง 3 คน
แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เหมือนว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตที่ดี แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่เลยครับ
ฟุตบอลอังกฤษในยุค 70 ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเขาเริ่มแจ้งเกิดนั้นเป็นช่วงที่มีปัญหาการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง
แรงในระดับที่นักฟุตบอลผิวสีในปัจจุบันนี้อาจจินตนาการไม่ออกว่ามันเลวร้ายแค่ไหน
รีจิส รวมถึง คันนิงแฮม และ บัตสัน ต้องเผชิญกับมันทุกวัน
นอกจากเสียงด่าทอที่ยากจะทำใจยอมรับได้จากแฟนบอลแล้ว ผู้คนในวงการฟุตบอลยุคนั้นเองก็ไม่ได้ให้การยอมรับนักเตะผิวสีมากนักครับ
หากเป็นนักเตะผิวสีแล้ว พวกเขาพร้อมถูกตัดสินจากสรีระทันทีว่านี่เป็นพวก ‘มนุษย์กล้าม’ ไม่ใช่ ‘นักฟุตบอล’ (เหมือนนักเตะผิวขาวที่รูปร่างบอบบางกว่า) ดังนั้นตำแหน่งที่ถูกตัดสินเอาเองว่าเหมาะกับนักเตะผิวสีในยุคนั้นคือตำแหน่งที่ใช้ความเร็วอย่างเช่น ‘หมายเลข 11’ ในตำแหน่งปีก (ยกตัวอย่างเช่น คันนิงแฮม หรือจอห์น บาร์นส)
หรืออีกทีก็คือตำแหน่งที่ใช้ความแข็งแกร่งและพละกำลังอย่าง ‘หมายเลข 4’ หรือปราการหลังตัวกลาง
น้อยมากครับที่จะมีนักเตะผิวสีที่ได้เล่นในบท ‘หมายเลข 9’ หรือกองหน้า เรียกว่าแทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
แต่ ไซริลล์ รีจิส เป็นส่วนน้อยที่พิเศษอย่างยิ่งของโลกลูกหนังที่ได้โอกาสในการเล่นในบทศูนย์หน้าทั้งที่สีผิวแตกต่าง และด้วยความสามารถที่น่าอัศจรรย์ของเขาที่ครบเครื่องทั้งความแข็งแกร่ง ความเร็ว และการจบสกอร์ที่เหลือเชื่อ ทำให้เขาไปได้ไกลถึงทีมชาติอังกฤษ
น่าเศร้าที่กำแพงทางสีผิวทำให้เขามีโอกาสได้ติดทีมชาติเพียงแค่ 5 ครั้งเท่านั้น
ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นรองใครเลยในยุคสมัยเดียวกัน
แต่ รีจิส ไม่ได้คิดมาก
เขาต้องการแค่ทำให้ดีที่สุดในสนาม และยิ้มสู้ในทุกวัน
เขากล้าที่จะกระโดดลงจากรถบัสเป็นคนแรกแม้จะรู้ว่าจะต้องเจอกับเสียงสบถ คำด่าทอ หรือแม้แต่เสลดน้ำลายจากกองเชียร์ทีมฝ่ายตรงข้าม
เขากล้าที่จะลงไปทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในสนาม แม้ว่าจะถูกปาด้วยกล้วยลงมาในสนาม
เขากล้าจะยิงประตูคู่ต่อสู้ และกล้าที่แม้แต่จะสวมเสื้อทีมชาติอังกฤษสีขาวสะอาด เพราะมั่นใจว่ามันคือสิ่งที่คู่ควรกับเขา
สำหรับ รีจิส นอกจากคู่แข่งที่เขาไม่อยากแพ้แล้ว แฟนบอลฝ่ายตรงข้ามที่ตะโกนด่าทอเขาว่า ‘ไอ้มืด’ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นก็เป็นคู่แข่งที่เขาอยากเอาชนะให้ได้ด้วยเช่นกัน
“เราปล่อยให้พวกเขาชนะไม่ได้ แต่จะให้ผมทำอย่างไร? ให้ไปสู้กับคนอีกเป็น 10,000 หรือ? สิ่งที่ผมทำได้คือการเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ลงไปเล่นให้ดี ทำประตูให้ได้”
มันไม่ใช่การชนะเพื่อความสะใจ
สิ่งที่เขาต้องการคือการ ‘ยอมรับ’ ในฐานะ ‘มนุษย์’ ที่เท่าเทียมกัน
ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น
อัศวินนักเตะผิวสีที่รัก
ความเด็ดเดี่ยวในสนามของ ไซริลล์ รีจิส เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เปรียบไปก็เหมือนอัศวินในชุดเกราะสีดำผู้แข็งแกร่ง
แต่ใต้เกราะสีดำทะมึนนั้น ตัวตนของเขากลับอ่อนโยนและเต็มไปด้วยความรักที่พร้อมมอบให้แก่ทุกคน
ในยุคสมัยนั้นนักฟุตบอลไม่ได้เป็นซูเปอร์สตาร์เหมือนในสมัยนี้ครับ พวกเขาก็แค่ทำงานเป็นนักฟุตบอล อาชีพที่มีรายได้ดีกว่าชาวบ้านแต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันราวฟ้ากับผืนดินเหมือนทุกวันนี้
รายได้ 100 ปอนด์ต่อสัปดาห์ในสมัยนั้นก็นับว่าเยอะแล้วครับ
รีจิส เองก่อนจะมาเล่นฟุตบอลก็เคยเป็นช่างไฟมาก่อน และเขาก็เป็นที่รู้จักและเป็นที่รักกันดีในหมู่แฟนบอลแบ็กกีส์
ในวันที่ไม่มีแข่งนั้นนักฟุตบอลก็จะไปดื่มกันที่ผับในเมือง ซึ่งเขาจะมีที่ประจำอยู่ที่ The Star & Garter ผับที่อยู่นอกตัวเมืองออกไปเล็กน้อย
ถ้าเป็นวันแข่งในบ้านนักเตะอัลเบียนจะจอดรถกันที่โรงเรียนที่อยู่ใกล้สนามแล้วจึงเดินเข้ามาที่สนาม ไม่ได้นั่งรถโค้ชมาพร้อมกันเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นมันเป็นช่วงเวลาที่นักเตะและแฟนบอลจะได้ใกล้ชิดพูดคุยแลกเปลี่ยน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน
บางครั้งนักเตะจะถูกส่งไปพบกับแฟนบอลด้วยเพื่อความใกล้ชิดตามความตั้งใจของนายใหญ่อย่าง รอน แอตกินสัน ที่อยากให้ลูกทีมได้รู้ว่า “ใครคือคนจ่ายเงินค่าเหนื่อยให้พวกเขา”
และในหมู่นักฟุตบอลยุคนั้น คนที่แฟนบอลชื่นชอบมากที่สุดคนหนึ่งคือ รีจิส นี่แหละครับ
ที่เขาเป็นที่รักนั้นไม่ใช่เพราะแค่เล่นเก่ง ทำประตูได้เยอะ หรือยิงสวย
สิ่งที่ทำให้ รีจิส ชนะใจแฟนบอลทีมตัวเองได้ไม่ยากคือการเป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยพลังบวก
ใบหน้าของเขาเต็มไปด้วยรอยยิ้มเสมอ และสิ่งที่เขาพูดนั้นล้วนเป็นเรื่องที่น่าฟังเสมอ
ยิ่งในยุคสมัยนั้นอังกฤษประสบปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรง และเมืองเวสต์ บรอมวิช ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานในโรงงานใช้ชีวิตกันยากลำบาก ฟุตบอลจึงเป็นหนึ่งในสิ่งยึดเหยี่ยวสำหรับพวกเขา
การที่มีนักฟุตบอลผิวสีที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญ พร้อมสู้กับทุกเรื่องราวในชีวิตด้วยรอยยิ้ม โดยที่พวกเขาสามารถเดินไปทักทายหรือพูดคุยได้ตลอดเวลา จึงเป็นกำลังใจที่สำคัญสำหรับชาวเมืองเวสต์บรอมฯ ในเวลานั้น
ขณะที่เด็กๆ ผิวสีในรุ่นต่อมา สำหรับพวกเขา ไซริลล์ รีจิส คือคนที่พวกเขาอยากเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
นักเตะกองหน้าทีมชาติอังกฤษผิวสีคนนี้คือ ‘แรงบันดาลใจ’ ของยุคสมัย
และเขาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดแคมเปญ ‘Kick It Out’ การรณรงค์เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเหยียดสีผิว
ถ้า รีจิส ทำได้ ทุกคนก็ทำได้
ช่วงชีวิตหลังอำลาสนามฟุตบอล เขาทำงานอยู่เบื้องหลังในบริษัทเอเจนซีชื่อดัง Stellar Group และใช้เวลาว่างในการทำงานการกุศล โดยเฉพาะการสนับสนุนคนผิวสีที่ทุกวันนี้ยังเผชิญกับปัญหาเดิมอยู่ แม้ความรุนแรงอาจไม่เท่าในยุค 40-50 ปีที่แล้วก็ตาม
การจากไปในวัย 59 ปีของเขาจึงไม่ใช่แค่การสูญเสียยอดนักเตะครับ แต่เรายังได้สูญเสียสุภาพบุรุษลูกหนัง และแรงบันดาลใจของยุคสมัยด้วย
เพียงแต่ที่สุดแล้วเรื่องราวของ ไซริลล์ รีจิส จะไม่มีวันหายไป
เพราะนี่คือหนึ่งในตำนานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
และงดงามที่สุดด้วยเช่นกัน
Photo: Reuters
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/football/2014/jul/25/west-brom-three-degrees-book-extract
- www.telegraph.co.uk/football/2018/01/15/former-west-brom-striker-cyrille-regis-dies-aged-59/
- www.wba.co.uk/news/2018/january/a-tribute-to-cyrille-regis/#.Wl3Rpb4-suc.twitter
- getpocket.com/a/read/2030479203
- getpocket.com/a/read/2030038636
- getpocket.com/a/read/310201792
- ไซริลล์ รีจิส ทำผลงาน 158 ประตูในลีก จากการเล่น 614 นัด และติดทีมชาติอังกฤษ 5 นัดในระหว่างปี 1982-1987
- เมื่อปี 2008 รีจิส ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากงานด้านอาสาสมัคร
- ในช่วงบั้นปลายชีวิตการเล่นเขาเคยพังประตูพาทีมต้นสังกัด โคเวนทรี ซิตี้ คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ เมื่อปี 1987 ด้วยการล้ม ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ 3-2
- แต่ที่คนจดจำเขาได้มากที่สุดคือเขาและเหล่า The Three Degrees บุกไปถล่ม ‘ปีศาจแดง’ ถึงถิ่น 5-3
- เพราะอาการบาดเจ็บทำให้ รีจิส พลาดการย้ายไปร่วมทีม แมนฯ ยูไนเต็ด อย่างน่าเสียดาย ไม่อย่างนั้นอาจมีตำนานศูนย์หน้าแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ด เพิ่มอีกคน 🙂